ย่านหมอชิต-บางซื่อพลิกโฉมร้อนแรง กูรูอสังหาฯชี้แผนย้ายบขส.กลับหมอชิตเก่าหนุนอีกแรง เผยดีเวลอปเปอร์ควานที่ดินขึ้นโครงการมิกซ์ยูส ดันย่านพหลฯเป็นซีบีดีใหม่
นับจากแผนพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการเดินทางระบบรางที่ทันสมัยเริ่มมีความชัดเจน การลงเสาเข็มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย หนุนย่านสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตและพื้นที่โดยรอบให้เร่งพัฒนาแล้ว ล่าสุดแผนย้ายสถานีขนส่งบขส.จากหมอชิต 2 กลับที่เดิม ยิ่งเพิ่มความร้อนแรงยิ่งขึ้น
นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ไม่เพียงแต่พื้นที่รอบๆ สถานีหมอชิตเท่านั้นที่น่าสนใจ แต่พื้นที่ตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวขึ้นไปถึงสะพานใหม่ เริ่มเห็นถึงการเปลี่ยนแปลง มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันมีมากกว่า 1.7 หมื่นหน่วย อัตราการขายสูงกว่า 85% เช่นเดียวกับพื้นที่โดยรอบสถานีสะพานควาย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายหลายโครงการและขายได้เกือบหมดทุกโครงการ ขณะที่โครงการเปิดขายใหม่ในปี 2559 มีแนวโน้มการขายค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ
***หาซื้อที่ขึ้นโครงการมิกซ์ยูส
นอกจากนี้การพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมภายในสถานีกลางบางซื่อที่กระทรวงคมนาคมมีแผนจะเปิดประมูลภายในปีนี้ เป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้พื้นที่รอบๆ สถานีหมอชิตกลายเป็นศูนย์กลางคมนาคม หรือการเชื่อมต่อการเดินทางหลายรูปแบบของประเทศไทย และพื้นที่โซนอื่น ๆ ในสถานีกลางบางซื่อก็มีการพัฒนาต่อเนื่องเช่นกัน รวมไปถึงผู้ประกอบการสังหาริมทรัพย์บางรายก็เปิดเผยว่ามีแผนจะหาซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสในพื้นทีใกล้กับสถานีหมอชิตด้วยเช่นกัน
ราคาที่ดินในทำเลนี้ก็ปรับขึ้นไปค่อนข้างสูงแล้ว รอบๆ สถานีหมอชิตหรือห้าแยกลาดพร้าวไม่น้อยกว่า 6 แสนบาทต่อตารางวา ส่วนสถานีสะพานควายก็ไม่ได้แตกต่างกัน แต่อาจจะหาที่ดินริมถนนพหลโยธินมาพัฒนาได้ยาก ผู้ประกอบการจำเป็นต้องซื้ออาคารพาณิชย์ที่เป็นร้านค้าดั้งเดิม ดังนั้น ราคาขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จึงอาจจะสูง ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือของสถานีหมอชิตตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าวไปถึงรัชโยธินอาจจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาทต่อตารางวาไปแล้ว พื้นที่ตั้งช่วงระหว่างแยกรัชโยธินถึงหลักสี่อยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาทต่อตารางวา ตามความคืบหน้าของการก่อสร้างรถไฟฟ้า
***ไจก้าเสนอผลศึกษา
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ได้รายงานผลการศึกษาพื้นที่โครงการพัฒนาย่านพหลโยธินและสถานีกลางบางซื่อ ภายใต้โครงการความร่วมมือการพัฒนาระบบระหว่างไทย-ญี่ปุ่นว่า หัวใจหลักที่สำคัญคือการเชื่อมโยงพื้นที่ เน้นการเชื่อมต่อการเดินทาง จะมีการทำทางเดินหลายเส้นทาง ทั้งทางเดินยกระดับและทางเดินระดับดิน พร้อมกับจะก่อสร้างลิฟท์และบันใดเลื่อนตามจุดต่างๆ อีกด้วยเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและมีจำนวนให้เพียงพอ ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์จะอยู่ข้างทางเดินดังกล่าว
สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้นฝ่ายญี่ปุ่นจะคิดเป็นกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่เอกชนจะคิดพัฒนาเอาเองเท่านั้น มีจุดที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้น ๆ อาทิ โตเกียวสเตชั่นที่มีเสาสูงเป็นเอกลักษณ์เด่นของพื้นที่ โดยต้องการให้มีจุดใกล้ ๆ แกรนด์สเตชั่นสถานีกลางบางซื่อในครั้งนี้ด้วย
***ขึ้นศูนย์ประชุมนานาชาติ
โดยพื้นที่แปลง C ที่บริษัทขนส่ง จำกัด(บขส.) ตั้งอยู่ในปัจจุบัน เดิมมีแผนจะพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูง ฝ่ายญี่ปุ่นเสนอให้พัฒนาเป็นคอนเวนชั่นฮอลล์ขนาดใหญ่ รองรับการจัดประชุมนานาชาติหรือไมซ์ ขนาดใหญ่ได้อย่างเพียงพอ แทนการวางไว้ในพื้นที่ย่านกม.11 เนื่องจากระยะทางไกลจากสถานีกลางบางซื่อมากเกินไป อีกทั้งยังมีแค่รถไฟสายสีแดงอยู่ใกล้ที่สุดเท่านั้น ประกอบกับการเข้าถึงแปลง C คนทั่วไปจากทั่วสารทิศทั่วประเทศสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ จะสร้างรายได้ที่ดีและก่อให้กระตุ้นหรือให้เกิดการดึงดูดการเดินทางได้อย่างเห็นผลชัดมากกว่า ส่วนย่านกม.11 เหมาะที่จะนำไปพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยมากกว่า ดังนั้นคาดว่าจะสามารถสนองความสนใจของนักลงทุนทั่วไทยและต่างประเทศได้
***ดันย่านพหลฯเป็นซีบีดีใหม่
"ฝ่ายญี่ปุ่นคิดไปไกลมากกว่านั้น โดยต้องการให้ยกพวงรางออกไปให้หมด แม้กระทั่งพื้นที่ริมถนนเทอดดำริยังต้องสามารถนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย เหลือพื้นที่ไว้เพียงสวนสาธารณะเท่านั้น ใช้พื้นที่ให้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องการให้ย่านพหลโยธินเป็นย่านธุรกิจ CBD แห่งใหม่ นอกเหนือจากย่านสีลม เพราะครบถ้วนด้วยชุมทางรถไฟ รถไฟฟ้า ที่สามารถอำนวยความสะดวกสบายเช่นเดียวกับโตเกียวสเตชั่นในอนาคตของญี่ปุ่นนั่นเอง"
ส่วนแผนลงทุนโครงการก่อสร้างอาคารสถานีขนส่งรถบขส. ที่จะต่อเติมเหนืออาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวปัจจุบัน บนพื้นที่หมอชิตเดิม ซึ่งกระทรวงการคลังชี้ว่าทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ต้องลงทุนเองนั้น แหล่งข่าวจากบขส.กล่าวว่า ขณะนี้บขส.ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรต่อได้ ต้องรอรายละเอียดแผนโครงการทั้งหมดที่กรมธนารักษ์จะต้องจัดทำมาให้ก่อน ซึ่งจะมีรายละเอียดทั้งส่วนของสถานี และการลงทุนโครงสร้างทางเชื่อม หรือการเวนคืนเพื่อขยายเส้นทางเข้าออกเพื่อป้องกันปัญหาจราจรก่อน จึงจะสามารถกำหนดวงเงินลงทุนได้
ทึ่มา : thansettakij