Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เร่งรฟม.ส่งมอบพื้นที่สร้างโมโนเรล ช้า 3 เดือนหวั่นกระทบแผนเปิดหวูดชมพู-เหลือง

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

 

บีทีเอสเร่งยก รฟม.ส่งมอบพื้นที่สร้าง”โมโนเรล”สายสีชมพู-เหลือง หลังดีเลย์มาแรมเดือน หวั่นหลุดเป้า พ.ค.นี้ กระทบแผนเปิดหวูด ต้นทุนก่อสร้าง กรอบสัญญาเงินกู้ 3 แบงก์ใหญ่ วงเงิน 6.3 หมื่นล้าน รฟม.ประสาน กทม. กรมทางหลวง เคลียร์แบบวางตอม่อ กฟน.ทุ่ม 7 พันล้านดึงสายไฟลงใต้ดิน ปรับภูมิทัศน์ติวานนท์ แจ้งวัฒนะ รามอินทรา ลาดพร้าว ศรีนครินทร์ เทพารักษ์ ถนนไร้สาย

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับจากกลุ่มบริษัท BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้งส์ เซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 46,643 ล้านบาท และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 45,797 ล้านบาท กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2560 ถึงขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นนับหนึ่งสัญญาก่อสร้าง เนื่องจาก รฟม.ยังไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ คาดว่าจะเป็นภายในเดือน พ.ค. 2561 นี้

บีทีเอสรอได้ถึง พ.ค.นี้

“การส่งมอบพื้นที่ล่าช้าจากแผน จากเดิมคาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ในเดือน ก.พ. 2561 แต่ที่ผ่านมาบริษัทก็เข้าพื้นที่ในบางจุดที่สามารถดำเนินการได้แล้ว เพื่อทำการทดสอบเสาเข็มที่จะใช้ก่อสร้างทั้ง 2 โครงการแล้ว เมื่อได้รับส่งมอบพื้นที่อย่างเป็นทางการบริษัทจะเร่งงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดสัญญา 3 ปี 3 เดือน หรือเปิดบริการในปี 2564”

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หากบริษัทยังไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างเพื่อเริ่มต้นสัญญางานโครงการภายในเดือน พ.ค.นี้ อาจจะมีผลกระทบต่อบริษัทในแง่ของค่าใช้จ่ายที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ รวมถึงกรอบเวลาในเซ็นสัญญาการกู้เงินกับสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนโครงการ เนื่องจากในการเซ็นสัญญาเงินกู้จะระบุว่าจะเริ่มงานเมื่อไร หากเลยจากที่กำหนด ทางบริษัทจะต้องหารือกับธนาคาร ธนาคารจะยืดระเวลาการกู้เงินหรือเปลี่ยนเงื่อนไขหรือไม่

หวั่นต้นทุนบานปลาย

“ไม่ใช่เราจะใช้เงื่อนนี้ไปเร่ง รฟม. แต่เราเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงการ อยากจะบอกว่าถ้าเริ่มงานจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะที่ผ่านเราเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทซัพพลายเออร์ผู้ผลิตระบบรถ และแบงก์ที่ให้กู้ จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น เช่น ค่าจ้าง ค่าฟี ค่าใช้จ่ายในสำนักงานโครงการ เท่ากับทุนจดทะเบียนกว่า 3,000 ล้านบาทต่อโครงการ รวม 2 โครงการก็ประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ยังไม่เริ่มนับ แต่มีเงินค่าเสียโอกาสเกิดขึ้นหากล่าช้า อีกทั้งอาจจะกระทบต่อการเปิดใช้ด้วยเช่นกัน”

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 ได้เซ็นสัญญาเงินกู้จำนวน 63,360 ล้านบาท กับธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับลงทุนก่อสร้างสถานี ทางวิ่งยกระดับ งานระบบ เครื่องกล ระบบอาณัติสัญญาณ ขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ ทั้ง 2 สายทาง แยกเป็นของสายสีชมพู 31,680 ล้านบาท และสายสีเหลือง 31,680 ล้านบาท เป็นสัญญากู้เงินระยะยาว 14 ปี จะเริ่มชำระนับจากปีที่เปิดเดินรถ

รฟม.เร่งประสาน กทม.-ทางหลวง

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า จะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับกรมทางหลวง (ทล.) ส่งมอบพื้นที่สายสีชมพูกับสีเหลืองให้เอกชนภายในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อเร่งงานก่อสร้างให้เสร็จตามแผนเปิดใช้บริการในปี 2564

ปัจจุบันงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินของสายสีชมพูสร้างบนแนวถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะ รามอินทรา ดำเนินการแล้วเสร็จ 27.71% เร็วกว่าแผนงาน 0.03% จากตลอดเส้นทางมีผู้ถูกเวนคืน 434 ราย เป็นที่ดิน 640 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 761 หลัง ค่าเวนคืน 6,847 ล้านบาท

ส่วนสายสีเหลือง สร้างบนถนนลาดพร้าว ศรีนครินทร์ เทพารักษ์ ดำเนินการแล้วเสร็จ 43.78% เร็วกว่าแผน 4.63% จากตลอดเส้นทางมีผู้ถูกเวนคืน 198 ราย เป็นที่ดิน 298 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 284 หลัง ค่าเวนคืน 6,013 ล้านบาท

ปรับแบบก่อสร้างหลายจุด

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมจะเร่งส่งมอบพื้นที่ของสายสีชมพูกับสีเหลืองให้ รฟม.ภายในเดือน พ.ค. ขณะนี้รอการประสานงานจาก รฟม.เรื่องแบบก่อสร้าง เนื่องจากจะต้องมีการปรับแบบในบางบริเวณที่มีปัญหา อย่างสายสีเหลือง รฟม.ยินยอมปรับแบบและย้ายจุดก่อสร้างอาคารจอดรถของสถานีวัดศรีเอี่ยม จากเดิมขอใช้พื้นที่แขวงทางหลวงสมุทรปราการไปฝั่งตรงข้ามถนนบางนา-ตราด มีพื้นที่ว่าง 10 ไร่แล้ว ส่วนท่อระบายน้ำช่วงถนนศรีนครินทร์ให้ปรับแบบใหม่ ย้ายท่อระบายน้ำมาอยู่เกาะกลางถนนแทน

ส่วนสายสีชมพูมีปรับแบบหลายจุด เช่น ปรับระยะห่างเสาตอม่อช่วงถนนติวานนท์จาก 30 เมตร เป็น 40 เมตร ให้มีจุดกลับรถ 10 จุด ปรับตำแหน่งสถานีบริเวณแยกหลักสี่ ตรงข้ามกับไอทีสแควร์ ซึ่ง รฟม.ขอใช้พื้นที่หลังหมวดการทางหลักสี่ สร้างจุดจอดรถแท็กซี่เพื่อแก้ปัญหารถติด อีกจุดบริเวณถนนรามอินทรา หน้าโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี จุดตัดกับถนนสาย 350 (ถนนรัชดาฯ-รามอินทรา) ให้ รฟม.ปรับแบบเสาตอม่อให้สร้างคร่อมแลมป์ข้ามแยกแทน

“กรมพร้อมจะส่งมอบพื้นที่ให้ รฟม. แต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการประสานงานและส่งแบบรายละเอียดให้กรมพิจารณาแต่อย่างใด”

กฟน.ถือโอกาสดึงสายไฟลงใต้ดิน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ยังทุ่มเงิน 7,000 ล้านบาท เซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างสายสีชมพูกับสีเหลือง ให้ก่อสร้างท่อสายไฟฟ้าลงดินตลอด

แนวถนนที่รถไฟฟ้าพาดผ่านเพื่อปรับปรุงทัศนียภาพ แยกเป็น สายสีชมพู วงเงิน 4,400 ล้านบาท และสายสีเหลือง วงเงิน 3,900 ล้านบาท จะแล้วเสร็จพร้อมกับรถไฟฟ้าปี 2564

ที่มาและภาพประกอบ : prachachat

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร