กรมธนารักษ์ ชี้แจงกรณีต่อสัญญาให้ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเมนท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ เป็นผู้พัฒนาโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ใหม่วงเงิน 6 พันลบ. ชี้เป็นไปตามสัญญาเดิม พร้อมเตรียมพัฒนาที่ดินของสถานีขนส่งหมอชิต ร่วมกับบริษัท บางกอก เทอร์มินัล เป็นแบบการก่อสร้างศูนย์การค้า - อาคารพาณิชย์ และคอนโดฯ มีมูลค่าการลงทุนราว 20,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 63 ไร่
นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงมติครม.เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ที่ให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี แมนเนจเมนท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ NCC ได้รับสิทธิ์พัฒนาโครงการศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า การให้สิทธิ์ NCC ในการพัฒนาเป็นไปตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ให้มีการแก้ไขสัญญาใหม่ได้ โดยสาเหตุที่ไม่ยกเลิกสัญญาเพราะคณะกรรมการกฤษฎีกายังตีความว่าการยกเลิกสัญญานั้น ทางเอกชนจะต้องเป็นการทำผิดสัญญาเอง แต่ในครั้งนี้เป็นเหตุสุดวิสัย เพราะถูกจำกัดทางข้อกฎหมาย
ทั้งนี้ ในสัญญาเดิมไม่ได้มีการกำหนดสิทธิ์บอกยกเลิกสัญญาจากเหตุพ้นวิสัย จึงได้มีการแก้ไขสัญญา โดยให้ปรับปรุงดัดแปลงอาคารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เดิมบนพื้นที่ก่อสร้างไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางเมตร มีมูลค่าการปรับปรุงอาคารไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท จากสัญญาเดิม 2,732 ล้านบาท มีระยะเวลาการเช่า 50 ปี นับจากวันลงนามในสัญญา จากเดิมในระยะที่ 3 ช่วงที่แรก 4 ปี และช่วงที่ 2 เป็นเวลา 25 ปี ซึ่งตลอดอายุสัญญา 50 ปี กรมจะได้รับผลตอบแทน(FV) 18,900 ล้านบาท เป็นผลตอบแทนมูลค่าปัจจุบัน(PV) 5,100 ล้านบาท
"เดิม เอ็นซีซี ต้องดำเนินการระยะที่ 2 คือ สร้างเป็นโรงแรมช่วงปี 2534-3535 แต่ติดเรื่องผังเมือง กทม.ประกาศหลังจากเอกชนลงนามกับกรมธนารักษ์ไปแล้ว ทำให้เอกชนไม่สามารถลงทุนต่อไปได้ เพราะจากการปรับเปลี่ยนผังเมืองในบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียว ทำให้สร้างอาคารได้ไม่เกิน 23 เมตร เป็นปัญหาค้างมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้สำหรับการแก้ไขสัญญาเป็นไปตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับฯ ตามประกาศคณะกรรมการพีพีพี สำหรับโครงการที่มีมูลค่าลงทุนเกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยได้มีการจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาคำนวณผลตอบแทนการลงทุนใหม่ทั้งหมด และระยะเวลา เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากว่าสัญญาเดิมที่ติดปัญหาผังเมือง ซึ่งกรมได้ดำเนินการเสนอร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการพิจารณาและได้ปรับตามความเห็น จากนั้นจึงได้เสนอให้ครม.อนุมัติในช่วงที่ผ่านมา"นายจักรกฤศฎิ์ กล่าว
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาของที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตกับบริษัท บางกอก เทอร์มินัล ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่จอดรถ และไม่สามารถเก็บค่าเช่าได้ เนื่องจากติดปัญหาสัญญาในรูปแบบเดิม โดยขณะนี้ได้สรุปรูปแบบการก่อสร้างและปรับสัญญาร่วมทุนแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบเงื่อนไขสัญญาของสำนักงานอัยการสูงสุด ก่อนจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ซึ่งโครงการภายใต้สัญญาใหม่นี้จะมีมูลค่าการลงทุนราว 20,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 63 ไร่
สำหรับรูปแบบโครงการดังกล่าว จะให้รองรับความต้องการของทุกหน่วยงานที่ต้องการเข้ามาใช้พื้นที่ รวมทั้งจะเตรียมพื้นที่บางส่วนสำหรับการเชื่อมโยงโครงข่ายขนส่งมวลชนประเภทอื่นไว้ด้วย ซึ่งโครงการพัฒนาหมอชิตบนที่ราชพัสดุจะมีรูปแบบทั้งอาคารที่เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อาคารพาณิชย์ให้เช่า และคอนโดมีเนียมสำหรับอยู่อาศัย ทั้งนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างสรุปตัวเลขผลตอบแทน เบื่องต้นจะได้รับค่าฐานราก 1.2 พันล้านบาท และค่าธรรมเนียมรวมถึงค่าเช่าตลอดอายุสัญญา 500 ล้านบาท
ที่มา : acnews