การพัฒนาเมืองไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้กำลังเป็นที่ตื่นตัว ทำให้หลายหน่วยงาน หลายสถาบันเข้ามาเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันในการปลุกปั้นย่าน และเมืองต่างๆ ให้เป็นเมืองที่เติบโตอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน โดยใช้งานวิจัยต่างๆ เข้ามาช่วยเป็นแนวทางในการทำงาน ล่าสุดมีทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยต่างเข้ามาให้ความสนใจกับเรื่องนี้
ปั้น 7 เทศบาลสู่ Smart City
รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย Smart City Research Center (SCRC) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า ได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กับ 7 เทศบาลในการดำเนินการพัฒนาระบบ Smart City เพื่อตอบโจทย์การพัฒนา Thailand 4.0 ในการยกระดับคุณภาพชีวิต และบริการสาธารณะของเมือง โดยก่อนหน้านี้ได้ร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้าทำการวิจัยและวางแผนการพัฒนา Smart City สำหรับพื้นที่ใน 7 เทศบาลเมืองเป้าหมาย โดยได้บรรลุผลในการวางแผน และมีการนำมาพัฒนาและให้บริการในช่วงนำร่องแล้วบางส่วน ประกอบไปด้วย
1. นนทบุรี : Smart Public Services จะบูรณาการระบบและข้อมูลในการให้บริการของเทศกาลเพื่อเพื่มประสิทธิภาพ ลดขั้นตอน และ เพิ่มช่องทางในการติดต่อประสานงานกับเทศบาล นอกจากนี้จะพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลจากทุกระบบเพื่อเสนอนโยบายบริหารเมือง ระบบที่จะ implement คือระบบ CityOS platform ที่พัฒนาขึ้นโดย SCRC
2. หาดใหญ่ : Smart Green City มีการดำเนินการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดสภาพสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ในพื้นที่ และจัดเก็บข้อมูลเพื่อบริหารด้านสิ่งแวดล้อม ปรับใช้ระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อระวังภัยและป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่
3. ภูเก็ต : Smart International Destination สร้างระบบในการให้ข้อมูลด้านการพักอาศัย การจัดตั้งธุรกิจ และ การรับบริการ โดยจะบูรณาการข้อมูลจากระบบดั้งเดิมที่มีอยู่ในรูปแบบ GIS และ เพิ่มกรอบการวิเคราะห์แผนและการให้บริการผ่านข้อมูลเชิงพื้นที่ สร้างฐานข้อมูลด้านอาการและสถานที่ท่องเที่ยวในเขตเทศบาล
4. ยะลา : Smart Security and Survilliance เน้นในการเพิ่มระบบ Artificial Intelligence (AI) กับระบบกล้องและระบบรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ต่างๆ เช่น ระบบ Cityeye เพื่อตรวจจับความผิดปกติของพื้นที่ หรือ ยาพาหนะ ระบบ RFID เพื่อบ่งชี้ตัวตนและยานพาหนะในพื้นที่
5. อุดร : Data Driven City เทศบาลจะพัฒนาการบริการและบริหารงานโดยเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบต่างๆในปัจจุบัน ประกอบไปด้วยระบบบริหารสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ ระบบฐานข้อมูลด้านสาธารณสุข ระบบข้อมูลประชากรศาสตร์ และ ระบบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับใช้ Data Mining ในการสร้างแผนและนโยบาย ประกอบกับยกระดับระบบการให้บริการของเทศบาลผ่านช่องทาง digital
6. ร้อยเอ็ด : Smart Compact City เน้นการเสริมสร้างความน่าอยู่ในพื้นที่โดยการเพิ่มช่องทางในการสื่อสารข้อมูล/รับเรื่องร้องเรียนผ่าน Smart 101 App และ เชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ จัดตั้ง Smart City Office เพื่อผลักดันการให้บริการผ่านช่องทาง digital และ ปรับปรุงสภาพเมืองโดยการยกระดับสาธารณูปโภคต่างๆ
7. ลำพูน: Smart Tourism เน้นการสร้างความเชื่อมโยงกับกลุ่มจังหวัด (เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง) เพื่อสร้างโอกาสในด้านการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ ปรับใช้ digital tourism platform เพื่อให้ข้อมูล และ เป็นช่องทางด้านธุรกิจของผู้ประกอบการในพื้นที่ ระบบจะเสนอ package ในการท่องเที่ยวกับเมืองหลัก และจัดสรรการอำนวยความสะดวกต่างๆผ่าน application ในพื้นที่เมืองจะมีการให้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยงผ่าน Augmented Reality (AR)
“ทาง SCRC จะนำเทคโนโลยีจัดการเมืองอัจฉริยะในด้านต่างๆที่เป็นผลลัพธ์จากการวิจัยภายใต้กรอบวิจัย Innovation Hubs ของ ทปอ.มาปรับใช้กับเมืองต้นแบบ 7 แห่ง ส่วนขั้นตอนต่อไปคือการเสนอของบประมาณในปี 2563-2567 ไปดำเนินการตามแผนแม่บทของแต่ละเมือง และดำเนินการ implement ตามแผน นอกจากนั้นแล้วยังสามารถทำระบบรวบรวมข้อมูลกลางในระดับภาค และกระทรวงเพื่อใช้ข้อมูลในการติดตามและวางแผนการพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ ได้อีกด้วย”
นำร่อง6 จ.มุ่งสู่ Smart Growth
ขณะที่ศาสตราจารย์ น.พ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 1 โครงการออกแบบย่านที่ชาญฉลาดเพื่อการยกระดับทางเศรษฐกิจ เรื่อง “แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทพัฒนาเมือง : New Platform ของไทย” ว่า สกว.ได้นำบทวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจริงๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองและย่านเศรษฐกิจแต่ละพื้นเพื่อเพิ่มความสามารถทางเศรษฐกิจ และการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
สำหรับเป้าหมายสำคัญของการออกแบบย่านตามตามเกณฑ์ Smart Growth & LEED- ND ซึ่งนับเป็นรูปแบบการพัฒนาใหม่ (new platform) นั้น ประกอบด้วย ความพยายามในการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนร่วมมือกันนำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ระยะยาวตามเกณฑ์ 10 ข้อของ Smart Growth มุ่งหวังสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการสงวนรักษาสภาพแวดล้อม
นอกจากนี้ยังเป็นการกระจายความเท่าเทียมของการพัฒนาให้ตกอยู่กับคนทุกคน เช่นเดียวกับการมุ่งสู่การสร้างย่านแห่งการเดิน (Walkable Neighborhood) ซึ่งเป็นย่านที่มีระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ได้จากการจัดระบบการสัญจรสีเขียว (Green Mobility) และรูปแบบของธุรกิจสีเขียว (Green Business) โดยรูปแบบย่านแห่งการเดินจะเป็น new platform ที่แตกต่างจาก old platform ซึ่งเน้นรูปแบบย่านที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลซึ่งใช้พลังงานมากและทำลายสภาพแวดล้อม
ขณะเดียวกันยังได้ให้ความสำคัญต่อการมุ่งไปสู่รูปแบบการวางผังและการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูเมืองที่สร้างเศรษฐกิจ สร้างกิจการใหม่ และการขยายการจ้างงาน ด้วยการเพิ่มความเข้มข้นของการใช้ที่ดินในพื้นที่ใจกลางศูนย์เศรษฐกิจ การขยายตัวของอาคารในแนวตั้ง ซึ่งไม่รบกวนทัศนียภาพย่านที่ต้องสงวนรักษา การอนุญาตให้มีกิจกรรมเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย
สำหรับในปี 2561 จะคัดเลือกมาก่อนจำนวน 6 หัวเมืองหลัก คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น สระบุรี ระยอง สุโขทัย และภูเก็ต ที่จะนำย่านเศรษฐกิจมานำเสนอในการเป็นต้นแบบให้กับเมืองอื่นๆ โดยใช้งบจำนวน 10 ล้านบาทไปดำเนินการศึกษาวิจัย ให้เกิดการบูรณาการแนวความคิดร่วมกับกับคนในท้องถิ่น หลังจากนั้นจึงคิดค้นผลงานวิจัยออกมาเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง รวมทั้งเรื่องระเบียบกฏหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้ได้รูปแบบ หรือ Platform ในการพัฒนาเมืองที่สามารถใช้เป็นแบบอย่างนำไปพัฒนาต่อยอดได้
สำหรับแนวคิด ของ 6 เมืองใหญ่ในภูมิภาคกับการพัฒนาตาม New Platform Multimodal Transportation Center & TOD for Economic Revitalization ได้แก่ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด จะนำเสนอการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่รอบสถานีรถไฟแก่งคอยเพื่อกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ บริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด นำเสนอการพัฒนาศูนย์กลางคมนาคม และระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงกับวนามบินอู่ตะเภา เพื่อรองรับ แผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)
บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด กับแนวคิดการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจใหม่ เพื่อการค้าปลีกและการท่องเที่ยว โดยนำพื้นที่ 2 ย่านไปพัฒนาคือย่านเมืองเก่า และย่านวงเวียนม้าน้ำซึ่งรวมแล้วขนาดพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ มาพัฒนาเป็นศูนย์เศรษฐกิจแนวราบให้เกิดการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด นำเสนอแนวคิดการปรับปรุงฟื้นฟูย่านเศรษฐกิจดั้งเดิม ด้วยการพัฒนาศูนย์ขนส่งและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี
บริษัท เชียงใหม่พัฒนาเมือง จำกัด เสนอแนวคิดการปรับปรุงฟื้นฟูย่านนิมมานเหมินทร์เป็นศูนย์เศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยวของภาคเหนือ และบริษัท สุโขทัยพัฒนาเมือง จำกัด กับแนวคิดการปรับปรุงฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจใจกลางเมืองและการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เพื่อเชื่อมโยงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อการท่องเที่ยวมรดกโลก
ด้านนายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษ การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า รถไฟสายสีแดงเป็นตัวชูธงของร.ฟ.ท. โดยเฉพาะย่านบางซื่อที่มีพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ จะเปลี่ยนไปมาก นอกจากนั้นรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกทม.-นครราชสีมา ซึ่งเน้นการใช้พื้นที่ของร.ฟ.ท.ให้มากที่สุด โดยได้ขยับสถานีออกไปจากสถานีเดิมไปอีกราว 2 กิโลเมตรใกล้ศูนย์ราชการมากขึ้น เช่นเดียวกับสถานีปากช่องแห่งใหม่ห่างจากสถานีของรถไฟทางคู่ราว 200 เมตรเช่นเดียวกับสถานีนครราชสีมาราว 200 ไร่เป็นพื้นที่ของร.ฟ.ท.เป็นศูนย์ซ่อมบำรุง ดังนั้นหากจะพัฒนาเชิงพาณิชย์ก็ควรย้ายไปอยู่ที่ใหม่แล้วเอาที่ดินเดิมไปพัฒนาเชิงพาณิชย์
แต่ละย่าน แต่ละเมือง แต่ละจังหวัด จะแปลงโฉมสู่ smart city อย่าง Smart Growth ได้มากน้อยแค่ไหน ต้องคอยติดตาม