Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ถนนที่เดินผ่าน อาคารที่มองเห็น "บ้านใหม่"

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

จำได้ว่าตอนเป็นเด็กนักเรียน   เวลาพูดถึงบ้าน ครูมักจะพูดถึงเรือนไม้หรือบ้านตึก 

มีหลังคาจั่ว ผนังไม้ หรือกำแพงอิฐ   มีสนามหญ้ารอบบ้านพร้อมทั้งต้นหมากรากไม้ให้ร่มเงา 

จนทำให้ผมรู้สึกแปลกต่าง   แต่เมื่อบ้านที่ผมอยู่อาศัยเป็นตึกแถวที่พ่อแม่เปิดร้านขายของ   

จึงไม่มีต้นหญ้าและดอกไม้   รอบๆที่นอนยังมีสินค้ากองเต็มไปหมด   ครัวและห้องน้ำ

ล้วนมีขนาดเล็กมาก   จะมีจุดสีเขียวก็แค่กระถางต้นไม้ตรงระเบียงเท่านั้น   บ้านผมจึงสร้างความรู้สึกแปลกต่างไปจากคนอื่น

ยิ่งเวลาครูให้เขียนเรียงความเรื่อง บ้านของฉัน   ผมจำต้องใช้จินตนาการมากเป็นพิเศษ 

ต้องคิดและเขียนถึงบ้านในฝันที่แสนจะห่างไกลจากความเป็นจริง   จนเป็นที่มาของงานออกแบบบ้านและงานเขียนในปัจจุบัน  (ฮา)

อย่างไรก็ตาม เรื่องบ้านหรือตึกแถว ก็ไม่เคยเป็นปัญหาหรือเป็นปมด้อยแต่อย่างไร  เพราะผมมีเพื่อนที่อาศัยอยู่ในตลาดแบบเดียวกันอีกหลายคน   บางคนยังอยู่ในตึกแถว

ที่มีขนาดเล็กกว่าร้านผมเสียอีก   นั่นหมายความว่า เขาคงต้องใช้จินตนาการมากกว่าผม

ต่อมาแม่พาพวกเราไปอยู่บ้านใหม่   แม้ผมจะมีที่นอน ที่นั่งเล่นเพิ่มมากขึ้น   แต่สภาพ

ก็ยังไม่แตกต่างมากนัก   ด้วยบ้านใหม่อยู่บนถนนข่วงเมรุ ห่างจากทางแยกถนนช้างม่อย

ไม่ถึงสามสิบเมตร  และอยู่ฝั่งตรงข้ามกับตลาดวโรรส  สภาพแวดล้อมจึงเหมือนเดิมทุกประการ   บ้านใหม่ยังเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สูงสามชั้น รูปร่างหน้าตาก็เป็นแบบเดียวกับตึกแถวทั่วไป 

สิ่งที่ต่างออกไปคือหลังคาที่เป็นดาดฟ้าให้ขึ้นไปได้   ตั้งแต่นั้นมาผมเลยมีที่กินลมชมวิว

เห็นทัศนียภาพมุมสูงของเชียงใหม่

ด้วยทำเลอยู่ใกล้ตลาด  แม่เล่ากว่าพ่อซื้อที่ดินแปลงนี้ที่มีขนาดเล็กนิดเดียวในราคาแพงมากในเวลานั้น (พ.ศ. 2497)   คือหมื่นหกพันบาทสำหรับที่ดินไม่ถึงยี่สิบตารางวา  

แม่จึงให้ช่างเทศบาลออกแบบบ้านเต็มพื้นที่ ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีเทศบัญญัติกำหนดแนวถอยร่น

บ้านใหม่ของผมจึงไม่มีสนามหญ้าทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านเหมือนเดิม

 

ผมมารู้ภายหลังว่าช่างเทศบาลที่ออกแบบบ้านให้นั้น เป็นถึงสถาปนิกรุ่นพี่ชื่อ ทองหยด สุวรรณประทีป  (ที่จริงน่าจะเป็นรุ่นพ่อมากกว่า  ขนาดว่าลูกสาวท่านก็ยังเป็นนักเรียนสถาปัตย์รุ่นพี่ผม)  ท่านน่าจะเป็นสถาปนิกเทศบาลนครเชียงใหม่คนแรก ที่สร้างผลงานไว้มากมาย รวมทั้งบ้านใหม่ของผม

สิ่งที่แสดงให้เห็นความสามารถของสถาปนิกและแบบบ้านที่ทันสมัยนั้นมีหลายเรื่อง  ได้แก่ ดาดฟ้าคอนกรีต คานช่วงกว้างกว่าธรรมดาทำให้ไม่มีเสาอยู่กลางร้านค้า   จึงเอื้อต่อการ

ทำมาค้าขาย   มีการติดตั้งปั้มน้ำเพื่อสูบน้ำบาดาลขึ้นไปเก็บบนถังน้ำปูนบนดาดฟ้า   น้ำบ้านผมจึงไหลแรงและมีปริมาณพอเหมาะกับห้องน้ำขนาดใหญ่ที่มีมากถึงสามห้อง (บ้านใหม่ของผม

จึงคล้ายกับที่เขาชอบโฆษณาในนิตยสาร  บ้านสามชั้นสามห้องน้ำ (ฮา))

แต่ที่น่าจะล้ำสมัยมากในเวลานั้น คงจะเป็นช่องโล่งจากชั้นล่างไปจนถึงดาดฟ้า   ทำให้ภายในบ้านสว่าง ทั้งๆที่ผนังด้านข้างเป็นกำแพงทึบหมด (เพราะปลูกชิดเขตเลยมีหน้าต่างไม่ได้) 

อีกทั้งมีลมเย็นทั่วบ้าน  ซึ่งเรื่องนี้ผมมาเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยอีกหลายปีต่อมา  ว่าเป็นวิธีการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน  โดยวิธีระบายอากาศ

และรับแสงสว่างธรรมชาติ จึง ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือพลังงาน  ไม่อยากโอ้อวดว่า บ้านใหม่ของผมน่าจะเป็นบ้านประหยัดพลังงาน บ้านฉลากเขียว หรือบ้านอีโค หลังแรกของเชียงใหม่ (ฮา)

กลายเป็นว่า ผมได้เรียนรู้วิธีออกแบบบ้านประหยัดงานจากประสบการณ์จริง 

และก่อนกระแสการประหยัดพลังงานที่พูดถึงในปัจจุบัน   จึงไม่ค่อยตื่นเต้นเรื่องพลังงาน

เหมือนนักเรียนนอกทั่วไป และไม่อยากไปอบรมเป็นสถาปนิกหลีด LEED ในต่างประเทศ

เหมือนสถาปนิกคนอื่น (ฮา)

 

ผู้เขียน  :  ปริญญา  ตรีน้อยใส

นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต  จุลาสัย

เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996

เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร