"นครปฐม" นับเป็นจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) สูงเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ โดยเมื่อปี 2553 มีมูลค่ากว่า 1,481,599 ล้านบาท ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 152,225 บาทต่อปี รายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่า 70,512 ล้านบาท อันดับ 2 เกษตรกรรม 18,747 ล้านบาท รองลงมาเป็นการขนส่งการค้าปลีก 13,673 ล้านบาท, การศึกษา 9,005 ล้านบาท, การขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และการคมนาคม 7,434 ล้านบาท
จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้คลื่นการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นตามมา วันนี้นักลงทุนทั้งทุนท้องถิ่นและทุนส่วนกลางต่างตบเท้าเข้ามาลงทุนกันอย่าง คึกคัก เพื่อรองรับความต้องการที่มีมากขึ้น
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจน ถึงขณะนี้ นครปฐมมีโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดใหม่รวม 7 โครงการ และแต่ละโครงการก็ได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นอย่างดี และคนในวงการต่างมั่นใจว่าแนวโน้มในอนาคตจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง
"บุญชู ภุชงค์ประเวศ" รองประธานหอการค้าจังหวัดนครปฐม ฝ่ายอสังหาริมทรัพย์ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.จังหวัด) ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปีนี้มีโครงการอสังหาฯ
เกิดใหม่ ทั้งสิ้น 7 โครงการ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองนครปฐม ส่วนอำเภอรอบนอกมีกลุ่มทุนเล็ก ๆ ในท้องถิ่นบ้างประปราย ในเขตเมืองมีบริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) เปิดโครงการบ้านเดี่ยวกว่า 300 ยูนิต และยังมีอีก 1 โครงการบ้านเดี่ยวที่อำเภอกำแพงแสนกว่า 200 ยูนิต
ส่วน อำเภอเมืองยังมีอีก 3 โครงการ จากห้างหุ้นส่วนจำกัดสุวรรณธานี ทุนท้องถิ่นที่ทำธุรกิจอสังหาฯมานาน และถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกของนครปฐม โดยเปิดโครงการบ้านเดี่ยวกว่า 100 ยูนิต ชื่อ "พระประโทนเมืองใหม่" ในย่านพระประโทน ติดถนนเพชรเกษมฝั่ง กทม.ขาเข้าอำเภอเมืองนครปฐม ราคาเริ่มต้น 1.8-2.2 ล้านบาท นอกจากนี้บริเวณใกล้กันยังมีอีก 1 โครงการ เป็นทาวน์เฮาส์กว่า 100 ยูนิต ในพื้นที่ 40 ไร่ ราคาทาวน์เฮาส์ชั้นเดียวอยู่ที่ 8 แสนบาท
นอก จากนี้ สุวรรณธานียังทำโครงการตึกแถว 3 ชั้น 70 ยูนิต ย่านใจกลางเมืองเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าขายในพื้นที่เขตเมือง ราคาเริ่มต้น 2.5 ล้านบาท เฟสแรกเสร็จไปแล้ว 15 ยูนิต ขณะนี้ขายหมด 100% ส่วนเฟส 2 ก่อสร้างไปแล้วประมาณ 80% และขายเกือบหมดแล้ว
สำหรับ อีก 2 โครงการ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท ศิริวรรณพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นโครงการบ้านเดี่ยวกว่า 500 ยูนิต ชื่อ "หมู่บ้านศิวรรณนครปฐม" ตั้งอยู่บริเวณคลองชลประทาน ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง อีกหนึ่งโครงการเป็นทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น 200 ยูนิต ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน พื้นที่ใช้สอย 18 ตร.ว. 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว
ด้านอำเภอ รอบนอก โซนอำเภอบางเลน เริ่มมีผู้ประกอบการที่เป็นทุนท้องถิ่นขนาดเล็กเข้าไปสร้างตึกแถวขนาด 20-30 ห้อง ซึ่งปัจจุบันขายหมดแล้วเช่นกัน และบริเวณด้านหน้าอำเภอก็มีกลุ่มทุนเริ่มเข้ามาสร้างทาวน์เฮาส์ และทาวน์โฮมกว่า 100 ยูนิต หรืออำเภอดอนตูม ก็มีโครงการตึกแถวขายข้างถนนในตัวอำเภอ 10 หลัง และขายหมดแล้ว
ขณะ ที่อำเภอสามพราน แม้ว่าปีนี้จะยังไม่มีโครงการใหม่เกิดขึ้น แต่โครงการที่มีอยู่เดิมซึ่งถูกน้ำท่วมก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงใหม่ สำหรับอำเภอพุทธมณฑล ราคาที่ดินในช่วง 2 ปีหลังนี้มีราคาสูงขึ้น และพุ่งสูงถึงไร่ละ 8-9 ล้านบาท จึงยังไม่มีโครงการใหม่เปิดตัว หากเทียบกับราคาที่ดินในเขตเมืองยังมีราคาไร่ละ 2-3 ล้านบาท และพื้นที่อำเภออื่น ๆ ราคาจะอยู่ที่ประมาณไร่ละ 2-5 ล้านบาท จากราคาที่ดินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ ทำให้ประชาชนเริ่มขายที่ทำการเกษตรมากขึ้น
รองประธานหอการค้าฯยังระบุด้วยว่า นอกจากบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์แล้ว "หอพัก" ก็เป็นธุรกิจที่มาแรงเช่นกัน โดยภายใน
ปีนี้ในเขตเมืองมีหอพักเพิ่มขึ้นถึง 30 แห่ง หรือประมาณ 8,000-9,000 ห้อง จากเดิมที่มีเพียง 10 แห่ง ที่สำคัญคืออัตราเข้าพักเต็ม 100% และราคาเช่าหอพักเฉลี่ยอยู่ที่ 3,500-7,000 บาท/ห้อง
จากการเติบโต ของอสังหาฯอย่างต่อเนื่องในปีนี้ คาดว่าตลาดอสังหาฯจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 5,000 ล้านบาท และมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลัก ๆ เป็นผลมาจากคนกรุงเทพฯหาซื้อบ้านหลังที่ 2 ไว้พักผ่อน หรือซื้อไว้ให้ลูกที่เข้ามาเรียนที่นครปฐม ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษามากถึง 6 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล ศิลปากร เกษตรศาสตร์ ราชภัฏนครปฐม คริสเตียน เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และมีบางส่วนที่หนีน้ำท่วมจากกรุงเทพฯ
หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะ พบว่า สัดส่วนการซื้อที่อยู่อาศัยในนครปฐม เป็นคนในจังหวัด 50% คนกรุงเทพฯ 30% และอีก 20% มาจากจังหวัดใกล้เคียงและภาคใต้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคอสังหาฯยังประสบปัญหาการขาดแรงงานก่อสร้างกว่า 500 ตำแหน่ง ส่งผลให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงงานภาคอีสานไหลกลับไปทำนามากขึ้น เนื่องจากนโยบายประกันราคาข้าวของรัฐบาล อีกส่วนหนึ่งหันหน้าเข้าโรงงานมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ประสบปัญหาวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างแพงขึ้นด้วย ซึ่งแต่ละรายต่างก็เร่งปรับตัวเพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น
นี่คือการเติบโตภาคอสังหาฯในนครปฐมรอบหลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีทิศทางการเติบโตที่ดี
ที่มา : prachachat