การซื้อบ้านหรือซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานและเป็นที่ต้องการของทุกคน แต่ในความเป็นจริงสินค้าที่อยู่อาศัยมีมูลค่าสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ จึงทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสซื้อหาเพียงครั้งหรือสองครั้งในชั่วชีวิตหนึ่งเท่านั้น
ค่อนข้างที่จะซับซ้อนและใช้เวลานานในการตัดสินใจ มาจากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสินค้าอย่างละเอียดตลอดกระบวนการตัดสินใจซื้อ ซึ่งในแต่ละช่วงเวลายังแตกต่างกัน
เริ่มตั้งแต่ เมื่อผู้บริโภคเริ่มตระหนักรู้ถึงความจำเป็นและมีความพร้อมในการซื้อที่อยู่อาศัย จะเริ่มรวบรวมข้อมูลทั่วไปที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการประเมินสินค้าที่ตรงกับความต้องการทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากนั้นจะมีการเปรียบเทียบสินค้าที่ตรงกับความต้องการ และมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน จนสามารถสรุปผลตัดสินใจซื้อในที่สุด
วิธีการหาข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยในอดีต เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลผู้บริโภคจะรวบรวมข้อมูลพื้นฐานทั่วไปจากหลายแหล่งต่างๆ ได้แก่ นิตยสารที่อยู่อาศัย งานมหกรรม ป้ายโฆษณา และหนังสือพิมพ์ ไปจนถึง วิทยุ โทรทัศน์ แผ่นพับ รวมทั้ง สอบถามจากบุคคลอื่น ทั้งญาติพี่น้อง และมิตรสหาย ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่จากการศึกษาพบว่า ยาวนานกว่าสามปี
ในขั้นตอนการประเมินทางเลือกนั้น ผู้บริโภคจะเริ่มเปรียบเทียบข้อมูลสินค้า โดยในขั้นตอนนี้ผู้ซื้อเริ่มกำหนดรูปแบบ ราคา และทำเลได้แล้ว แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่จะมาจากการเยี่ยมชมโครงการและบ้านตัวอย่าง ในขั้นตอนนี้ผู้บริโภคจะเปรียบเทียบทั้งคุณภาพของตัวบ้านและโครงการ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการ สินเชื่อ และเงื่อนไขในการขาย
ในช่วงเวลาประมาณไม่เกินหนึ่งปี สำหรับขั้นตอนการประเมินทางเลือกนี้ผู้บริโภคจะเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการ ณ สถานที่จริง แหล่งข้อมูลที่สำคัญและต้องใช้อ้างอิง จึงเป็นป้ายโฆษณาตามเส้นทางสัญจรหลัก ที่นำไปสู่ที่ตั้งโครงการที่หมายตาไว้แล้ว โดยผู้บริโภคมีโอกาสถูกกระตุ้นด้วยข้อมูลในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่อยู่อาศัย
สำหรับขั้นตอนสุดท้าย คือ การตัดสินใจ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือนสุดท้ายนั้น ผู้บริโภคจะพิจารณาความพึงพอใจสินค้าจากนิตยสารที่อยู่อาศัยประเภทที่มีรายละเอียดและภาพถ่าย อาจจะมีการย้อนกลับไปตรวจดูโครงการและตัวบ้าน หรือไปเจรจาเงื่อนไขการซื้อ อย่างน้อยสามครั้ง ก่อนตัดสินใจ
ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องอาศัยป้ายโฆษณา และแหล่งข้อมูลอื่น ได้แก่ หนังสือพิมพ์ จะช่วยย้ำเตือนสินค้า โดยเฉพาะ งานมหกรรม ที่ผู้ซื้อมีโอกาสพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ รวมทั้งพิจารณาข้อเสนอพิเศษที่ผู้ประกอบการเสนอในงาน เพื่อจูงใจหรือเร่งการตัดสินใจ
อาจกล่าวได้ว่า ในยุคอนาล็อกนั้น ทุกขั้นตอนและตลอดระยะเวลาการตัดสินใจของผู้บริโภคในการซื้อที่อยู่อาศัยมีพฤติกรรมชัดเจนในการรวบรวม ประเมินเปรียบเทียบ และตัดสินใจข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาจากแหล่งต่างๆ ในแต่ละขั้นตอน
แต่เมื่อบ้านเมืองเคลื่อนเข้าสู่ยุคดิจิตอล สภาพการณ์ต่างๆ ค่อยๆ แปรเปลี่ยนมาเป็นลำดับ ส่งผลให้พฤติกรรมผู้ซื้อที่อยู่อาศัยนั้น เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จนกลายเป็นการเปลี่ยนขาดต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง
ในยุคปัจจุบัน ผู้บริโภคจะได้รับการกระตุ้นจากโซเชียลมีเดียทั้งคำบรรยายภาพและภาพเคลื่อนไหว ที่แทรกอยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น google, youtube, line, facebook , instagram และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากทำให้เกิดความสนใจ ยังกระตุ้นให้ตระหนักรู้ให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ทุกเจนเนอเรชั่นล้วนมีแรงผลักดันที่ต้องการเป็นอิสระ ทั้งจากพ่อแม่ หรือญาติมิตร และบ้านเมือง และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่ กิน อยู่ หลับ นอน เที่ยว พักผ่อน และเล่นกีฬา
เมื่อผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยต้องการรวบรวมข้อมูลโลกปัจจุบัน มีกลไกเอื้อให้หาข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ทุกเวลา และทุกแห่ง บรรดาผู้ประกอบการและเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ จึงสรรค์สร้างฐานข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ทุกบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จัดทำเว็บไซต์ของบริษัท ที่มีภาพของโครงการที่สวยงาม และข้อมูลต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ มีกูรูที่รู้บ้างไม่รู้บ้าง มีกูรูที่เขียนจริงใจหรือรับจ้างเขียนบ้าง มีกระดานข่าว เว็บบอร์ดที่มีผู้คนสนทนาถึงโครงการต่างๆ บ่นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นรวมทั้งการชื่นชมที่นานๆ จะมีสักครั้ง
บางโครงการ หรือบางแพลตฟอร์ม ยังจัดนำเสนอภาพสามมิติ ให้ดูชมอย่างละเอียด หรือจะเป็น แอนิเมชั่นวอลค์ทรู เสมือนว่าไปดูบ้านตัวอย่างในสถานที่จริง ซึ่งแน่นอน ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ล้วนแต่สวยงาม ตื่นตาตื่นใจ ทำให้ฮอร์โมนความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยพุ่งพล่าน
กระบวนการซื้อที่อยู่อาศัยในโลกยุคดิจิตอล จึงย่นย่อลงมาบนฝ่ามือ ผ่านโทรศัพท์มือถือ บนหน้ากระดาน ถ้าใช้ผ่านไอแพดหรือบนโต๊ะทำงานผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะซึ่งหมายรวมถึงทุกแห่งหน ที่มีสัญญาณไวไฟทั้งสี่ขั้นตอน คือ การรวบรวมข้อมูล ประเมินและเปรียบเทียบข้อมูล และตัดสินใจ สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง หรือข้ามไปมาได้ทันที กระบวนการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยจึงสะดวกสบาย และรวดเร็วผ่านระยะเวลาจากนานเป็นปี มาเป็นไม่กี่วัน ไม่กี่ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในพฤติกรรมของคนรุ่นเจนฯต่างๆ ทั้ง เอ็กซ์ วาย แซด คือ สมาธิสั้น เปลี่ยนใจเร็ว เปลี่ยนแปลงเร็ว ความสนใจในแบบบ้าน โครงการ ประเภทที่อยู่อาศัย และความต้องการการซื้อที่อยู่อาศัย อาจมลายหายไปหรือเปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว ไปสู่สิ่งอื่นที่สามารถดำเนินการได้ง่ายเช่นกัน
เมื่อโลกมีการเปลี่ยนขาดทางเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมผู้ซื้อที่อยู่อาศัย และกระบวนการซื้อที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำเป็นต้องปรับตัว ปรับใจ และปรับองค์กร ให้ทันต่อสภาวการณ์เปลี่ยนขาดครั้งนี้ มิเช่นนั้น ก็จะตกเวทีได้ง่ายๆ
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จุลาสัย
อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania