การเคหะฯ เตรียมเปิดทางเอกชนร่วมลงทุน “เมืองประชารัฐ” 2 โปรเจ็กต์ยักษ์ เชียงใหม่-ร่มเกล้า วางกรอบพัฒนาทั้งที่อยู่อาศัย คอมมูนิตี้ มอลล์ โรงพยาบาล มูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท
นายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ(กคช.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการเคหะร่วมทุนและร่วมดำเนินกิจการ โดยการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนร่วมกับกคช. ว่า สำหรับโครงการร่วมลงทุน PPP(Public Private Partnership):เมืองประชารัฐ-Smart City ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าโครงการกว่า 1,000 ล้านบาท ในลักษณะของการให้สิทธิการเช่าที่ดินของกคช.เป็นเวลา 30 ปี และสามารถต่อสัญญาเพิ่มได้อีก 30 ปี โดยมี 5 ทำเลที่กคช.นำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ ได้แก่ ดินแดง ร่มเกล้า บางพลี เชียงใหม่ และลำลูกกา
สำหรับโครงการที่คาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรีและเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ ได้แก่ โครงการเชิงพาณิชย์ในโครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่ (หนองหอย) ซึ่งที่ปรึกษาได้มีการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการพัฒนาที่ดินบนเนื้อที่ 52 ไร่ จะพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนทั่วไป และสำหรับผู้สูงอายุ คอมมูนิตี้มอลล์ และโรงพยาบาล มูลค่าโครงการร่วม 5,000 ล้านบาท
ส่วนอีกโครงการคือ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพาณิชย์ร่มเกล้า ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการทำประชาสัมพันธ์เชิงการตลาด (Marketing Public Relations : MPR) ที่ดินดังกล่าวเหมาะสำหรับการพัฒนาเมืองที่อยู่อาศัย คอมมูนิตี้มอลล์ โดยมีการแบ่งที่ดินมาดำเนินการ 138 ไร่ จากทั้งหมด 700-800 ไร่ มูลค่าโครงการประมาณ 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ กคช.อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า การเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการในลักษณะของการเช่าที่ดินนั้นจะต้องดำเนินโครงการภายใต้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 หรือสามารถดำเนินการได้เองตามพ.ร.บ.ของการการเคหะแห่งชาติ ส่วนพื้นที่อื่นๆ อยู่ระหว่างการศึกษาคาดว้่าจะทยอยเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในปีต่อๆ ไป
ขณะที่ โครงการร่วมดำเนินการ:เคหะประชารัฐ-ภูมิภาค ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการขนาดเล็กที่มีมูลค่าโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ที่สามารถดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ โดยกคช.จะให้การสนับสนุนภาคเอกชนในส่วนภูมิภาคหรือกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีที่ดินและเงินทุน แต่ขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการโครงการ ด้วยการให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ปัจจุบันมีเอกชนในท้องถิ่นให้ความสนใจแล้วประมาณ 30 โครงการ
“เบื้องต้นจะเริ่มโครงการนำร่องก่อนจำนวน 20 โครงการที่อยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้
ในครึ่งปีหลัง โดยมีเป้าหมายต่อไปคือขยายโครงการให้ครบทุกจังหวัดๆ ละประมาณ 1,000 หน่วย รวมทั้งสิ้นประมาณ 70,000 หน่วยทั่วประเทศ ซึ่งศักยภาพของกคช.จะมีส่วนสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการในหลายด้าน เช่น การสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ซื้อ และสถาบันการเงิน ทำให้ได้ต้นทุนเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกลง เรื่องประชาสัมพันธ์ที่รวดเร็วและกว้างขวาง เป็นต้น "นายธัชพล กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60-ก.พ.61) ตัวเลขการขายค่อนข้างน่าพอใจ โดยสามารถขายได้ 8,000 หน่วย หรือคิดเป็น 60% ของเป้าขายทั้งปีที่ 13,000 หน่วย และสามารถทำกำไรได้ 500 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนเป้าหมายกำไรทั้งปีวางไว้ 2,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะทำได้เกินเป้า.
Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania