เรียกได้ว่ามีข่าวความคืบหน้ากันมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ซึ่งจุดประสงค์เพื่อรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี จากการที่เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของประเทศ และเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของชาวไทยและต่างชาติ
สนามบินนานาชาติเชียงใหม่นั้นได้เปิดบริการครบมาครบ 30 ปี เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยปีที่แล้วมีอากาศยานพาณิชย์ขึ้น-ลง ทั้งหมด 71,994 เที่ยวบิน มีสายการบินประจำในประเทศ 8 สายการบิน ใน 13 เส้นทาง และระหว่างประเทศ 26 สายการบิน ใน 23 เส้นทาง เฉลี่ย 221 เที่ยวบินต่อวัน มีผู้โดยสาร 10.23 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 8.30 มีผู้โดยสารเดินทางระหว่างประเทศราวๆ 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9.72 % ซึ่งเป็นชาวจีนถึง 1.42 ล้านคน และมีปริมาณขนถ่ายสินค้าจำนวน 17,303 พัสดุภัณฑ์
สนามบินแห่งนี้มีศักยภาพในรองรับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคนต่อปี แต่ปีที่ผ่านมามีผู้ใช้งานเกินกว่า 10 ล้านคน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จึงต้องปรับการคาดการณ์จากเดิมปี 2568 จะรองรับได้ 18 ล้านคน มาเป็นเป้าปี 2565 ส่วนปี 2574 จะรองรับได้ 20 ล้านคน ก็ร่นมาเป็นปี 2568
จากข้อมูลฝ่ายบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ”ทอท” ระบุว่าเบื้องต้นจะเน้นแก้ปัญหาระยะสั้นในสนามบินเชียงใหม่ และสนามบินภูเก็ตก่อน
แม้จะเร่งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนขยายพื้นที่บริการ ภายใต้คุณภาพระดับสากลมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) มาโดยตลอด ก็ยังไม่ทันต่ออัตราเติบโตของปริมาณผู้โดยสาร
ในปีนี้สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ได้เร่งปรับปรุงหลายด้านเช่น เพิ่มพื้นที่บริเวณหน้าชานชาลาอาคารผู้โดยสาร จัดเจ้าหน้าที่ตรวจค้นให้เพียงพอกับจำนวนเครื่องเอ็กซเรย์ และอีกหลายๆ แผน จากนั้นปี 2562 จะพัฒนาพื้นที่ดาดฟ้าชั้น 2 ให้เป็นห้องโถงผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ เป็นต้น ด้วยงบพัฒนาต่อเนื่องเกือบ 2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ทอท.วางแผนลงทุนระยะ 10 ปี (2558-2568) ใช้งบฯ ลงทุน 2.2 แสนล้านบาท ปรับแผนให้รองรับกับศักยภาพจริงที่มีผู้โดยสารใช้บริการแต่ละสนามบิน สำหรับพื้นที่สร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 จะอยู่บริเวณ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน รัฐบาลมีนโยบายจะสร้างไว้รองรับลูกค้าระดับแมสที่เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี ส่วนที่เดิมจะรองรับลูกค้าระดับไฮเอนด์
สนามบินแห่งที่ 2 จะรองรับผู้ใช้บริการได้ 10 ล้านคน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเสนอให้บอร์ดเห็นชอบในหลักการช่วง เม.ย.- พ.ค.นี้ พร้อมสนามบินภูเก็ต ส่วนจะเริ่มลงทุนเมื่อไหร่ต้องขึ้นอยู่กับการผลักดันอย่างจริงจังของภาครัฐด้วย ที่น่ากังวลคือ หาก 2 สนามบินแห่งใหม่ไม่เสร็จใน 10 ปีนี้ความแออัดของสนามบินจะอลหม่านกว่านี้
อย่างไรก็ตามแผนพัฒนาสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 มีภาคเอกชนทั้งร่วมทุนไทยและทุนจีน เช่นกลุ่มจินเป่ยให้ความสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่อำเภอดอยหล่อ โดยพร้อมระดมทุนเพื่อลงทุนให้ในวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท มีเงื่อนไขร่วมบริหารระยะหนึ่ง ซึ่งนำเสนอจังหวัด และเข้าพบตัวแทนรัฐบาล เมื่อ 9 สิงหาคม 2560 แล้ว แต่ท้ายที่สุดรัฐบาล ฟันธงพื้นที่ก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งใหม่ ที่บ้านธิ ลำพูน ส่วนการดำเนินงานตามแผนก็อย่างที่ทราบๆกัน เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น
ที่มา : chiangmainews
Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania