คนเชียงรายเฮ “บิ๊กตู่” ลั่นปักหมุดทางคู่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ปลายปี 60 เอกชนดันต่อลากเส้นทางแยกต่อไปแม่สายผ่านอำเภอแม่จัน หลังเมียนมากางแผนสร้างรางจ่อท่าขี้เหล็กโยงเขตศก.พิเศษ เพิ่มส่งออกค้าชายแดนโตเท่าตัว ขณะที่ ร.ฟ.ท.ระบุมีความเป็นไปได้
นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันให้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ปลายปี 2560 หลังตรวจเยี่ยมจังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันโครงการระยะที่2เอกชนเสนอให้ต่อแนวเส้นทางรถไฟไปยังอำเภอแม่สายประมาณ30-40 กิโลเมตรรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สายและค้าชายแดน โดยอาศัยจุดเชื่อมต่อเดิมของทางรถไฟเด่นชัย-เชียงของ ที่สถานีเชียงรายแต่แยกเส้นทางผ่านไปอำเภอแม่จัน ซึ่งสอดรับกับเมียนมาที่เตรียมแผนสร้างเส้นทางรถไฟมาจ่อที่ด่านชายแดนท่าขี้เหล็กติดกับอำเภอแม่สายของไทยที่สามารถขนส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ เชื่อมไปเมืองรัฐฉานซึ่งจะทำให้ลดระยะเวลาและค่าขนส่งจากปัจจุบันต้องใช้เส้นทางทางบกผ่านเชียงตุง ท่าขี้เหล็กเข้ารัฐฉานเมียนมา ส่วนอีกเส้นทางผลักดันให้แยกไปอำเภอเชียงแสน เพื่อรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเช่นเดียวกัน หาก รถไฟทางคู่ เชื่อมทั้ง เชียงของ แม่สายและเชียงของ ก็จะช่วยทำให้เสริมศักยภาพการค้าชายแดนและค้าข้ามแดนโตเท่าตัว
อย่างไรก็ดี การค้าชายแดนทั้ง 3 ด่านปี 2559 มีมูลค่าค้าชายแดน 4.5 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 10%
สอดคล้องกับนางสาวผกามาศ เวียร์รา ประธานคณะกรรมการสาขาเชียงรายสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา เสริมว่า การขนส่งสินค้าจากชายแดนจะสะดวกขึ้น ปัจจุบันในรัฐฉานของเมียนมามีเส้นทางรถไฟ สายกรุงย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์-ตองยีแล้ว ล่าสุดเมียนมา มีแผนสร้างเส้นทางรถไฟสายตองยี-ท่าขี้เหล็ก หากมีเส้นทางเชื่อมกันก็เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกมากประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงจีนกำลังจับตาโครงการรถไฟเด่นชัย-เชียงราย ในอนาคตคาดว่าจะใช้ประโยชน์ด้านการค้าจากเส้นทางนี้มากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทย จึงอยากให้ ร.ฟ.ท.สร้างรางรถไฟไปยังชายแดนด้านแม่สายเพิ่มเติมด้วยปัจจุบันจีนมีโครงการรถไฟคุนหมิง มณฑลยูนนาน สปป.ลาว เส้นทางใกล้กับจังหวัดน่าน ซึ่งสามารถเชื่อมกับเส้นทางรถไฟที่เชียงรายได้
ด้านแหล่งข่าวจากร.ฟ.ท. เปิดเผยว่าที่ผ่านมาได้ศึกษาเส้นทางแยก ไปยังอำเภอแม่สาย และเชียงแสนด้วยเช่นกัน ซึ่งพบว่าเส้นทางที่แยกไปแม่สายมีความเป็นไปได้ เพราะ เมียนมา เตรียมสร้างทางรถไฟจ่อมาที่ท่าขี้เหล็ก ซึ่งค่าก่อสร้างตกกิโลเมตรละ 150 ล้านบาท ไม่รวมค่าเวนคืน แต่ทั้งนี้ต้องเร่งสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายหลักก่อน คือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของมูลค่า 8.5หมื่นล้านบาท ส่วนเส้นทางแยกไปเชียงแสน ไม่สามารถสร้างได้เนื่องจากมีโบราณสถาน-โบราณวัตถุค่อนข้างมาก
สำหรับความคืบหน้ารถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของล่าสุด คณะกรรมการชำนาญการ(คชก.)ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นเลขานุการ ได้ผ่านความเห็นชอบขั้นตอนขออนุญาตทำรายงานสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว และ เร็วๆนี้ เตรียมเสนอ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบเท่านั้น ก็สามารถดำเนินการได้เลย
นายวุฒิชาติ กัลป์ยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า เส้นทางรถไฟในประเทศไทยครอบคลุมทั่วทุกภาคแต่ยังคงเหลือเพียง 2 เส้นทางเท่านั้นที่ยังไม่มีการก่อสร้าง คือเส้นทางสายบ้านไผ่-นครพนม และสายเด่นชัย-เชียงรายอย่างไรได้พยายามขับเคลื่อนโดยเร็วโดยเฉพาะเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย ที่ล่าช้ามาตั้งแต่ปี 2503 หรือกว่า 56 ปี โดยรูปแบบจะมีระยะทางรวม 323 กิโลเมตร จำนวน 26 สถานี ผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอของจังหวัดแพร่, ลำปาง, พะเยา และเชียงราย มีอุโมงค์ 3 แห่งคือในพื้นที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ยาว 6.4 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศ อุโมงค์แห่งที่ 2 อยู่ที่อำเภอเมืองพะเยายาว 2.8 กิโลเมตร และอุโมงค์ที่อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงรายยาว 3.6 กิโลเมตรตลอดสายมีระบบป้องกันอุบัติเหตุ เช่น สะพานข้าม 380 แห่ง มีทางยกระดับ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ภายในเดือนธันวาคมนี้ จะจัดประชุมคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.รวมทั้งหารือกับทีมที่ปรึกษาและวิศวกรเกี่ยวกับการแบ่งพื้นที่ก่อสร้างควบคู่กันไป เพื่อให้การรอคอยของชาวเชียงรายสิ้นสุดเสียที ขั้นตอนต่อจากนั้นก็จะนำเสนอสภาพัฒน์ ซึ่งจะใช้เวลา 3-4 เดือน แล้วก็จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในเดือนธันวาคมนี้จะเห็นความก้าวหน้าที่ชัดเจน สำหรับการก่อสร้างผู้ว่าการร.ฟ.ท.ระบุว่าปี 2563 จะได้เห็นรถไฟสายนี้แน่นอน และคาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีผู้โดยสารมากถึง 2,004,215 คนต่อปี และมีการขนส่งสินค้าในปริมาณมากถึง 2,095,930 ตันต่อปี
ที่มา : thansettakij