ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอขอให้ "ยกเว้น" การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2537 ที่มีมติกำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) เป็นระบบใต้ดินในระบบขนส่งมวลชนขนาดรางสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) ซึ่งการยกเว้นครั้งนี้จะทำให้สามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองนี้เป็นรถไฟฟ้าแบบยกระดับบนดินได้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 ครม.มีมติกำหนดให้ระบบรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นระบบใต้ดิน โดยให้โครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต้องสร้างระบบใต้ดินในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางภายใน 25 ตารางกิโลเมตร และควรเป็นระบบใต้ดินในพื้นที่ 87 ตารางกิโลเมตรภายในขอบเขตถนนวงแหวนรอบใน (ถนนรัชดาภิเษก) ตามมติของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2537
ต่อมา ครม.มีมติวันที่ 6 กันยายน 2549 เห็นชอบให้กรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง พร้อมทั้งดำเนินการออกแบบในรายละเอียดของโครงการ โดยคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และรูปแบบการลงทุน ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 ให้นำเสนอ ครม.อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจากการยกเว้นการต้องปฏิบัติตามมติครม.ครั้งล่าสุดนี้ จะทำให้สามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นรถไฟฟ้าแบบยกระดับบนดินได้นั่นเอง
รูปแบบของรถไฟฟ้าสายสีทองได้ออกแบบให้เชื่อมต่อกับการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (หัวลำโพง-มหาชัย) บริเวณสถานีคลองสาน ระยะทาง 2.72 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี เปิดบริการ พ.ศ. 2561 ปริมาณผู้โดยสาร 47,300 คนต่อวัน ใช้ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง ส่วนการออกแบบโครงสร้างให้ใช้ผิวจราจรน้อยที่สุด เพื่อลดปัญหาการจราจรบริเวณถนนเจริญนครและถนนกรุงธนบุรี และเมื่อเปรียบเทียบรูปแบบระบบขนส่งใต้ดินจะใช้ต้นทุนค่าก่อสร้าง 3,500-4,500 ล้านบาท/กม. ต้นทุนการดำเนินการ 2.0-2.5 บาท/คน-กม. และใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 24-30 เดือน ส่วนระบบขนส่งยกระดับมีต้นทุนค่าก่อสร้าง 1,200-1,600 ล้านบาท/กม. ต้นทุนการดำเนินการ 1.5-2.0 บาท/คน-กม. และใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 8-10 เดือนเท่านั้น
ขอบคุณข่าวจาก: ประชาชาติธุรกิจ
บทความที่แนะนำ: