เพื่อเป็นการผลักดันโครงการ EEC ภาครัฐจึงเร่งรีบขยายพื้นที่เศรษฐกิจแห่งนี้ให้เป็นที่รู้จักของนานาชาติและพยายามดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยล่าสุด กรมสรรพสามิต ตั้งทีมพร้อมรื้อโครงสร้างภาษีใหม่ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตามนโยบายของรัฐบาล คสช. พร้อมหนุน New S-curve หวังกระตุ้นนักลงทุนให้มาลงทุนใน EEC
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เผยว่า ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้สำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ไปศึกษาปรับปรุงโครงสร้างจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศ (New S-curve) ที่ได้กำหนดไว้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ถือเป็นการเข้าไปสนับสนุนยุทธศาสตร์ประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลส่งเสริม ประกอบด้วย
1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
4) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
7) อุตสาหกรรมการบิน
8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
9) อุตสาหกรรมดิจิทัล
10) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
กรมสรรพสามิตมีแผนจะนำโครงสร้างภาษีสรรพสามิตมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุน เพื่อดึงดูดใจนักลงทุนให้เข้าลงทุนใน EEC นอกเหนือจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการลดหย่อนภาษีของกรมสรรพากร
แนวคิดคือจะออกมาตรการทางภาษีลักษณะเหมือนกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เมื่อมีภาษีสรรพสามิตมาช่วยกระตุ้น จะทำให้กลไก กระบวนการลงทุนเร็วขึ้น เพราะผู้ผลิตที่ต้องการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเร่งลงทุนในช่วงที่รัฐมีมาตรการสนับสนุน เช่น หากมีการผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศแล้วนำเข้าเฉพาะที่เป็น knowhow จากต่างประเทศ อาจได้สิทธิประโยชน์พิเศษที่แตกต่างไปจากการนำเข้าส่วนประกอบทั้งหมด เป็นต้น
ขึ้นพิกัดภาษีใหม่
ส่วนจะต้องมีพิกัดภาษีใหม่ขึ้นมารองรับหรือไม่นั้น นายพชรกล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะระบุ คงต้องรอผลศึกษาออกมาก่อน แต่พิกัดเหล่านี้มีอยู่เป็นสากลอยู่แล้ว เพียงแต่บางพิกัดประเทศไทยยังไม่มีเท่านั้นเอง ซึ่งหากจำเป็นก็ต้องเปิดพิกัดภาษีขึ้นมาใหม่ โดยออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพิกัดเพิ่มเติมขึ้นมา
บาลานซ์พอร์ต-ลดพึ่งภาษีบาป
จากที่กรมสรรพสามิตได้จัดกลุ่มภาษีเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1.ภาษีบาป ได้แก่ ภาษีสุรา ภาษียาสูบ ภาษีเบียร์ เป็นต้น
2.ภาษีพลังงาน ได้แก่ ภาษีน้ำมัน ภาษีน้ำมันเครื่อง เป็นต้น
3.ภาษีสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการจัดกลุ่มดังกล่าวทำให้รู้แนวโน้มทิศทางการจัดเก็บภาษีในอนาคต
ปัจจุบันมีสัดส่วนการจัดเก็บภาษีบาปมากกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่คงต้องปรับเปลี่ยนให้มีสัดส่วนลดลง เนื่องจากสินค้าในหมวดนี้เป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพ และในทางอ้อมก่อให้เกิดภาระงบประมาณในการดูแลสุขภาพประชาชน
“การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอนาคต สัดส่วนจะต้องสมดุลกัน ไม่ใช่ไปฝากความหวังไว้กับภาษีบาปอย่างเดียว จากที่เราทำตัวเลขย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2552 จะพบว่า มีภาษีบาปอยู่ถึง 45% ภาษีพลังงาน 31% และภาษีสิ่งแวดล้อม 18% แต่ถ้ามาดูในปี 2561 ภาษีบาปลดลงเหลือที่ 34.6% ภาษีพลังงานเพิ่มเป็น 38.7% และภาษีสิ่งแวดล้อมเพิ่มเป็น 22% ซึ่งความคิดผมก็มองว่า ภาษีบาปควรจะลดลง” นายพชรกล่าว
เล็งภาษีรถยนต์-จยย.อิงความปลอดภัย
นายพชรกล่าวด้วยว่า ในส่วนของภาษีรถยนต์ ปัจจุบันเป็นการส่งเสริมรถยนต์ไฮบริด และจะนำไปสู่รถไฟฟ้าต่อไป โดยปัจจุบันเป็นการเก็บภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ซึ่งในอนาคตอาจจะปรับไปสู่การให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น รถที่มีระบบความปลอดภัย เช่น ติดถุงลมนิรภัย ระบบเบรก ยางที่ได้มาตรฐาน จะเสียภาษีในอัตราต่ำกว่ารถที่ไม่มีระบบดังกล่าว หรือมีแต่มาตรฐานต่ำกว่า เป็นต้น ซึ่งได้มีการหารือกับทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในเรื่องนี้เบื้องต้นแล้ว
นอกจากรถยนต์แล้ว ในกรณีรถจักรยานยนต์ก็จะใช้แนวทางเดียวกันนี้ได้ด้วย ทั้งเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เช่นเดียวกับรถยนต์
รับสภาพเก็บภาษีปี 62 ส่อต่ำเป้า
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า “ในปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพสามิตได้รับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ภาษีที่ 625,000 ล้านบาท ตามเอกสารงบประมาณ ซึ่งเป็นเป้าที่สูงและคงทำได้ยาก เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ขณะนี้ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงสงครามทางการค้าที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีผลทำให้สมมติฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่เคยตั้งไว้เปลี่ยนแปลงไปมาก”
ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่านโยบายนี้จะรุ่งหรือจะร่วง แต่ที่เห็นได้ชัดในตอนนี้คือรายได้ของประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลดีที่จะนำเม็ดเงินจากภาษีเหล่านี้ไปลงทุนและพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป
ที่มา...prachachat
Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania