Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ทอท.เวียงพิงค์เตรียมขยายสนามบิน-เพิ่มหลุมจอด หลังยอดนักท่องเที่ยวทะลุ 6 ล้าน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

จากข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่มีจำนวนมากถึงกว่า 17,000 คนต่อวัน จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่มาใช้บริการที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ตามกระแสภาพยนตร์เรื่อง “Lost in Thailand” ประกอบกับเมื่อปลายปีที่ผ่านมาหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนจังหวัดเชียงใหม่ และกล่าวชื่นชมความเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม ผู้คนมีอัธยาศัยดี ทำให้ประชาชนจีนเห็นภาพความงดงามของเมืองเชียงใหม่และเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อแนวโน้มของตัวเลขผู้โดยสารที่เข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่สูงขึ้น ท่าอากาศยานเชียงใหม่จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการให้บริการเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านอื่นๆ ของจังหวัด ทั้งระบบสาธารณูปโภค, การคมนาคมขนส่งรวมถึงด้านที่พักอาศัยที่จะต้องพัฒนาไปพร้อมกัน HBG ฉบับนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับนาวาอากาศโท หลักชัย เฉลยปราชญ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ถึงขีดความสามารถและแนวทางการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ

จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ปี 2557 และแนวโน้มปี 2558

ในปีงบประมาณ 2556 มีจำนวนผู้โดยสารที่ผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ 5.4 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 (ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2557) มีจำนวน 6.1 ล้านคนคาดว่าในปี 2557 จะเพิ่มขึ้นเป็น 6.2 ล้านคน เนื่องจากมีสายการบินต้นทุนต่ำเปิดตัวเข้ามาในธุรกิจการบิน ทำให้ผู้คนหันมาโดยสารทางอากาศมากขึ้น อีกทั้งยังมีการเพิ่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนแนวโน้มปี 2558 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นจากปี 2557 อีกร้อยละ 10 หรือกว่า 7 ล้านคนต่อปี

กลุ่มผู้โดยสารส่วนใหญ่ที่เข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่จะเป็นกลุ่มเอเชียจากจีน, มาเลเซีย, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น ตามลำดับ นอกจากนี้ชาวญี่ปุ่นถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เข้ามาพักอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่มากเช่นกัน มีทั้งเพื่อท่องเที่ยว, ลงทุนธุรกิจประเภทอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน หรือใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบพำนักระยะยาว (Long Stay) เพราะเชียงใหม่มีความพร้อมในหลายด้าน อาทิ สถานบริการด้านสุขภาพ, ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ใกล้เคียงญี่ปุ่น, ค่าครองชีพไม่สูงมาก ทำให้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ท่าอากาศยานเชียงใหม่

ปริมาณผู้โดยสารและแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ในอนาคตเป็นอย่างไร

ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีพื้นที่กว่า 1,600 ไร่ ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของท่าอากาศยานภูมิภาคทั้งหมด ปัจจุบันมีระบบทางวิ่งขนาด 3,400x45 เมตร รองรับอากาศยานได้ 19 เที่ยวบินต่อชั่วโมง, มีทางขับทั้งหมด 8 เส้นทาง, มีลานจอดอากาศยาน 19 หลุมจอด แบ่งเป็น 6 หลุมจอดแบบประชิดอาคาร และ 13 หลุมจอดระยะไกล

ปัจจุบันมีจำนวนเที่ยวบิน 120-140 เที่ยวต่อวันกว่าร้อยละ 75 เป็นเที่ยวบินภายในประเทศอีกร้อยละ 25 เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ มีสายการบินภายในประเทศ 18 สายการบิน และอีก 7 สายการบินระหว่างประเทศด้านอาคารผู้โดยสารปัจจุบันมีพื้นที่ภายในรวม 35,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศ สามารถรองรับผู้โดยสาร 24,000 คนต่อวัน หรือ 8 ล้านคนต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สามารถรองรับได้

สำหรับแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่นั้นในปีงบประมาณ 2557 ท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศชั้นที่ 2 จากพื้นที่ห้อง VIP เป็นห้องผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ, อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศชั้นที่ 1 ปรับปรุงพื้นที่ตรวจคนเข้าเมืองพร้อมติดตั้งจุดตรวจหนังสือเดินทางขาเข้าจำนวน 4 จุด และเพิ่มพื้นที่สำหรับกรอกเอกสาร ตม.6 สำหรับผู้โดยสารขาเข้าบริเวณอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศชั้นที่ 2

อีกทั้งมีการปรับปรุงระบบไฟสนามบิน, ห้องน้ำ, การตกแต่งพื้นที่ภายนอกและภายในอาคารให้สวยงามขยายลานจอดอากาศยานเพิ่มอีก 1หลุมจอดบริเวณโรงเก็บอากาศยานของสถานกงสุลอเมริกาที่ไม่ใช้แล้ว จึงได้ปรับปรุงพื้นที่เป็นหลุมจอดอากาศยานระหว่างประเทศแทน โดยดำเนินการก่อสร้างเมื่อกันยายนที่ผ่านมา (งบประมาณผูกพัน 2557-2558) ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 300 วันนับจากวันที่เซ็นสัญญา

นอกจากนี้มีแผนจะเพิ่มพื้นที่จอดเป็น 3 ชั้น ในปี 2559 เนื่องจากปัจจุบันสามารถรองรับได้เพียง 900 คันต่อวันอาจไม่เพียงพอในอนาคต และมีแผนก่อสร้างถนนยกระดับจากสี่แยกแอร์พอร์ตเชื่อมเข้ามายังอาคารผู้โดยสาร ลักษณะคล้ายสนามบินดอนเมือง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับส่งผู้โดยสาร ทั้งนี้อาจต้องหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ด้านแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ปีงบประมาณ 2558-2559 งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท โดยเพิ่มจุดตรวจรักษาความปลอดภัยของอาคาร 1 จุดต่อ 1 ทางเข้า (จาก 2 จุดเป็น 4 จุด), ติดตั้งแผงแบ่งแยกผู้โดยสารขาเข้าและขาออกเที่ยวบินระหว่างประเทศป้องกันการสัญจรที่สับสน, ย้ายจุดตรวจรักษาความปลอดภัยและกระเป๋าถือออกจากโถงผู้โดยสารภายในประเทศเพื่อเพิ่มจำนวนที่นั่ง, สลับตำแหน่งของจุดตรวจรักษาความปลอดภัยไปอยู่ด้านหลังจุดตรวจหนังสือเดินทาง เพื่อเพิ่มพื้นที่เข้าคิวและจัดให้มีพื้นที่สำหรับผู้โดยสารกรอกแบบฟอร์มเข้าเมือง เพื่อไม่ให้ไปปะปนกับคิวของผู้โดยสารอื่น

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ยังให้ความสำคัญในเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย โดยกรมการบินพลเรือนหน่วยงานกลางจะเข้าตรวจสอบมาตรฐานสนามบินในแต่ละปี มีการตรวจสอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยตั้งแต่การดับเพลิง, หอบังคับการบิน, กายภาพสนามบิน, สิ่งอำนวยความสะดวกสนามบิน, ตลอดจนการตรวจเช็คสัมภาระใต้ท้องเครื่องหรือบนเครื่อง ซึ่งการปรับระดับการรักษาความปลอดภัยจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบ้านเมือง โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติและเจ้าหน้าที่จากสำนักข่าวกรองเข้ามาช่วยสอดส่องดูแลด้วย

ท่าอากาศยานเชียงใหม่

ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่และแนวทางแก้ไข

ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่เปิดให้บริการตั้งแต่ 06.00-24.00 น. ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรมการบินพลเรือน มีการร้องขอจากหลายสายการบินให้ขยายเวลาการบริการเป็น 24 ชั่วโมงเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร เบื้องต้นได้ดำเนินการขออนุญาตกรมการบินพลเรือนเพื่อขยายเวลาให้บริการ และทดลองให้บริการบินหลังเที่ยงคืนเฉพาะเครื่องเช่าเหมาลำบางช่วงเวลา ในอนาคตหากเปิดบริการ 24 ชั่วโมงท่าอากาศยานเชียงใหม่จะต้องเตรียมการรองรับหลายส่วนตั้งแต่ตรวจคนเข้าเมือง, ศุลกากร, ร้านค้า, ระบบรักษาความปลอดภัยที่พร้อมให้บริการ 24 ชั่วโมงด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งในการทำประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะชุมชนรอบข้างสนามบินที่อาจได้รับผลกระทบทั้งด้านเสียงและการชำรุดของบ้านเรือน โดยประสานกับผู้นำชุมชนพร้อมลงสำรวจ นำคณะแพทย์พยาบาลในการตรวจเช็คและรักษาสุขภาพ รวมถึงให้เงินเยียวยาบางรายที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชนถึงแนวทางการพัฒนาด้านต่างๆ ไปพร้อมกัน

การพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่มีผลต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่อย่างไร

บ้านเมืองที่มีความเจริญย่อมมาพร้อมกับการคมนาคมขนส่งที่สะดวกสบาย เมื่อสนามบินเกิดขึ้นและสามารถรองรับจำนวนคนเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่มากขึ้น ระบบสาธารณูปโภคและระบบขนส่งสาธารณะก็เกิดขึ้นตามมา มีการตัดถนนหนทางเพื่อเชื่อมการเดินทางที่สะดวก พื้นที่ใดที่มีการตัดถนนผ่านพื้นที่นั้นก็เริ่มมีมูลค่า มีการจัดสรรที่ดินทำกินและพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย เมื่อเกิดความเจริญในพื้นที่นั้นความต้องการด้านที่อยู่อาศัยและการลงทุนจึงเกิดขึ้นตามมา ยิ่งไปกว่านั้นหากสนามบินมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารและสายการบินมากเท่าไหร่  ยิ่งสามารถดึงดูดให้กลุ่มคนจากต่างถิ่นเข้ามาท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย หรือเข้ามาพักอาศัยในจังหวัดเชียงใหม่มากขึ้นเท่านั้น

การพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ถือว่าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีคนต่างจังหวัดรวมถึงคนต่างชาติที่ชื่นชอบและอยากมาใช้ชีวิตหลังเกษียณที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีความพร้อมในหลายๆด้าน ทั้งด้านสภาพอากาศ, อาหารการกิน, การค้าการลงทุน, การศึกษา และสุขภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่จังหวัดเชียงใหม่จะเป็นพื้นที่เป้าหมายของการลงทุนและการอยู่อาศัย ฉะนั้นการพัฒนาทั้งท่าอากาศยานระบบคมนาคมและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นสิ่งที่เอื้อต่อกัน และมีผลต่อการพัฒนาซึ่งกันและกัน

ส่วนการขยายสนามบินแห่งใหม่จะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล จากที่เคยมีกระแสว่าจะมีการก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 บริเวณอำเภอสันกำแพง ทำให้ที่ดินในบริเวณนั้นเกิดการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่อาจต้องรอดูว่านโยบายที่เคยส่งเสริมนี้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด โดยส่วนตัวเห็นว่าศักยภาพในการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารของท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งนี้ยังสามารถรองรับได้อยู่ และหากสามารถเปิดบริการได้ 24 ชั่วโมง ก็จะยิ่งเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถที่มีอยู่ได้มากขึ้น

การพัฒนาขีดความสามารถท่าอากาศยานเชียงใหม่ หากดำเนินได้ตามแผนที่วางไว้เชื่อว่าจะสามารถรองรับความต้องการผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยในจังหวัดเชียงใหม่มากขึ้นทั้งระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งยังเอื้อต่อการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดในด้านการเชื่อมกลุ่มคนจากทั่วสารทิศให้สามารถเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ได้โดยง่าย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เองจะเป็นดีมานด์ที่สำคัญของการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยของจังหวัดในอนาคต...

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร