โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เริ่มมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.60 ที่ผ่านมา ได้มีการเริ่มต้นก่อสร้างระยะทางช่วงแรกเริ่มก่อสร้างจากสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร หลังจากนั้นจะทยอยสร้างให้เสร็จและเปิดใช้งานในปี 2564 แต่หลายๆ คนก็อาจจะคิดว่า รถไฟความเร็วสูงของจีนจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และจะมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่?
เพื่อสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพของรถไฟให้คนไทย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน จึงได้นำสื่อมวลชนไทย นั่งรถไฟความเร็วสูงจากกรุงปักกิ่ง ไปชมโรงงานผลิตรถไฟที่เมืองชิงเต่า
นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน
ตลอดการดูงานครั้งนี้ คณะสื่อมวลชนไทย ได้รับการอำนวยความสะดวกจาก สำนักข่าวซินหัว เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่จะไปเยี่ยมชม โดยเริ่มต้นกันที่ บริษัทซีอาร์อาร์ซี บริษัทรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ที่รับงานผลิตขบวนรถไฟของจีนส่งขายในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงประเทศไทยด้วย
นางหลี่ หมิ่น รองผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์ บริษัทซีอาร์อาร์ซี บรรยายให้ทราบถึงวิวัฒนาการรถไฟของจีนไว้ว่า เดิมทีได้ผลิตขบวนรถไฟแบบธรรมดา ผสมกับรถไฟเพื่อการขนส่ง แต่ในช่วงปี 2547 ก็ได้เริ่มนำเข้าเทคโนโลยีรถไฟจากต่างประเทศ ทั้งฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเยอรมนี เพื่อนำมาเรียนรู้ และต่อยอดพัฒนาเป็นเทคโนโลยีของตัวเอง จนสามารถมีเทคโนโลยีผลิตรถไฟความเร็วสูงเป็นของตัวเอง จากนั้นได้พัฒนาเรื่องรถไฟอย่างเรื่อยมา จนตอนนี้มีขบวนรถที่วิ่งอยู่ที่ความเร็ว 300-350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนาความเร็วไปอีกขั้น โดยนำรถไฟความเร็วสูงขบวนใหม่ ชื่อว่า ฟู่ชิง มาทดลองวิ่งในเส้นทางจากปักกิ่งไปเซี่ยงไฮ้ โดยทำความเร็วเฉลี่ย 380 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยคือ หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถสั่งหยุดรถระยะไกลได้ และสามารถเผชิญทุกสภาพอากาศ ซึ่งรองรับตั้งแต่ -40 องศาเซลเซียส ถึง 45 องศาเซลเซียส
นางหลี่ หมิ่น เผยว่า ปัจจุบันประเทศจีน มีระยะทางรถไฟติดอันดับโลก ซึ่งมีกว่า 22,000 กิโลเมตร กว่า 2,000 ขบวน และยังมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถผลิตขบวนรถไฟได้ประมาณ 5,000 ตู้ต่อปี ในอนาคต บริษัทซีอาร์อาร์ซีตั้งเป้าหมายพัฒนาเทคโนโลยีให้ถึงระดับโลก เพราะเรามีการตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาระดับชาติกว่า 20 แห่งที่ครอบคลุมไปทั่วโลก รวมถึงมีในประเทศไทยด้วย ซึ่งในปี 2563 จะพัฒนารถไฟความเร็วสูง ความเร็วเฉลี่ยสูงกว่า 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถวิ่งบนรางที่มีความกว้างขนาดที่แตกต่างกันได้ นางหลี่ หมิ่น กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
หลังจากรับทราบข้อมูลจากบริษัทซีอาร์อาร์ซีแล้ว คณะสื่อมวลชนไทย ได้มีโอกาสนั่งรถไฟความเร็วสูงจากกรุงปักกิ่งมายังเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง และถือโอกาสทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงไปในตัว ตลอดการเดินทางที่ได้สัมผัส พบว่ารถไฟจะทำความเร็วที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงของสถานี แต่ได้ทำความเร็วสูงสุดที่ 309 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีความเงียบไร้เสียงรบกวนจากภายนอก
คณะสื่อมวลชนไทยเข้าฟังบรรยายสรุปเรื่องการสร้างรถไฟความเร็วสูง และเทคโนโลยีทันสมัยที่นำมาใช้ ที่บริษัท ซีอาร์อาร์ซี กรุงปักกิ่ง ส่วนระยะทางระหว่าง 2 เมือง ห่างกัน 819 กิโลเมตร เทียบได้กับกรุงเทพฯ-เชียงราย ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง30 นาที นายเซียะ จิงเฉิง ผอ.แผนกความร่วมมือต่างประเทศ ได้นำชมเทคโนโลยีบางส่วนของการผลิตรถไฟความเร็วสูง โดยทางบริษัทได้นำระบบเทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ Virtual Reality (VR) ภาพจำลองขบวนรถไฟอย่างละเอียด พร้อมทั้งยังมีระบบทดสอบชิ้นส่วนต่างๆ ว่ามีปัญหาหรือไม่ ก่อนที่จะมีการก่อสร้างจริง
จากนั้นได้นำไปชมกระบวนการการผลิต ทั้งนี้ โรงงานในเมืองชิงเต่าสามารถผลิตขบวนรถไฟความเร็วสูงในแบบสำเร็จได้วันละ 6 ตู้ หรือ 180 ตู้ต่อเดือน
สำหรับการผลิตขบวนรถไฟให้กับประเทศไทยนั้น นายกง รุ่ยหมิง รองผู้จัดการการตลาดต่างประเทศ บริษัทซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซือฟาง เผยว่า มีความพร้อมสนับสนุนและผลิตรถไฟความเร็วสูง โดยสามารถจัดสร้างขบวนรถไฟได้ตามความต้องการในรูปแบบต่างๆที่เหมาะกับประเทศไทย รถไฟความเร็วสูงทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ที่จะช่วยพัฒนาตลอด 2 ข้างทาง เชื่อว่าถ้ารถไฟความเร็วสูงที่สร้าง ในระยะเริ่มต้น กรุงเทพฯ-นครราชสีมา แล้วเสร็จ ชาวไทยจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน นายกง รุ่ยหมิง กล่าว
ในเวลา 10 กว่าปี จีนพัฒนาการรถไฟของตนเองจนสามารถเติบโตมีเทคโนโลยีทันสมัยและพร้อมที่จะพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด บวกกับความสามารถในการผลิตในประเทศที่มีกำลังสูง เพราะมีเส้นทางรถไฟจำนวนมากติดเป็นอันดับโลก และยังมีการจำหน่ายให้กับหลายประเทศ จึงน่าจะเป็นข้อมูลให้เชื่อมั่นได้ว่ารถไฟจากจีนสามารถมาวิ่งบริการในไทยได้ และไทยเองก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มากขึ้นเพื่อจะสามารถพัฒนาและมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองในอนาคตด้วยเช่นกัน