ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งสงครามการค้า ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวน เงินบาทแข็งค่า และอีกหลายปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ท่าทาย ต่อการขับเคลื่อน 'เอสซีจี' องค์กรขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าธุรกิจหลักแสนล้าน โดยในปี 2561 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 478,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน โดยมีกำไรอยู่ที่ 44,748 ล้านบาท ลดลง 19% เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งแผนรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี มองว่า ต้องรับมือให้ได้ และทำอย่างดีที่สุด
“เอสซีจีเป็นองค์กรที่ส่งออกมากกว่านำเข้า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมเนื่องจากเป็นปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยบาทแข็ง 1.6 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ การทำตัวเองให้เบา หาตลาดใหม่ให้เยอะขึ้น พัฒนาศักยภาพธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” รุ่งโรจน์ กล่าว
ความท้าทาย อันดับแรก ต้นทุนวัตถุดิบซึ่งราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ความไม่แน่นอนมีสูงมาก เพราะไม่ใช่แค่ปัจจัยดีมานด์ ซัพพลายอย่างเดียว
ต่อมา สงครามการค้า อีก 1-2 เดือนก็น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร อย่างไรก็ตาม นับว่ามีผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจระดับหนึ่ง
สุดท้าย อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินแข็งมีผลกระทบแน่นอน
จากที่ประเมินไว้ นายรุ่งโรจน์ พบว่า ยังมีปัจจัยที่เห็นว่า มีแนวโน้มที่ดีคือการเจริญเติบโตของความต้องการซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างในไทยและอาเซียน เชื่อว่าจะส่งผลที่ดีได้ อย่างน้อยครึ่งปีแรกเป็นสัญญาณบวกอยู่ ส่วนครึ่งปีหลังคงต้องจับตามองกันต่อ
“ทำตัวให้เบา” ทั้งการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นเรื่องที่ต้องทำในเวลานี้ อีกส่วนที่ทำได้ก็คือ การรัดกุมเรื่องสินค้าคงคลัง กระบวนการทำงานสามารถปรับตัวให้เข้มแข็งขึ้นได้อีก"
สิ่งที่ต้องทำในปี 2562 ก็คือ “เร่งหาตลาดใหม่เพิ่ม” แม้บางเรื่องเป็นปัจจัยระดับโลก ที่เอสซีจี ไม่สามารถจะแก้ได้ทั้งหมด เช่น น้ำมัน สงครามการค้า แต่การหาตลาดใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ เอสซีจี สามารถทำได้ด้วยตัวเอง และเริ่มทำไปแล้วในไตรมาสที่ผ่านมาโดยเริ่มหาตลาดใหม่ใน จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา วันนี้เริ่มเห็นสินค้าเอสซีจีหลายๆ ตัวเข้าไปบุกตลาดแล้ว
อีกแนวทางที่ให้ความสำคัญอย่างมากในปีนี้ เป็นการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมูลค่าสินค้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
คอนสตรัคชั่น โซลูชั่น (Construction Solutions)เป็นตัวอย่างของการตอบโจทย์โครงการก่อสร้าง มีการนำความเชี่ยวชาญด้านการผลิตสินค้าคุณภาพสูงผสานกับเทคโนโลยีล้ำสมัย พัฒนาเป็น 9 โซลูชั่นหลัก ตัวอย่างเช่น Life-time Solution การให้บริการสำรวจความเสียหายโครงสร้างอาคารด้วยอุปกรณ์ทางวิศวกรรมที่แม่นยำก่อนออกแบบ การต่อเติม และเสริมกำลังโครงสร้าง
“ในปีนี้มุ่งให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ทันความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว”
แพ็คเก็จจิ้งมีโซลูชั่น จะได้เห็นมากขึ้นในธุรกิจแพคเกจจิ้ง เช่น การออกแบบ ดีไซน์ ควบคุมคุณภาพ การจัดส่งตามความต้องการลูกค้าให้เหมาะสม รุ่งโรจน์ ย้ำว่าจากนี้จะเห็นการพัฒนาส่วนนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง
ในอีกด้านของการทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่มากขึ้น จากนี้ เอสซีจี มุ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าให้มากขึ้น
เทคโนโลยี Blockchain ระบบที่จะเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินและคู่ค้าโดยอัตโนมัติ ให้สามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนา Robotic Process Automation (RPA) และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) ที่ช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของระบบการผลิต เป้าหมายเพื่อให้กระบวนการผลิตสินค้าทำออกมาอย่างมีคุณภาพและทันความต้องการของตลาด
รวมทั้ง การลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep technology) ที่ตอบโจทย์เทรนด์อนาคต เช่น New advanced materials, Clean technology
“เทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตตลอด Value chain ให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนได้มากขึ้น”
หนึ่งในภาพที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นในเอสซีจี ก็คือ การพัฒนาศักยภาพพนักงานภายใน ผ่านโครงการ “Internal Startup” วันนี้สามารถสร้างบุคลากรผู้มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าและธุรกิจได้แล้วกว่า 100 ทีม ในจำนวนนี้พัฒนาโมเดลธุรกิจให้ตรงความต้องการของตลาดได้แล้วกว่า 40 ทีม เช่น การทำแพลทฟอร์มรวบรวมกล่องอาหารเดลิเวอรี่พร้อมบริการสั่งทำโลโก้ที่เหมาะกับทุกรูปแบบธุรกิจ หรือระบบบริหารลูกค้าและติดตามการขายสำหรับร้านวัสดุก่อสร้าง
ในอีกด้านที่จะเห็นมากขึ้นในปีนี้ก็คือ การลงทุนในสตาร์ทอัพที่มากกว่าในปีที่ผ่านมา โดยเป็นการลงทุนในสตาร์ทอัพชั้นนำในหลากหลายภูมิภาค ผ่าน “AddVentures” เพื่อนำนวัตกรรมของสตาร์ทอัพมาต่อยอดกับธุรกิจหลักหรือสร้างเป็นธุรกิจใหม่ของเอสซีจี
“ท้ายที่สุด มองถึงการเอาเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งกับตัวสินค้า การบริหารจัดการ การจัดเก็บสินค้า ซ่อมบำรุงโรงงาน ให้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด”
มุมมองต่อแนวโน้มการทำธุรกิจในปี 2562 นายรุ่งโรจน์ เห็นว่า โดยรวมยังเห็นการเติบโตต่อเนื่องทั้งปัจจัยภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในธุรกิจซีเมนต์ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์สูงขึ้นจากการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประเมินว่าจะโตเพิ่มขึ้น 3-5%
อีกตลาดที่คาดว่าจะขยายตัวเช่นกันอยู่ที่ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในแต่ละประเทศจากแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะกัมพูชาในปีที่ผ่านมาการใช้ปูนซีเมนต์โตสองหลัก
ในส่วนของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในปี 2561 มีรายได้จากการขาย 182,952 ล้านบาท เพิ่มขึ้น4 % จากปีก่อน สำหรับภาพรวมปีนี้จะลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท จากที่ปี 2561 งบลงทุน ที่ 46,000 ล้านบาท
“ที่ผ่านมา เราทำมาตลอดและจะเร่งรัดให้มากขึ้น คือการเอานวัตกรรมมาใช้ในการตอบโจทย์ลูกค้า เช่น ตอบโจทย์การก่อสร้าง ผู้ใช้บรรจุภัณฑ์ และตอบโจทย์อุตสาหกรรม มุ่งหาของที่ดีขึ้น ราคาย่อมเยามาให้ลูกค้า นี่คือเป้าหมาย เอสซีจี ในการทำธุรกิจ” นายรุ่งโรจน์ กล่าว