Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เอสซีจี เซรามิกส์ จัดทัพ บริหารพอร์ตสินค้า-คุมต้นทุน สู้แข่งขันสูง

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

การเข้ามาของสินค้าเซรามิกจากจีน และต้นทุนแก๊สที่นับเป็นต้นทุนหลักในกระบวนการผลิตพุ่งสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่การจัดทัพครั้งใหม่เมื่อสิงหาคม 2561 โดยการควบรวม 5 บริษัทย่อยภายในเครือ SCG (The Siam Cement Group) ประกอบด้วย  บริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด (TCC)  บริษัท เดอะ สยาม เซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์ จำกัด (SGI) บริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด (SSG)  บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อิน ดัสทรี่ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เจมาโก จำกัด (GMG) มีผลให้ เอสซีจี เซรามิกส์ ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งใน 3 ผู้เล่นสำคัญในตลาดเซรามิกของไทยที่มีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตกระเบื้องสูงสุดรวมกันถึงปีละ 94 ล้านตารางเมตร

แผนการรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อสู้ศึกการแข่งขันที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมา นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายหลังการควบรวมกิจการทำให้บริษัทมี 3 แบรนด์หลักที่สร้างยอดขายครอบคลุมในแต่ละตลาด ได้แก่ คอตโต้ คัมพานา และโสสุโก้ โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีไลฟสไตล์แตกต่างกันอย่างชัดเจน

คอตโต้ (COTTO) เน้นกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และความล้ำสมัยมีความสวยงามที่แตกต่างโดดเด่น และเลือกสินค้าเพื่อสะท้อนตัวตนของผู้ใช้งาน

คัมพานา (CAMPANA) เน้นความเรียบง่ายให้อารมณ์อบอุ่น และสวยงามแบบธรรมชาติ

โสสุโก้ (SOSUCO) ลวดลายที่มีความหลากหลายสำหรับพื้นที่ใช้สอยโดยทั่วไป เจาะกลุ่มลูกค้าที่ชอบความสะดวกสบายและสินค้าที่ใช้งานง่าย

การจัดพอร์ตสินค้าดังกล่าว เกิดข้อดีกับ เอสซีจี เซรามิกส์ ในสองเรื่องหลัก คือ หนึ่ง การบริหารต้นทุน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และ สอง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

“บริหารต้นทุน” จากที่บางแบรนด์มีต้นทุนการผลิตสูงส่งผลให้แข่งขันได้ยากทางด้านราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสินค้าเซรามิกจากจีนเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การวางแผนด้านการผลิตใหม่ ซึ่งก็สะท้อนถึงภาวะต้นทุนการผลิตติดลบน้อยลง โดยในส่วนของการบริหารต้นทุน บริษัทมีแผนงานส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานในโรงงาน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการใช้พลังงานด้วย” นายนำพล กล่าว

สเต็ปต่อมาคือการ “เพิ่มขีดการแข่งขัน” เมื่อต้นทุนสู้ได้ จากนี้แผนรุกของเอสซีจี เซรามิกส์ มุ่งไปที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับตลาดในประเทศในปี 2562 จะเห็นความชัดเจนในการสร้างยอดขายโดยเน้นปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มช่องทางการขายเพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงลูกค้าทุกระดับ รวมทั้งเพิ่มสาขาพื้นที่ขาย คลังเซรามิก ให้ได้  100 สาขาภายใน 5 ปี ด้วยงบการลงทุน 6-10 ล้านบาทต่อแห่ง จากปัจจุบันที่มีสาขาที่เปิดให้บริการแล้วรวม 25 สาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ มีพื้นที่การขายเฉลี่ยของแต่ละสาขามากกว่า 1,200 ตารางเมตร ส่งผลให้ช่องทางจำหน่ายสินค้าครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพิ่มเติมจากการขายสินค้าผ่านผู้แทนจำหน่าย โมเดิร์นเทรด และ Flagship Store ที่  คอตโต้ สตูดิโอ   เอสซีจี เอ็กซ์พีเรียนซ์ และ VOA Space ที่ จ.ขอนแก่น

อีกแนวรุกสำหรับ เอสซีจี เซรามิกส์ คือ การเจาะขายโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในแนวมิกซ์ยูส ซึ่งโอกาสเช่นนี้เกิดขึ้นได้มาจากพอร์ตสินค้าที่หลากหลาย ในบางโครงการ เช่น ห้องโถง ต้องการสินค้าที่ high-premium ขณะที่บางส่วนของอาคารต้องการสินค้าอีกแบบ การมีสินค้าในพอร์ตที่หลากหลาย และครอบคลุมตลาดบนถึงแมสก็ทำให้บริษัทเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ และสร้างยอดขายในช่องทางนี้มากขึ้น

 ส่วนตลาดต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศ CLM หรือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ นายนำพล ย้ำว่าเป็นตลาดเพื่อนบ้านมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม แม้เอสซีจี เซรามิกส์ จะมีสินค้าในพอร์ตครบทั้งตลาดบนถึงแมส นายนำพล กล่าวว่า ยังถือว่าไม่ครบ เพราะอยู่ระหว่างการนำเข้าเซรามิกจากจีนเข้ามาเสริมในพอร์ตเพิ่มเติม

“วันนี้ในเชิงคุณภาพ สินค้าจีนพัฒนาได้เทียบเท่า อยู่ที่การคัดสรรสินค้าเข้ามา ซึ่งเกณฑ์จะดูที่ดีไซน์และคุณภาพให้เข้ามาตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น”

สำหรับผลประกอบการในปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 11,557 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 11% มีกำไรสุทธิรวมจำนวน 10 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 566 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยสำคัญจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรง ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นและค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับแผนการออกจากงานด้วยความเห็นชอบร่วมกัน ค่าที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบการจัดการและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัท

ขณะที่ในปี 2561 บริษัทมีรายได้จากการส่งออก 2,534 ล้านบาท และรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 1,833 ล้านบาท เฉพาะไตรมาสที่ 4 ปี 2561 มีรายได้จากการส่งออก 527 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของยอดขายรวม นับเป็นการลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปริมาณขายในภูมิภาคอาเซียนคิดเป็น 17% ของปริมาณขายรวม เพิ่มขึ้น 4%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับภาพรวมตลาดในปี 2562 ปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเซรามิก คาดว่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงส่งผลต่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อาจทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของนักลงทุนภายในประเทศ

จากสถานการณ์ในภาพรวม นายนำพล กล่าวว่า สิ่งที่บริษัททำคือการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งแผนงานระยะสั้นเพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแผนงานระยะยาวเพื่อมุ่งสร้างความแข็งแกร่งและหาแนวทางการเติบโตให้กับธุรกิจ

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร