ฝุ่นพิษที่ตลบอบอวนอยู่ทั่วทั้งเมืองในช่วงเวลานี้ อาจจะทำให้เราทุกคนตระหนักกันมากยิ่งขึ้นว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องร่วมมือเอาใจใส่กับเรื่องของสิ่งแวดล้อมกันให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ก่อนที่มลภาวะที่เป็นพิษเหล่านี้จะคุกคามเราหนักยิ่งขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว เราสามารถเริ่มต้นดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมกันได้ที่ตัวเองและคนในครอบครัว โดยเริ่มกันที่ บ้าน ซึ่งเป็นหน่วยแรกของสังคมเมือง ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้ออกแบบ ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆ จึงมีส่วนสำคัญต่อการรักษาสภาพแวดล้อมของเมืองได้
งานสถาปนิก 62 โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 เมษายนถึง 5 พฤกษภาคมที่ อิมแพค เมืองทองธานี ในปีนี้ได้กำหนดแนวคิดการจัดงานให้เป็นเรื่องของ Living Green หรือ “กรีน อยู่ ดี” ซึ่งพอเหมาะพอเจาะกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในบ้านเราอย่างพอดิบพอดี บนเวทีเสวนา เพื่อโปรโมทการจัดงาน สถาปนิก 62 จึงได้หยิบเอาประเด็นของการออกแบบ เพื่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน โดยมีสถาปนิกชื่อดังในสายกรีนมาพูดถึงทิศทางการออกแบบ เพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อม และความยั่งยื่น (sustainable)
ชี้เทรนด์ ‘กรีน’ เพื่อชีวิตดีมีสุข
เริ่มที่ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หนึ่งในกรรมการจัดงานสถาปนิก 62 กล่าวว่า การออกแบบอาคารสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม เราผ่านเรื่องมาตรฐานต่างๆ มาแล้ว และกำลังก้าวไปถึงเรื่องของความอยู่ดีมีสุข ไม่ใช่พูดกันแค่เรื่องที่เราจับต้องได้ แต่เป็นการพูดถึงเรื่องของจิตใจกันมากขึ้น และมั่นใจว่าภายในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้ เราจะได้ยินคำว่า health, wellness, well-being, happiness ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการออกแบบมากยิ่งขึ้น และจะเป็นบรรทัดฐานของการออกแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งที่เรามีในมาตรฐานของอาคารเขียว จะเริ่มผสมผสานกับคำต่างๆ เหล่านี้ เพื่อทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น
สำหรับประเด็นเรื่องของฝุ่น PM 2.5 ที่ระบาดหนักในเวลานี้ ผศ.ดร.สิงห์ มองว่า การปลูกต้นไม้เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดฝุ่นทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นได้จริงๆ เพราะต้นไม้มีใบไม่ว่าจะเป็นใบมัน ใบมีขนก็เป็น surface ให้ฝุ่นเกาะ ขณะเดียวกัน การออกแบบอาคารในยุคนี้ต้องคงต้องคำนึงถึงปัญหาจากฝุ่นเล็กๆ เหล่านี้ด้วย โดยจำเป็นจะต้องใส่ฟิวเตอร์ต่างๆ เข้าไปด้วย จากที่ผ่านมาเราไม่เคยออกแบบรองรับฝุ่นเล็กๆ ขนาดนี้กันเลย
ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต
อยู่อย่างยั่งยืนต้องคืนสู่ธรรมชาติ
ด้านนายศุภวุฒิ บุญมหาธนากร จากใจบ้านสตูดิโอ ได้ฝากข้อคิดสำหรับการออกแบบ และการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ว่า ปกติเวลาพูดถึงเรื่องกรีน เรากลับนึกถึงแค่ตัวโครงการเพียงอย่างเดียว แต่บริเวณรอบโครงการยังมีธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์ต่างๆ บทบาทของสถาปนิกจะมีส่วนสำคัญ พอได้โจทย์มาจากลูกค้า เราก็มาทำตาม requirement ของลูกค้า แล้ว requirement ของธรรมชาติมันคืออะไร เป็นสิ่งที่ต้องนำมาคิดร่วมกันในการออกแบบ โจทย์ของเราจึงไม่ใช่แค่สี่เหลี่ยมของโฉนด แต่จะเป็นบริบทรอบๆ โครงการจะมีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย
ขณะที่ นายนพพล พิสุทธิอานนท์ จาก QUINTRIX ARCHITECTS ได้พูดถึงแนวทางของการออกแบบสู่ความยั่งยืนว่า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจกันก่อนว่า sustainable นั่นคืออะไร และการออกแบบจะต้องไม่ฝืนที่จะทำในเรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ใช่โครงการนี้ทำ โครงการนี้ไม่ทำ แต่ทุกโครงการที่ออกแบบควรที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เพราะถ้าไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ เราก็ไม่ควรจะมาเป็นสถาปนิก เพราะมันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการออกแบบอยู่แล้ว
ดังนั้นถ้าคิดตั้งแต่เริ่มออกแบบก็จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งเรื่องนี้ ผศ.ดร.สิงห์ กล่าวเสริมว่า เราทราบอยู่แล้วว่า ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นมาจากรถยนต์บนท้องถนน ขณะที่สถาปนิกมีหน้าที่ในการออกแบบผังโครงการขนาด 200-300 ไร่ ทำไมเราต้องใส่ถนนเข้ามามากมาย และทำไมเราไม่คิดกันตั้งแต่ต้นว่าฝุ่นนั้นเกิดจากรถยนต์ ดังนั้นเราต้องหาวิธีการที่ทำให้รถยนต์ทั้งระบบมันน้อยลง วิธีการวางผังในโครงการ สถาปนิกก็สามารถออกแบบถนนให้อยู่แค่รอบๆ พอ การเข้ามาถึงอาคาร ก็ใช้ รถยนต์ไฟฟ้า หรือใช้การเดินเข้ามาได้ การเป็นสถาปนิกเราไม่ได้ไปแก้ที่รถยนต์แต่เราสามารถออกแบบผังให้ใช้รถยนต์ให้น้อยลงได้
บ้านรักษ์สิ่งแวดล้อมทำไม แพง!
การออกแบบบ้านหรือโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำไมต้องจ่ายแพงกว่า การสร้างบ้าน สร้างอาคารทั่วๆ ไป หรือการใช้วัสดุทั่วๆ ไปในท้องตลาด ทำไมคนทั่วไปต้องจ่ายแพงกว่าถ้าอยากมีชีวิตที่กรีนมาขึ้น ซึ่งนายนพพล มองว่า เรื่องนี้เป็นคำถามที่สถาปนิกมักจะถูกถามอยู่บ่อยๆ ซึ่งอยากจะบอกว่า การเป็นของดีมักจะไม่ถูก แต่ของถูกก็สามารถดีได้ถ้าเราใช้เป็นขึ้นอยู่กับวิธีการออกแบบมาประกอบกันด้วย แต่สุดท้ายแล้วมันมักจะมาลงที่วัสดุ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจะต้องมีตัวเลือกอย่างน้อย 3 แบบ มีการเปรียบเทียบกันระหว่างวัสดุที่กรีนกับไม่กรีน แต่สิ่งที่อยากเห็นคือ วัสดุทั้ง 3 แบบ เป็นกรีนทั้งหมด
ถ้าเราดูกันแค่เรื่องเงินก็อาจจะเทียบกันได้ แต่อยากให้ดูภาพรวมในระยะยาวมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ขนมปัง 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งทาเนยเทียมขาย 20 บาท อีกชิ้นหนึ่งทาเนยแท้ชิ้นละ 22 บาท ผมมองว่า ชิ้นที่เป็นเนยแท้ถูกกว่า เพราะมีผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินค่าหมอ แต่คนส่วนใหญ่ยังเลือกที่ 20 บาท เพราะถ้าวัดกันตอนนี้ราคามันถูกว่า สิ่งสำคัญคือ การให้ความรู้ ทำความเข้าใจกับผู้บริโภคว่าทำไมควรจะต้องจ่ายแพงกว่า
พัฒนาอีก 2 ปี ราคาจับต้องได้
ส่วน ผศ.ดร.สิงห์ ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นตลาด B+ ขึ้นไป เรื่องกรีนหรือไม่กรีน แพงหรือไม่แพงนั้นไม่ใช่ประเด็น แต่ส่วนใหญ่มันจะรู้สึกว่าแพง เพราะเราพูดอยู่ในตลาดที่ต่ำกว่า B+ ลงมา ซึ่งเป็นตลาดส่วนใหญ่ของคนทั่วไป ซึ่งเราก็ทราบดีว่า การทำต้นแบบในทุกๆ ครั้งจะมีราคาแพง ถ้าเอาไปใช้กับตลาดที่ราคา 1.5-2 หมื่นบาทต่อตารางเมตรก็จะแพงสำหรับเขา หน้าที่ของเราก็คือต้องไปทดลองต้นแบบกับ luxury market ก่อน เมื่อทดลองแล้ว แก้ปัญหาแล้ว ราคาในครั้งต่อๆ ไปจะถูกลงอยู่เสมอ ตอนนี้กำลังทำ prototype ในตลาด luxury อยู่ โดยเชื่อว่าอีก 2 ปีข้างหน้า เราจะสามารถทำ comfortable home ที่ดีได้ ในคุณภาพเดียวกับ luxury market โดยที่ต้นทุนของการทำการทดลอง การทำวิจัยมันหมดไปแล้ว
ผศ.ดร.สิงห์ ยังให้ข้อแนะนำถึงการออกแบบอาคารบ้านเรือยเพื่อสิ่งแวดล้อมในต้นทุนที่ไม่แพงจนเกินไปว่า สิ่งแรกเลยคือ การออกแบบต้องลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ออกไป บ้านไม่ต้องใหญ่ห้องมีเท่าที่เราจะต้องใช้ ข้อที่ 2 เน้นการทำแลนด์สเคป เพราะราคาจะสูงหรือต่ำสำหรับการก่อสร้างจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ก่อสร้างและวัสดุที่ใช้ ข้อที่ 3 เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีราคาถูกแล้ว เช่น เราไม่จำเป็นต้องไปติด solar panel ราคา 5 แสนบาทในตอนนี้ เพื่อให้ได้เงินกลับคืนมาเพียงไม่กี่บาท หรือว่าจะออกแบบบ้านป้องกันฝุ่นที่ต้องติดฟิวเตอร์ ซึ่งมันอาจจะมีราคาแพง ก็เปลี่ยนมาเป็นการปลูกต้นไม้ก็สามารถกรองฝุ่นได้
นอกจากนี้ เรายังหาวัสดุที่มีราคาไม่แพงมาช่วยในการลดต้นทุนได้ อย่างเช่น กระเบื้องที่อยู่ในเดตสต๊อก ซึ่งมีขายในราคาลดถึง 30-40% เป็นวัสดเกรดเอแต่สีอาจจะไม่ใช่ของปีล่าสุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องอินเทรนด์มากขนาดนั้น เราก็สามารถใช้วัสดเหล่านี้เป็นการช่วยลดต้นทุนได้
ทั้งหมดคือ ไอเดียบางส่วนสำหรับการออกแบบอาคารบ้านเรือน เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด “กรีน อยู่ ดี” ที่สามารถนำไปใช้ได้โดยเริ่มต้นกันที่บ้านของทุกคน