บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หน่วยงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมไปถึงธุรกิจขนาดเล็ก (Micro SMEs) ที่ขาดโอกาสในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาจนเติบโต ช่วยให้เศรษฐกิจในระดับมหภาคเกิดความเข้มแข็ง HBG ฉบับนี้มีโอกาสพูดคุยกับคุณดำริ ขวัญสุวรรณ ผู้จัดการอาวุโส บสย.สาขาเชียงใหม่ ถึงบทบาทในการให้การค้ำประกันสินเชื่อ และแผนงานของ บสย.ในอนาคต
ภารกิจของ บสย.คืออะไร
บสย.เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ.2534 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2534 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ช่วยให้การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs บรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
บสย.มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมี 9 สำนักงานสาขาทั่วประเทศ โดย บสย.สำนักงานสาขาเชียงใหม่มีหน้าที่ดูแลครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, เชียงราย, แพร่, น่าน, พะเยา และแม่ฮ่องสอน มีกลุ่มลูกค้าที่เข้ารับบริการ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2556 ในส่วน 8 จังหวัดภาคเหนือจำนวน 5,533 ราย มูลค่าการอนุมัติการค้ำประกัน 15,102 ล้านบาท สำหรับจังหวัดเชียงใหม่มีลูกค้าจำนวน 2,084 ราย มูลค่าการอนุมัติการค้ำประกัน 5,616 ล้านบาท
โดยร้อยละ 37 เป็นลูกค้าในจังหวัดเชียงใหม่, ร้อยละ 20 เป็นลูกค้าในจังหวัดเชียงราย, ร้อยละ 13 เป็นลูกค้าในจังหวัดลำพูน, ร้อยละ 9 เป็นลูกค้าในจังหวัดลำปาง, ร้อยละ 8 เป็นลูกค้าในจังหวัดแพร่, ร้อยละ 7 เป็นลูกค้าในจังหวัดน่าน, ร้อยละ 5 เป็นลูกค้าในจังหวัดพะเยา และร้อยละ 1 เป็นลูกค้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ผลิตภัณฑ์หรือโครงการของ บสย.มีอะไรบ้าง
บสย.ให้การสนับสนุนการค้ำประกันด้วยผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อประเภทต่างๆ สำหรับโครงการค้ำประกันในปี 2556 ได้แก่
ผลการดำเนินงานของ บสย.สาขาเชียงใหม่และแนวโน้มการขอค้ำประกันเป็นอย่างไรบ้าง
ผลการดำเนินงานของ บสย.สาขาเชียงใหม่ ปี 2555 ได้มีการให้การค้ำประกันสินเชื่อในพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,698 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกัน 5,036.30 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อไปแล้วรวมกว่า 25,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการค้ำประกันแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 641 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 1,989.43 ล้านบาท
ทั้งนี้การดำเนินงานค้ำประกันจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2555 มีภาระการค้ำประกันสินเชื่อสะสมรวมทั้งสิ้น 3,932 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกันสะสม 10,025.90 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 2556 ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2556 ภาระค้ำประกันสะสมรวม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 5,533 ราย วงเงินค้ำประกันสะสม 15,102.29 ล้านบาท เป็นภาระค้ำประกันสะสมเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ 2,084 ราย วงเงินค้ำประกันสะสม 5,616.23 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มการดำเนินงานของปี 2556 คาดว่าจะให้วงเงินค้ำประกันรวมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 20 หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท ด้วยปัจจัยการขยายตัวด้านธุรกิจท่องเที่ยว ด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และระบบสาธารณูปโภค ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีการขยายตัวตามไปด้วย
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
แนวโน้มการขอค้ำประกันกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างไร
ในอดีต บสย.ไม่ค้ำประกันสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากข้อจำกัดในด้านนโยบายการให้สินเชื่อกลุ่มธุรกิจดังกล่าว แต่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้จะเห็นได้ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการเติบโตขึ้น สังเกตได้จากการลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งห้างสรรพสินค้า, บ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม จึงทำให้เกิดกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องตามขึ้นมา
ปัจจุบัน บสย.ให้การค้ำประกันกับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น บริษัทรับเหมาก่อสร้าง, ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง โดยมีมูลค่าการค้ำประกันสินเชื่อ ณ เดือนสิงหาคม 2556 มีมากกว่า 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 20 อีกทั้งการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็เริ่มเปิดกว้างขึ้น บสย.เห็นถึงแนวโน้มที่ดีในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงเปิดโอกาสให้การค้ำประกันให้ผู้ประกอบการรายย่อยในกลุ่มธุรกิจนี้ด้วยเช่นกัน
ส่วนการขอค้ำประกันสินเชื่อในแต่ละจังหวัดมียอดการค้ำประกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-10 ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาอาจไม่มีกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เข้ามาขอค้ำประกันการลงทุนด้านสิ่งปลูกสร้างทั้งแนวราบและแนวสูงอย่างเป็นรูปธรรม แต่ บสย.ก็เปิดโอกาสให้กับกลุ่มธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนทุกธุรกิจที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีได้เข้ามาขอรับการค้ำประกันได้
โดยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ที่ บสย.ให้การค้ำประกันนั้น จะต้องเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลสัญชาติไทย ดำเนินกิจการในประเทศไทย มีทรัพย์สินถาวรของกิจการ ณ วันขอค้ำประกันไม่เกิน 200 ล้านบาท (ไม่นับรวมที่ดิน), เป็น SMEs ที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และ SMEs ที่ขอสินเชื่อใหม่หรือสินเชื่อเพิ่ม เพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจหรือขยายงาน, ให้การค้ำประกันประเภทสินเชื่อที่นำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D), ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N), วงเงินหนังสือค้ำประกัน (L/I) เป็นต้น และวงเงินค้ำประกันสูงสุดต่อรายต้องไม่เกิน 40 ล้านบาท
ข้อจำกัดและแผนการดำเนินงานรองรับการให้บริการของ บสย.มีอะไรบ้าง
เนื่องจากจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีข้อจำกัดในการให้บริการอาจไม่ทั่วถึง เพราะจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ สำหรับ บสย.สำนักงานสาขาเชียงใหม่ที่ดูแล 8 จังหวัดภาคเหนืออาจทำให้กลุ่มลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดหรือห่างไกลมีความลำบากที่จะเข้ามาติดต่อได้ แม้จะใช้การสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์หรือสื่ออื่นๆ ก็อาจทำให้การส่งผ่านข้อมูลได้ไม่เต็มที่ (น่าจะใช้คำว่า “ไม่ครบถ้วน”) ในอนาคตมีแผนที่จะเพิ่มสาขาและเพิ่มกำลังบุคคลากรในการลงพื้นที่ให้มากขึ้น อาจต้องพิจารณาตามนโยบายและแผนอีกครั้ง
ทั้งนี้ บสย.มีแผนพัฒนาภาพลักษณ์และการดำเนินงานเพื่อรองรับการให้บริการลูกค้ามากขึ้น ในส่วนของภาพลักษณ์มีแผนปรับปรุงสำนักงานสาขาที่ให้บริการให้ดูเป็นระเบียบและเป็นสัดส่วนมากขึ้น มีส่วนรับรองลูกค้า, ส่วนคลินิกให้คำปรึกษา และส่วนในด้านแผนการดำเนินงานเน้นการเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการในระดับรากหญ้าให้มากที่สุด โดยผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นเองและร่วมกับกลุ่มพันธมิตร ได้แก่
การพัฒนาด้านเศรษฐกิจอาจต้องพัฒนาไปตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงมหภาค เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและมีศักยภาพทั้งส่วนของผู้ประกอบการเอง หรือส่วนของกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนธุรกิจ แม้ปัจจุบันสถานบันทางการเงินหลายแห่งเปิดกว้างในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการทุกระดับ แต่ผู้ประกอบการเองก็ไม่ควรละเลยที่จะศึกษาอย่างเข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจใช้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน หรือผู้ค้ำประกันในอนาคตได้