ประโยชน์จากการสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯ คงจะพิจารณาจากหอชมเมืองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไอคอน สยาม ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังโครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ประกอบไปด้วย สยามพิวรรธน์ แมกโนเลีย และเครือเจริญโภคภัณฑ์
วันนี้ (29 มิ.ย.2560) กลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังโครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ไอคอน สยาม ซึ่งเป็นโครงการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามูลสูงสุดที่สุดในประวัติศาสตร์ เริ่มต้นเมื่อปี 2555 ประกอบด้วยคอนโดมิเนียมหรูริมน้ำ โรงแรม 5 ดาว มีศูนย์ประชุม ห้างสรรพสินค้า ศูนย์กีฬา และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกว่าครบวงจร มูลค่าการลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ย่านคลองสาน
ไอคอน สยาม มีกลุ่มทุน 3 กลุ่มจับมือกัน คือสยามพิวรรธน์ แมกโนเลีย และเครือเจริญโภคภัณฑ์ หากแยกตามกิจการที่ 3 กลุ่มทำอยู่ สามาถจำแนกได้ดังนี้ สยามพิวรรธน์ คือเจ้าของสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัพเวอรี่ และร่วมกับกลุ่มเดอะมอลล์ สร้างสยามพารากอน นี่แค่ตัวอย่างยังเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อีกมากมาย ผู้ถือหุ้นใหญ่ เช่น บริษัท เอ็มบีเค หรือเจ้าของธุรกิจห้างมาบุญครอง ถือหุ้นใหญ่ มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นรองลงมา
ส่วนกลุ่มที่ 2 แมกโนเลีย กลุ่มบริษัทที่ที่ทำที่พักอาศัยเจาะตลาดลูกบ้านระดับบนทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม แมกโนเลีย เป็นบริษัทในเครือของซีพี ที่แตกไลน์ออกมาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสุดท้าย เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่มซีพี ซึ่งธุรกิจของซีพีมีอยู่เป็นจำนวนมาก ในทางเทคนิคจะเห็นว่ามี 3 กลุ่ม แต่แมกโนเลียกับซีพี คือเครือเดียวกัน สรุปได้นี่คือการจับมือกันระหว่าง ซีพี กับสยามพิวรรธน์
นี่คือเบื้องหลังกลุ่มธุรกิจไอคอน สยาม แต่เมื่อจะสร้างหอชมเมือง 2 กลุ่มธุรกิจยักใหญ่นี้ได้ตั้งมูลนิธิหอชมเมืองขึ้นมา มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธานมูลนิธิ และนายสิมะ ยังเป็นกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ถือหุ้นอยู่ในสยามพิวรรธน์ 4,000 กว่าล้านบาท ที่จะสร้างหอชมเมืองส่วนหนึ่งเอกชนช่วยกันระดมทุน อีกส่วนกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้นใหญ่โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะเห็นความเชื่อมโยงกันทั้งหมด
ส่วนการที่หอชมเมืองมาเกี่ยวกับรัฐ เนื่องจากจุดที่จะก่อสร้างเป็นที่ราชพัสดุ จึงต้องให้ ครม.อนุมัติ และถ้าจะไม่ประมูลก็ต้อง ครม.อนุมัติเช่นกัน ถ้ามองในมุมของรัฐ ทำไมจึงไม่เปิดประมูล ทำไมจึงปล่อยเช่าราคาถูกเกือบ 200 ล้านบาท ตลอด 30 ปี เฉลี่ยปีละ 6 ล้านกว่าบาทเท่านั้น คำตอบ คือ ไอคอน สยาม เป็นของกลุ่มสยามพิวรรธน์และซีพีอยู่แล้ว คงไม่มีเอกชนรายไหนกล้าเข้ามาลงทุนอยู่ใจกลางโครงการของ 2 ยักษ์ใหญ่ เพราะลำพังหอชมเมืองอย่างเดียวอาจจะไม่ได้สร้างรายได้อะไรมากมาย แต่มันคือส่วนประกอบของ ไอคอน สยาม คนทำก็ควรจะเป็นกลุ่มเดียวกับ ไอคอน สยาม
นอกจากนี้ ที่ดินผืนนี้เป็นที่ตาบอด เข้าออกได้แค่ทางน้ำ ตำรวจน้ำเคยใช้งานอยู่ แต่ยกเลิกไปแล้ว รัฐอาจจะมองว่าปล่อยเช่าดีกว่าไม่ได้อะไรเลย และรัฐไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว ถ้าสร้างเสร็จกรุงเทพฯ ก็จะมีหอชมเมืองเป็นสัญลักษณ์เป็นแลนมาร์คแห่งใหม่ โดยที่รัฐร่วมลงทุนแค่ให้เช่าที่ดิน ค่าเช่าอาจจะไม่ได้มากเพียงปีละ 6 ล้านกว่าบาท แต่ถ้าเทียบกับหอชมเมืองที่ได้มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ดูคุ้มค่า นี่คือเหตุผลของฝ่ายรัฐที่บอกว่าคุ้ม
ที่มา : thaipbs