กำลังเป็นที่จับตา หลัง “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” เปลี่ยนตัวจาก “วุฒิชาติ กัลยาณมิตร” เป็น “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” รองอธิบดีกรมทางหลวง หนึ่งในกรรมการบอร์ด ร.ฟ.ท.ที่ “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ตั้งให้เป็นรักษาการเก้าอี้ผู้ว่าการการรถไฟฯ หวังใช้ความรู้วิศวะขับเคลื่อนงานประมูลและก่อสร้างโครงการใหญ่ในมือร.ฟ.ท.ที่รัฐจัดสรรเม็ดเงินให้จำนวนมหาศาล ผลิดอกออกผลในเร็ววัน
หนึ่งในการขับเคลื่อนนอกจากแม่ทัพใหม่จากม.44 ยังมี “พิชิต อัคราทิตย์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแลร.ฟ.ท.โดยตรง เป็นผู้คุมนโยบายให้ไปในทิศทางเดียวกับโรดแมปของรัฐบาล คสช.
นายอานนท์ระบุสั้นๆ จะเร่งสางปัญหาประมูลทางคู่ 5 เส้นทางให้เสร็จโดยเร็ว ส่วนจะล้มประมูลหรือเดินหน้าต่อขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง หรือซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างจะตรวจสอบทีโออาร์และราคากลางประมูลโครงการ หากให้ประมูลใหม่จะทำให้เสียเวลาอย่างน้อย 2 เดือน
ขณะที่ “พิชิต” เตรียมการบ้านให้ “อานนท์” เร่งเดินหน้าและเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ “สั่งการให้รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯ คนใหม่ เร่งรัดงานตามนโยบายของรัฐบาลให้เสร็จในปีนี้ทั้งหมด เพราะล่าช้ามานานมากแล้ว”
โดยเร่งรัดประมูลรถไฟทางคู่ 15 โครงการเงินลงทุนร่วม 5 แสนล้านบาท มีทั้ง 5 เส้นทางที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และระยะที่ 2 ลงทุนต่อปีนี้ 10 เส้นทาง มีตัดใหม่ 2 เส้นทาง อีกทั้งให้ตั้งบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์เพื่อบริหารที่ดินทั่วประเทศ ทั้งดูแลสัญญาเช่าเดิมและต่อสัญญาใหม่มีอยู่กว่า 1.4 หมื่นสัญญา และเร่งเปิดประมูลที่ดินแปลงใหญ่ เช่น สถานีกลางบางซื่อ 218 ไร่ แม่น้ำ 277 ไร่ มักกะสัน 497 ไร่ ย่าน กม.11 พื้นที่ 359 ไร่ และที่ดินรอบสถานีรถไฟในหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ เพื่อนำรายได้จากค่าเช่ามาชดเชยภาระหนี้ที่ขาดทุนสะสม 103,197 ล้านบาท ตั้งเป้าจะมีค่าเช่าเพิ่มขึ้นจากปีละ 2-3 พันล้านบาท เป็น 1 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังให้เร่งลงทุนรถไฟความเร็วสูง 4 สายทาง รวม 1,039 กม. เงินลงทุน 651,029 ล้านบาท ได้แก่ รถไทย-จีนกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253.5 กม. วงเงิน 179,412 ล้านบาท รถไฟไทย-ญี่ปุ่นกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 384 กม. วงเงิน 224,416 สายกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. วงเงิน 94,673 ล้านบาท และกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193.5 กม. วงเงิน 152,528 ล้านบาท
นายพิชิตกล่าวว่า “อยากให้เร่งสายกรุงเทพฯ-ระยองเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นโครงข่ายเชื่อมกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรืออีอีซีที่รัฐต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมภายในปีนี้จะให้เอกชนลงทุนแบบ PPP ทั้งก่อสร้างเดินรถและพัฒนาพื้นที่รอบสถานี เพื่อสร้างรายได้ระยะยาวให้รถไฟ”
ตลอดจนเร่งประมูลโครงการถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,156.96 ล้านบาท ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง) กว่า 3.1 หมื่นล้านบาท และเร่งงานก่อสร้างรถไฟสายสีแดงบางซื่อ-รังสิตให้เสร็จทันเปิดใช้ในปี 2563 และส่วนต่อขยายรังสิต-ธรรมศาสตร์ วงเงิน 7,596 ล้านบาท และตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา วงเงิน 19,042 ล้านบาท
สำหรับการจัดหาหัวรถจักรและล้อเลื่อนในแผนงาน ใช้เงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ที่จัดซื้อแล้วมีดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ 20 คัน วงเงิน 3,300 ล้านบาท ซื้อจากจีน กำลังจะประมูลมีรถจักรดีเซลไฟฟ้าทดแทนรถ GE จำนวน 50 คัน วงเงิน 6,562.5 ล้านบาท และจัดหารถดีเซลราง 186 คัน วงเงิน 13,505 ล้านบาท การซ่อมบูรณะรถจักรดีเซลไฟฟ้าอัลสตอม 56 คัน วงเงิน 3,360 ล้านบาท
ทุกโครงการล้วนเป็นแผนที่คิดและพูดถึงกันมานาน ผ่านมาไม่รู้กี่รัฐบาล จะมาสำเร็จในยุครัฐบาล คสช.หรือไม่ เป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งนัก
ที่มา Koratstartup
บทความแนะนำ