ระบบต่าง ๆ ภายในบ้านนั้นมีความสำคัญไม่แพ้งานด้านอื่น โดยเฉพาะระบบการให้แสงสว่างภายในบ้าน เนื่องด้วยเป็นระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นในการดำรงชีวิต สำหรับผู้ที่กำลังมีแนวโน้มจะต่อไฟฟ้าเข้าบ้านต้องมาทำความเข้าใจกับระบบไฟฟ้าในบ้านเสียก่อน
ระบบไฟฟ้าที่ใช้ในบ้านเรือนเป็นกระแสสลับระบบ 1 เฟส 2 สาย แรงดัน 220 โวลต์ ความถี่ 50 เฮิรตซ์ โดยสายไฟ 2 สายที่ใช้ สายหนึ่งจะมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่หรือเรียกว่าสายเคอร์เรนต์ (current line) ส่วนอีกสายจะเป็นสายนิวทรัล (neutral line) ที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่
สังเกตได้จากปลั๊กไฟตามบ้านที่มีช่องเสียบอยู่ 2 ช่อง ช่องหนึ่งจะมีไฟฟ้าไหลผ่านส่วนอีกช่องไม่มี เวลาใช้งานกับหลอดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้ร่วมกันทั้ง 2 สายเพื่อให้กระแสไฟฟ้าครบวงจร แต่ปัจจุบันบ้านส่วนใหญ่จะมีปลั๊กไฟ 3 ช่อง ช่องที่เพิ่มขึ้นมานั้นเป็นช่องที่ต่อกับสายดิน (ground) เพื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลลงดินเวลาเกิดไฟรั่วเป็นการเพิ่มความปลอดภัยนั่นเอง
สายไฟ หากภายในบ้านเราเลือกใช้ระบบไฟฟ้าภายในอาคารโดยวิธีร้อยสายไฟในท่อและฝังในผนังและเดินท่อไว้บนเพดาน ท่อที่นำมาใช้นั้นควรเป็นท่อสำหรับงานระบบไฟฟ้าเท่านั้น (ท่อพีวีซีสีเหลือง) และท่อของระบบไฟฟ้าในบ้านนั้น ไม่ควรรวมกับสายรับสัญญาณโทรศัพท์และสัญญาณโทรทัศน์ ต้องแยกให้ชัดเจน และมีระยะห่างของท่ออย่างน้อย 3.5 เซนติเมตร
สวิสซ์และปลั๊ก ชนิดฝังเรียบกับผนังก่ออิฐฉาบปูน ควรมีการฝังบล็อคหรือกล่องรับไว้ก่อน เพื่อใช้สำหรับยึดกันในภายหลัง หรือกรณีมีจุดพักสายไฟฟ้าใต้เพดาน บล็อคหรือกล่องรับควรเป็นชนิดบล็อคเหล็ก เพราะมีอายุใช้งานยาวนานกว่าบล็อคพีวีซีหรือไม้ ระยะความสูงของสวิสซ์แสงสว่าง จากพื้น-ตำแหน่งที่ติดตั้ง 1.20 เมตร และความสูงของปลั๊กไฟฟ้าที่ 40 เซ็นติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่สะดวกต่อการใช้งานโดยทั่วไปมากที่สุด
การต่อสายเมนไฟฟ้าออกจากหลังคาบ้านมายังมิเตอร์ไฟฟ้า(เสาไฟฟ้า) ควรใช้สายไฟฟ้าชนิดสายทองแดงหุ้มฉนวน PVC แบบสายเดี่ยว (THW#35 Sq.mm.) โดยสายเมนนั้น ควรเผื่อความยาวของสายไฟฟ้าไว้อย่างน้อย 50 เซนติเมตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฯ สามารถต่อสายไฟฟ้าเข้ากับมิเตอร์ไฟฟ้าได้
การขอใช้ไฟฟ้า เมื่อมีการเดินสายไฟฟ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าของบ้านจะต้องไปดำเนินการขอใช้ไฟฟ้าโดยเตรียมเอกสารสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สำเนาใบอนุญาตก่อสร้าง สำเนาโฉนดที่ดิน พร้อมกับชำระค่าธรรมเนียม (ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า) ซึ่งจะเสียตามขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านเรานั่นเอง
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อควรรู้คร่าว ๆ เท่านั้น งานระบบไฟฟ้าในบ้านนั้นยังมีรายละเอียดที่จำเป็นอีกมากที่เจ้าของบ้านควรศึกษาเพื่อตรวจสอบงานจากผู้รับจ้าง และเพื่อให้การขออนุญาตต่าง ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องและรวดเร็ว