Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

อบจ.เวียงพิงค์แจงปี’58 เน้นปฏิรูปการศึกษา พัฒนาขนส่งมวลชน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เชียงใหม่เป็นเมืองสำคัญของภาคเหนือมีความโดดเด่นทั้งด้านการค้า, การลงทุน, การท่องเที่ยว แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามามากกว่า 7 ล้านคนสร้างรายได้กว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ระบบขนส่งมวลชนกลับเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ แม้หลายหน่วยงานจะเข้ามาศึกษาและเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดนอกจากการดูแลทุกข์สุขของประชาชนแล้วยังเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะผลักดันและแก้ไขปัญหาระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ให้เป็นรูปธรรม HBG ฉบับนี้ได้พูดคุยกับคุณบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ถึงแผนและนโยบายการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ พร้อมประเด็นการแก้ไขระบบขนส่งมวลชนของเชียงใหม่

ผลการดำเนินงานของ อบจ.เชียงใหม่ปี 2557 และแผนปี 2558

ในปีงบประมาณ 2557 อบจ.เชียงใหม่ได้ดำเนินงานทั้งบริหารจัดการภายในหน่วยงาน บริการชุมชนและสังคม รวมถึงด้านเศรษฐกิจของจังหวัด โดยมีโครงการหลักเน้นเรื่องการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้เชิงวิศวกรรมและออกแบบเบื้องต้นของระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ โดยรถไฟฟ้ารางเดี่ยวบนพื้นดิน (Chiangmai New Tramway Project) ส่วนโครงการย่อยด้านการศึกษาและการสาธิตระบบรถประจำเส้นทางในเขตเมืองเชียงใหม่โดยเป็นระบบเชื่อมต่อ (Feeder) ทั้งสองโครงการใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อาทิ การก่อสร้างและปรับปรุงเส้นทางการคมนาคม, การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร, พัฒนาระบบขนส่งมวลชน, สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนพัฒนาให้เชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับปีงบประมาณ 2558 จากงบประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการบริหารจัดการเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานร้อยละ 40, ด้านคุณภาพชีวิตและสังคมร้อยละ 30 และด้านการศึกษาอีกร้อยละ 20รวมกว่า 150 โครงการย่อย ซึ่งในปีนี้จะมุ่งเน้นการปฏิรูปและสร้างมิติใหม่แห่งการศึกษาเนื่องจากพบว่าระบบการศึกษาที่จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการเกิดความไม่สอดคล้องกับบางพื้นที่ เห็นควรให้ท้องถิ่นมีการจัดระบบการศึกษาของตัวเอง

อบจ.เชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดตั้งภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาขึ้นประกอบด้วยกลุ่มผู้ผลิต นักเรียนและกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากผลผลิตนักเรียนและกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ นายกสมาคมโรงแรม, ธุรกิจท่องเที่ยว, หอการค้า, สภาอุตสาหกรรมได้พบปะกัน ซึ่งด้านผู้ใช้ประโยชน์จากผลผลิตนักเรียนหรือกลุ่มผู้ประกอบการจะบอกความต้องการด้านบุคลากรในอนาคตเพื่อเป็นแนวทางแก่กลุ่มผู้ผลิตนักเรียนนักศึกษาให้มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ขณะนี้ได้เริ่มขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวแล้วคาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้านี้จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น

แผนการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่เพื่อรองรับการเปิด AEC

การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดจะมีการประชุมร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 211 แห่งทั่วจังหวัดเชียงใหม่ แต่ละแห่งจะนำเสนอแผนของแต่ละพื้นที่และนำมารวบรวม พิจารณาการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ ส่วนการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิด AEC อบจ.เชียงใหม่ได้พัฒนาและปรับปรุงในหลายด้าน อาทิ ด้านการศึกษา สนับสนุนให้มีการเรียกการสอนภาษาที่ 2 โดยจัดหาครูเจ้าของภาษาจีนจากเฉิงตูกว่า 100 คน กระจายโรงเรียนละ 1 คนทั่วจังหวัดเชียงใหม่

ด้านเศรษฐกิจของจังหวัด อบจ.เชียงใหม่ได้เข้าไปมีส่วนผลักดันการเปิดด่านถาวรที่บ้านหลักแต่ง อำเภอเวียงแหงให้เป็นด่านถาวร ซึ่งหากเปิดได้จริงจะกลายเป็นด่านการค้าชายแดนหรือแม่สายแห่งที่ 2 สามารถเดินทางไปยังเมืองเนปยีดอได้โดยง่ายและใช้พื้นที่ทางเหนือของพม่าที่ติดกับทะเลเป็นเส้นทางขนส่งทางเรือได้ ซึ่งถือเป็นช่องทางการขนส่งที่สำคัญที่จีนสามารถใช้เป็น Gate Way ผ่านพม่าเข้ามาบ้านเราได้เร็วขึ้น

ด้านโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัด โดยเฉพาะการเชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างตำบลและอำเภอทั้งการก่อสร้างถนนบายพาส, ขยายและปรับปรุงถนนให้เกิดความสะดวกสบายรองรับการคมนาคม, การขนส่งและการท่องเที่ยวของจังหวัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แนวทางการแก้ไขระบบขนส่งในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างไร

จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ, การท่องเที่ยว, การลงทุน, การคมนาคมขนส่งของภาคเหนือและเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Regional Aviation Hub) ทั้งยังมีแหล่งกิจกรรมสำคัญในเขตเมืองเป็นจำนวนมากทำให้จังหวัดเชียงใหม่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความแออัดขึ้นโดยเฉพาะในเขตผังเมืองรวมส่งผลต่อปัญหาการจราจรติดขัด มลภาวะและปัญหาอุบัติเหตุที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุหลักเกิดจากการที่เชียงใหม่ไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ได้มาตรฐาน ประกอบกับระบบขนส่งสาธารณะในปัจจุบันก็ไม่สามารถให้บริการและไม่ครอบคลุมพื้นที่ได้ทั้งหมด ทั้งคาดกันว่าระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่สามารถรองรับปริมาณการเดินทางในอนาคตของผู้คนได้

อบจ.เชียงใหม่จึงได้หาแนวทางโดยร่วมกับสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ซึ่งเป็นองค์การมหาชนในฐานะที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนครโดยตำแหน่ง จึงได้ให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาวิจัยความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งมวลชน เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง งบประมาณ 30 ล้านบาท

โดยสำนักงานพัฒนาพิงคนครเป็นผู้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเป็นผู้ศึกษา และโครงการศึกษาและการสาธิตระบบรถประจำเส้นทางในเขตเมืองเชียงใหม่ โดยเป็นระบบเชื่อมต่อ (Feeder)  ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ทำการศึกษา คาดว่าจะทำการศึกษาแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 

นอกจากนี้ อบจ.เชียงใหม่มีแนวคิดที่จะจัดตั้งบริษัท ขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ จำกัด โดยใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ได้หารือแนวทางปฏิบัติไปยังกระทรวงมหาดไทย โดยมีแนวคิดในการบริหารระบบขนส่งมวลชนในเชิงพาณิชย์แบบบูรณาการ โดยการร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ ที่สนใจร่วมถือหุ้นร่วมจัดตั้งบริษัท นอกจากนั้นอาจให้สหกรณ์รถแดง, รถเขียว,  รถฟ้า, รถเหลืองต่างๆ ตลอดจนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมถือหุ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้รอการตอบข้อหารือจากทางกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง

แนวคิดผังเมืองเชียงใหม่และแนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต       

การประกาศบังคับใช้ พรบ.ผังเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับพื้นที่ ทำให้ท้องถิ่นรู้สึกอึดอัดเมื่อถูกจำกัดพื้นที่การพัฒนา เช่น ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ระหว่างเชียงใหม่-ลำพูน สองฝั่งถนนถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวซึ่งไม่สามารถพัฒนาได้นอกจากเกษตรกรรมเห็นควรว่าต้องมีการแก้ไขและปรับปรุงผังเมืองใหม่และโอนความรับผิดชอบให้กับท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล อบจ.เชียงใหม่ได้หารือกับอธิบดีกรมโยธาและผังเมืองถึงแนวทางการรีโซนนิ่งใหม่จาก 5 ปีเป็น 2 ปี เพื่อกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่และรองรับการขยายตัวของเมือง

ส่วนแนวโน้มการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ต้องยอมรับว่าจังหวัดเชียงใหม่มีความเจริญอย่างรวดเร็ว ปริมาณของผู้ลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเพิ่มมากขึ้น บริษัทรายใหญ่จากส่วนกลางและต่างชาติก็เริ่มเข้ามา ทำให้ขณะนี้ปริมาณอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างอิ่มตัวหรืออยู่ในช่วงโอเวอร์ซัพพลายแล้ว เนื่องจากตลาดชะลอความต้องการลงโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ส่วนบ้านเดี่ยวยังพอไปได้ผู้ประกอบการรายเล็กที่สายป่านไม่ยาวพอคงต้องเหนื่อยหนัก แต่ก็คาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าหากยังไม่มีการลงทุนเพิ่ม กำลังซื้อที่มีอยู่จะค่อยๆ กลืนโอเวอร์ซัพพลายนั้นไปและเป็นโอกาสที่จะเปิดโครงการใหม่ก็มีมากขึ้น

จังหวัดเชียงใหม่เมืองอนุรักษ์ที่ไม่เคยหยุดการพัฒนา ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่จะเป็นไปในทิศทางใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าคนเชียงใหม่ต้องการให้นครแห่งนี้เป็นไปอย่างไรนั่นเอง...

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร