Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

อลหม่าน 37 สถานีจุดตัดรถไฟฟ้า คมนาคมสั่ง "บีทีเอส-รฟม." ตั้งชื่อเดียวกัน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

จากนโยบายของ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งบูรณาการชื่อรถไฟฟ้าใหม่ทั้งสายเก่าและสายใหม่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและเปิดประมูล 

หลังมีบางสถานีมีชื่อเรียกต่างกันทั้งที่ตำแหน่งตั้งอยู่ใกล้กัน ทำให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มึนกับชื่อระบบขนส่งมวลชนของไทยไม่น้อย

จากการตรวจสอบของ "สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร" พบมีสถานีเป็นจุดร่วมรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทจำนวน 37 สถานี ซึ่งสายใหม่ไม่น่ามีปัญหา ที่น่ากังวลคือเส้นทางเปิดบริการไปแล้ว 4 สถานี ได้แก่ 1.บริเวณสวนจตุจักรระหว่างสถานีหมอชิตของ BTS กับสถานีจตุจักรรถไฟฟ้าใต้ดิน 2.บริเวณแยกศาลาแดงระหว่างสถานีศาลาแดง BTS กับสถานีสีลมรถไฟฟ้าใต้ดิน 3.บริเวณแยกอโศกระหว่างสถานีอโศก BTS กับสถานีสุขุมวิทรถไฟฟ้าใต้ดิน และ 4.บริเวณมักกะสันระหว่างสถานีเพชรบุรีรถไฟฟ้าใต้ดิน กับสถานีมักกะสันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และสถานีเพชรบุรีของสีฟ้า (ดินแดง-มักกะสัน-สาทร)

โดยให้เจ้าของรถไฟฟ้าไปตกลงร่วมกันตามโจทย์ที่ได้รับ คือ 1.จะเปลี่ยนหรือไม่ 2.เปลี่ยนแล้วชื่ออะไร 3.เปลี่ยนเมื่อไหร่ และ 4.ใครจะเป็นคนเปลี่ยน ล่าสุดมีความเป็นไปได้สูง จะยึดตามชื่อเดิม 

สอดคล้องกับ "สุรพงษ์ เลาหะอัญญา" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บีทีเอสเปิดบริการมา 15 ปี ชื่อสถานีเป็นที่คุ้นเคยอย่างดี ทั้งนี้ หากจะให้บีทีเอสเปลี่ยนชื่อสถานีใหม่ คงจะเป็นการยาก เนื่องจากจะทับซ้อนกับชื่อเส้นทาง เช่น สถานีอโศกจะเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีสุขุมวิทเหมือนรถไฟฟ้าใต้ดินคงไม่ได้เพราะซ้ำกับชื่อสายทางสุขุมวิท หรือสถานีศาลาแดงจะให้ชื่อสถานีสีลมก็ไม่ได้ จะทำให้คนสับสนมากขึ้น

"การเปลี่ยนชื่อสถานีมีรายละเอียดมาก มีค่าใช้จ่าย ต้องเปลี่ยนระบบฮาร์ดแวร์ใหม่ เช่น เครื่องขายตั๋ว แผนที่ เสียงผู้ประกาศ"

ด้าน "พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล" ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยอมรับว่า การเปลี่ยนชื่อมีค่าใช้จ่าย เช่น เปลี่ยนระบบซอฟต์แวร์ ป้ายสถานี จะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกที เนื่องจากผู้โดยสารคุ้นชื่อกันแล้ว 

สำหรับสายใหม่นั้น "สนข." คลอดเกณฑ์การตั้งชื่อสถานีไว้ ได้แก่ 1.ถ้าเป็นโครงสร้างสถานีเดียวกัน เห็นควรใช้ชื่อสถานีเหมือนกัน 2.ถ้าโครงสร้างแยกออกจากกัน ระยะน้อยกว่า 50 เมตร ควรใช้ชื่อสถานีเหมือนกัน

3.ถ้าโครงสร้างแยกออกจากกันอยู่ในระยะมากกว่า 50 เมตร และน้อยกว่า 500 เมตร เห็นควรพิจารณาความเหมาะสม ตามตำแหน่งของโครงสร้างสถานีและ 4.หากทางออกห่างเกิน 500 เมตร หรือสถานีไม่ได้เชื่อมกันอย่างสิ้นเชิง เห็นควรใช้ชื่อสถานีต่างกัน

ทั้งนี้ สนข.ระบุว่ามี 33 สถานีให้ทบทวนชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับย่าน ได้แก่ 1.บริเวณสถานีบางซ่อน สายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) กับสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) 2.บริเวณสถานีเตาปูน สีม่วงกับสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) 3.บริเวณสถานีบางหว้า สีน้ำเงินกับบีทีเอส (ตากสิน-บางหว้า) 4.บริเวณวังบูรพา สีน้ำเงินกับสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 5.บริเวณสถานีบางขุนนนท์มี 3 สาย คือ สีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) สีน้ำเงินต่อขยาย และสถานีจรัญสนิทวงศ์ของสีแดง (ตลิ่งชัน-ศาลายา) 

6.บริเวณวงเวียนหลักสี่ของสีเขียว (หมอชิต-คูคต) กับสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 7.บริเวณสถานีสำโรง สีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) กับสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 8.บริเวณสถานีหลักสี่ของสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) กับสีชมพู 9.บริเวณสถานีวัชรพลของสีชมพูกับสีเทา (วัชรพล-พระราม 4-สะพานพระราม 9) 

10.บริเวณศูนย์ราชการนนทบุรีของสีม่วงกับสีชมพู 11.บริเวณสถานีมีนบุรีระหว่างสีชมพูกับสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) 12.บริเวณสถานีฉลองรัชของสีเหลืองกับสีเทา 13.บริเวณสถานีลำสาลีของสีเหลืองกับสีส้ม 14.บริเวณสถานีหัวหมากของสีเหลือง สถานีพัฒนาการ กับสถานีหัวหมากของแอร์พอร์ตลิงก์ 

15.บริเวณสถานีลาดพร้าวของสีเหลืองกับสีน้ำเงิน 16.บริเวณนวศรีของสีส้มกับสีเทา 17.บริเวณศูนย์วัฒนธรรมของสีส้มกับสีน้ำเงิน 18.บริเวณวงเวียนใหญ่ของสีม่วงใต้ สีแดง (หัวลำโพง-บางบอน) กับบีทีเอส (ตากสิน-บางหว้า) 19.บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของสีม่วงใต้กับสีส้ม 20.บริเวณศิริราชของสีส้มกับสถานีธนบุรี-ศิริราชของสีแดง (ตลิ่งชัน-ศาลายา) 

21.บริเวณยมราชของสีส้มกับสีแดงช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 22.บริเวณราชเทวีของสีส้มกับบีทีเอสหมอชิต-อ่อนนุช 23.บริเวณดินแดงของสีส้มกับสีฟ้า (ดินแดง-มักกะสัน-สาทร) 24.บริเวณประชาสงเคราะห์ของสีส้มกับสีฟ้า 25.บริเวณราชปรารภของสีส้มกับแอร์พอร์ตลิงก์

26.บริเวณตลิ่งชันของสีส้มกับสีแดง (ตลิ่งชัน-ศาลายา) 27.บริเวณยศเสของสีแดงเข้มบางซื่อ-หัวลำโพงกับบีทีเอสสนามกีฬา-ยศเส 28.บริเวณสถานีวุฒากาศของสถานีตากสิน สายสีแดงหัวลำโพง-บางบอน กับสถานีวุฒากาศ ของบีทีเอสวงเวียนใหญ่-บางหว้า 

29.บริเวณสถานีช่องนนทรีของสีฟ้ากับบีทีเอสสนามกีฬา-สะพานตากสิน 30.บริเวณสถานีลุมพินีของสีฟ้ากับสีน้ำเงิน 

31.บริเวณสถานีเพลินจิตของสีฟ้ากับบีทีเอสหมอชิต-อ่อนนุช 32.บริเวณสถานีทองหล่อของสีเทากับบีทีเอส และ 33.บริเวณสถานีคลองเตยของสีเทากับสีน้ำเงิน

 

ที่มา : prachachat

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร