Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ก่อนสร้างรั้วกำแพงบ้าน ต้องรู้กฎหมายไว้

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ใครที่วางแผนว่าจะสร้างรั้วกำแพงบ้าน หรือต่อเติมรั้วกำแพงบ้านกันอยู่ให้เป็นไปตามสไตล์ที่เราออกแบบไว้ ใช่ว่าเราจะก่อสร้างทำได้อย่างง่ายๆ ทันทีนะครับ แต่เราจะต้องคำนึงถึงกฎหมายต่างๆ ด้วย เรามาศึกษากฎหมายรั้วบ้านเบื้องต้นกันดีกว่าครับว่า ถ้าจะสร้างกำแพงบ้านนั้นจะต้องรู้อะไร และสร้างอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย

1. ก่อนสร้างรั้วกำแพงบ้านต้องขออนุญาตก่อสร้างหรือเปล่า

ก่อนที่เราจะสร้างรั้วกำแพงบ้านนั้น ใช่ว่าเราจะก่อสร้างกันได้แบบง่ายๆ ยิ่งอยู่ในบ้านที่เป็นโครงการจัดสรรยิ่งต้องมีการขออนุญาตเลยครับ โดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร กำหนดให้ “อาคาร” หมายถึง “…ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ และหมายความรวมถึง รั้ว กำแพง หรือประตู ที่สร้างขึ้นติดต่อหรือใกล้เคียงกับที่สาธารณะ หรือสิ่งที่สร้างขึ้นให้บุคคลทั่วไปใช้สอย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นตามที่กฎกระทรวงกำหนด...” ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 กำหนดให้สิ่งก่อสร้างใดก็ตามที่มีความสูงตั้งแต่ 10 เมตร เข้าข่ายเป็น “อาคาร” ด้วย 

ตีความได้ว่าหากรั้วกำแพงบ้านที่ต้องการจะสร้างหรือต่อเติมนั้นมีพื้นที่ติดต่อหรือใกล้กับที่สาธารณะ ก็จะนับเป็น “อาคาร” รวมถึงรั้วกำแพงที่มีความสูงเกิน 10 เมตร แม้จะไม่ได้สร้างติดต่อหรือใกล้กับที่สาธารณะก็ตามก็จะนับเป็นอาคารเช่นเดียวกัน ดังนั้นจะต้องขออนุญาตก่อสร้างก่อนที่จะก่อสร้างรั้วกำแพงบ้านครับ เพราะเป็นรั้วกั้นระหว่างระหว่างเขตที่ดินเอกชนกับที่สาธารณะ

แต่หากเป็นรั้วกำแพงที่เป็นที่ดินของเอกชนติดกัน โดยไม่ได้ติดกับที่ดินสาธารณะ และมีความสูงไม่ถึง 10 เมตร ก็จะไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อสร้าง สามารถก่อสร้างรั้วกำแพงกันได้เลยครับ

กำแพงบ้าน

2. ต้องสร้างรั้วกำแพงบ้านตรงส่วนไหนของแนวเขต

หากจะสร้างกำแพงนั้น ถ้าเป็นรั้วที่ติดกับที่สาธารณะ จะต้องก่อสร้างรั้วกำแพงในพื้นที่ดินของเรา และจะก่อสร้างรั้วกำแพงบ้านไปในเขตของที่ดินสาธารณะไม่ได้เด็ดขาด แต่หากเป็นรั้วกำแพงบ้านที่สร้างติดกับที่เอกชนก็ควรที่จะสร้างในเขตของเรา แต่หากจะสร้างล้ำเขตของเราไปกินพื้นที่เขา แนะนำว่าควรจะตกลงกับเพื่อนบ้านก่อนครับว่าจะก่อสร้างล้ำเขตมาระหว่างกลางของเขตทั้งสองของเรากับเพื่อนบ้าน หากตกลงกันได้ก็ก่อสร้างครับ แต่หากตกลงไม่ได้แนะนำว่าไม่ควรก่อสร้าง เพราะอาจมีปัญหาตามมาในภายหลังได้

กำแพงบ้าน

3. กรรมสิทธิ์ในรั้วกำแพงเป็นของใคร หากสร้างติดกับที่ข้างๆ

สำหรับกรรมสิทธิ์ในรั้วกำแพงบ้านที่เราสร้างติดกับที่ข้างๆ จะเป็นของใครกันแน่ ต้องบอกว่าถ้าเราสร้างรั้วกำแพงบ้านในเขตพื้นที่ของเราก็นับเป็นกรรมสิทธิ์ของเราครับ แต่หากเป็นพื้นที่กึ่งกลางแนวเขตที่ดินของเรากับที่ดินของเพื่อนบ้าน อาจตกลงร่วมกันว่าจะเป็นสิทธิ์ของใคร อาจเป็นของเราเอง หรืออาจเป็นสิทธิ์ร่วมกัน ซึ่งอีกฝั่งกำแพงบ้านที่หันไปทางเพื่อนบ้าน อาจเป็นสิทธิ์ที่เพื่อนบ้านจะทาสีของเขาได้ แต่ต้องไม่กระทบกับของเรา อีกส่วนสำคัญที่ต้องตกลงกันก็คือเวลาซ่อมแซมใครจะเป็นคนจัดการ หรือซ่อมกันอย่างไร ค่าใช้จ่ายอย่างไรด้วยนะครับ ต้องตกลงให้เรียบร้อยก่อนก่อสร้าง เพื่อป้องกันการเปิดปัญหานะครับ

4. แนวรั้วและความสูงของรั้วด้านติดถนนสาธารณะจะต้องทำอย่างไร 

สำหรับใครที่จะก่อรั้วกำแพงบ้านติดกับที่ดินสาธารณะ ในกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2535) ข้อ 42, ข้อ 47 และใน ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ข้อ 50 ได้กำหนดไว้สรุปได้ว่า แนวของอาคารด้านที่ติดหรือใกล้กับทางสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นถนนสาธารณะ แหล่งน้ำสาธารณะ จะต้องมีระยะถอยร่นไม่สามารถสร้างให้ชิดแนวเขตทางสาธารณะได้ แต่ในกรณีของรั้วกำแพงบ้านที่สร้างระหว่างที่ดินเอกชนกับถนนสาธารณะ กฎหมายควบคุมอาคารมีการผ่อนผันให้ โดยรั้วกำแพงบ้านที่ติดกับพื้นที่สาธารณะจะก่อสร้างได้สูงไม่เกิน 3 เมตร เหนือระดับทางเท้าหรือถนนสาธารณะ หากความสูงไม่เป็นไปตามที่ผ่อนผันไว้ รั้วนั้นก็จะต้องมีระยะถอยร่นจากถนนสาธารณะ โดยกรุงเทพมหานคร กำหนดไว้ว่าหากถนนสาธารณะกว้างน้อยกว่า 6 เมตร ความสูงรั้วด้านที่ยอมให้สร้างชิดเขตถนนสาธารณะจะถูกจำกัดให้สูงได้ไม่เกิน 2 เมตรเท่านั้น 

5. รูปแบบของรั้วกำแพงบ้านต้องเป็นแบบไหน

ตามกกฎหมายแล้วไม่ได้มีการกำหนดไว้ว่ารั้วกำแพงจะต้องเป็นแบบไหน แบบโปร่งหรือแบบทึบ แต่กฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2535) ข้อ 5 ได้กำหนดว่า "รั้วหรือกำแพงกั้นเขตที่อยู่มุมถนนสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป และมีมุมหักน้อยว่า 135 องศา ต้องปาดมุมรั้วหรือกำแพงกั้นเขตนั้น โดยให้ส่วนที่ปาดมุมระยะไม่น้อยกว่า 4 เมตร และทำมุมกับเนวถนนสาธารณะเป็นมุมเท่า ๆ กัน” ครับ และสำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ หากที่ดินอยู่มุมถนนที่กว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไปแต่ไม่เกิน 8 เมตร ที่รั้วกำแพงบ้านจะต้องปาดมุม และต้องไม่มีส่วนใดของรั้ว กำแพง หรืออาคารยื่นล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนที่ปาดมุมด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อความความปลอดภัยและไม่ให้เกิดความเสียหายกับรถและรั้วเวลาเลี้ยวรถครับ

กำแพงบ้าน

เห็นไหมครับการก่อสร้างรั้วกำแพงบ้านไม่ว่าที่ของเราจะอยู่ติดกับเพื่อนบ้านปกติหรือที่ดินสาธารณะ ต่างก็มีข้อกำหมายกำหนดไว้ ฉะนั้นอย่าลืมศึกษากันให้ดีก่อนจะก่อสร้างหรือต่อเติมนะครับ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร