ครั้งแรกกับนวัตกรรมการก่อสร้างโครงการอาคารที่พักอาศัยหลากอรรถประโยชน์ในยุคแห่งการใช้พลังงานทดแทน ที่นำเสนอการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีการเก็บรักษาและแปรเปลี่ยนพลังงานออกมาในรูปของก๊าซไฮโดรเจน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “The Phisuea House” หรือ “บ้านผีเสื้อ”
เมื่อเร็วๆนี้ Mr.Sebastian-Justus Schmidt เจ้าของโครงการ และ ผู้นำความคิดริเริ่มสร้างสรรค์โครงการบ้านผีเสื้อ จัดงานแถลงข่าว นวัตกรรมการก่อสร้างโครงการอาคารที่พักอาศัยหลากอรรถประโยชน์ในยุคแห่งการใช้พลังงานทดแทน ที่นำเสนอการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีการเก็บรักษาและแปรเปลี่ยนพลังงานออกมาในรูปของก๊าซไฮโดรเจน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “The Phisuea House” หรือ “บ้านผีเสื้อ” ณ ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
บ้านผีเสื้อ มีจุดเด่นอยู่ที่ระบบการบริหารจัดการพลังงานอย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติสูงสุด แม้ว่าจะอยู่ในที่อันแสนห่างไกล ทุรกันดารเพียงไหนก็ตาม เพราะด้วยระบบที่ถูกตั้งค่ามาอย่างดี ทำให้สามารถแยกส่วนการทำงานอย่างเป็นอิสระต่อกัน จึงสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพการณ์ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการอันหลากหลายได้อย่างง่ายดายผ่านระบบโครงข่ายที่ถูกวางไว้แล้วอย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ Mr. Sebastian-Justus Schmidt ผู้ริเริ่มแนวคิดในการประกบคู่เข้าหากันของเทคโนโลยีอันทันสมัย จากฝั่งยุโรป กับ ภูมิประเทศเขตร้อนชื้นที่มีแสงแดดให้ใช้เหลือเฟืออย่างในประเทศไทย โดยการสร้างระบบโครงข่ายการกักเก็บพลังงานขนาดย่อมขึ้น (Micro-Grid) เป็นศูนย์กลางในการเก็บและจ่ายพลังงานออกไปในรูปของไฟฟ้าให้กับทั่วอาณาบริเวณโครงการบ้านผีเสื้อ ซึ่งประกอบด้วย อาคารที่พักอาศัยของครอบครัว 4 หลัง และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
กระบวนการในการเก็บกักพลังงานนั้น เป็นการผสมผสานที่ลงตัวของระบบแบตเตอรี่และระบบไฮโดรเจน ในลักษณะแบบลูกผสมไฮบริด โดยในขณะที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าในปริมาณมากยามค่ำคืนนั้น ระบบแบตเตอรี่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนระบบพลังงานไฮโดรเจนในช่วงที่มีการใช้พลังงานสูงสุด โดยพลังงานทั้งหมดที่ถูกนำมาใช้ในโครงการ จะถูกสร้างขึ้นผ่านแผงรับโซล่าเซลล์ภายนอกได้สูงสุดถึง 86 kW.
ในกรณีที่ยังได้รับพลังงานแสงอาทิตย์ต่อเนื่องมากเกินกว่านั้น ก็จะนำไปสู่กระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) ทำให้ได้ก๊าซไฮโดรเจนออกมาและนำไปเก็บรักษาไว้ในแทงก์ ซึ่งการเก็บกักพลังงานดังกล่าวถือเป็นระบบไฮบริดลูกผสมระหว่างแบตเตอรี่และไฮโดรเจนนั่นเอง แท้งก์ไฮโดรเจนสามารถเก็บกักพลังงานได้ถึง 130 kWh จัดว่าพอเพียงสำหรับความต้องการการใช้พลังงานไฟฟ้า ในโครงการ ที่ 4 kW อย่างต่อเนื่อง 30 ชม. ผ่าน เซลล์กำเนิดไฟฟ้า(Fuel cell)
คำพูดที่เป็นแรงบันดาลใจของ Mr.Sebastian ที่ได้กล่าวไว้จากใจจริงจึงเปรียบเสมือน แรงผลัก กระตุ้นเตือนใจให้กับมนุษย์ทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ ว่า “พวกเราทุกคนควรที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อให้โลกของเราเป็นโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น ณ วินาทีนี้ ครอบครัวของเรา กำลังทำให้ส่วนที่เหลืออยู่ในโลกใบนี้สวยงามยิ่งขึ้น ผ่านการรับ และ ส่งมอบ องค์ความรู้ให้กระจายออกไปในวงกว้าง โดยไม่ได้คาดหวังถึงมูลค่าใดอื่นแอบแฝง เรามีจุดมุ่งหมายที่จะลดปริมาณการรบกวนทรัพยากรจากระบบนิเวศให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราในฐานะชาวต่างชาติที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาพำนักอาศัยในท้องที่ จากปณิธานดังกล่าว CNX Construction ซึ่งเป็นบริษัท ในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทยเลยถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาองค์ความรู้ การสร้างสรรค์ นวัตกรรม การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อการอยู่อาศัยที่แตกต่างอย่างยั่งยืน ผ่าน โมเดลต้นแบบ โครงการ ”บ้านผีเสื้อ”
ที่มา : chiangmainews