ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีการชะลอตัว ตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน รวมถึงการลงทุนของเอกชนและการส่งออกที่ลดลง แต่ก็ยังพบว่ายังมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวและการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐมาสนับสนุน
HBG ฉบับนี้จึงได้ติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุนในเขตภาคเหนือ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงนโยบายทางการเงินที่จะสนับสนุนให้เกิดสภาพคล่องด้านการค้าการลงทุน โดยมี “คุณสิงห์ชัย บุณยโยธิน” ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือให้ข้อมูลกับทีมงานในครั้งนี้
ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาสแรกปี 2558 เป็นอย่างไร
ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 พบว่าไม่คึกคักเช่นที่คาดการณ์ไว้ สาเหตุสำคัญเกิดจากการใช้จ่ายภาคเอกชน การใช้จ่ายในภาคครัวเรือน ตลอดจนการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งคาดว่าจะมาจากรายได้ภาคเกษตรที่ถือเป็นรายได้หลักของภาคเหนือยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ดังนั้นนักธุรกิจจึงยังไม่ตัดสินใจลงทุนโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการจากส่วนกลางชะลอการลงทุนและการเปิดขายโครงการแนวสูง ส่วนโครงการแนวราบยังไม่มากนัก อีกทั้งตัวเลขสำหรับชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญลดลง อาทิ ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ
ด้านการส่งออกขยายตัวร้อยละ 4-5 เป็นผลจากแนวโน้มเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักได้แก่ประเทศจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนชะลอตัว ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศคู่ค้าที่สำคัญยังไม่ดีขึ้นแต่สำหรับภาคเหนือพบว่าการค้าชายแดนโดยเฉพาะที่อำเภอแม่สอดจังหวัดตากและสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายมีทิศทางที่ดี เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านยังต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากไทย ซึ่งภาคเหนือของไทยถือเป็นฐานการผลิตสินค้าส่งออกที่สำคัญ ทั้งเกษตรแปรรูป อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์จากไม้และเครื่องประดับ
นอกจากนี้การใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2558 การเบิกจ่ายงบลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.4 โดยเฉพาะงานปรับปรุงซ่อมสร้างและงานบำรุงทางของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และงานพัฒนาระบบชลประทานแหล่งน้ำของกรมชลประทาน เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการเบิกจ่ายจากงบลงทุนจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนการท่องเที่ยวในภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่และการเดินทางโดยรถผ่านด่านต่างๆ
แนวโน้มเศรษฐกิจของปี 2558 เป็นอย่างไร
แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2558 คาดว่าจะปรับดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก เป็นผลมาจากการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐและเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณปี 2559 วงเงินกว่า 2,720,000 ล้านบาท โดยเป็นงบขาดดุลกว่า 390,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีจำนวน 250,000 ล้านบาท อีกทั้งในไตรมาส 4 ของปีนี้เข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวและยังเป็นช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ทำให้มีเงินหมุนเวียนและกระตุ้นการจับจ่ายให้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ด้านการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศเมียนมาคาดว่าจะมีการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคสะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากการก่อสร้างถนนจากเมืองเมียวดีที่อยู่ตรงข้ามอำเภอแม่สอดเข้าสู่เมืองกอกาเร็กของเมียนมาแล้วเสร็จ จะทำให้สามารถขนส่งสินค้าได้มากขึ้น อีกทั้งการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ทำให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และลดความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ ส่งผลบวกต่อภาพเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น
คุณสิงห์ชัย บุณยโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นโยบายทางการเงินและมาตรการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยและการลงทุนเป็นอย่างไร
การที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้เสียที่อาจเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีมาตรการช่วยเหลือเป็นพิเศษ แต่มีประเด็นห่วงใยเกี่ยวกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม จึงมีหนังสือเวียนขอความร่วมมือสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยพิจารณาให้ความช่วยเหลือ 4 กลุ่ม ได้แก่
แนวโน้มของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่
การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในช่วงชะลอตัว ซึ่งผู้ประกอบการได้ปรับตัวระดับหนึ่ง โดยพบว่าโครงการบ้านจัดสรรส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบสั่งสร้างมากขึ้น ส่วนคอนโดมิเนียมชะลอการก่อสร้างและเปิดตัวโครงการใหม่เช่นกัน เป็นการลดจำนวนโครงการที่มีอยู่เดิมและป้องกันโครงการที่จะเกิดขึ้นใหม่ ส่วนนักลงทุนหรือผู้ประกอบการรอความชัดเจนของเศรษฐกิจ คาดว่าจากนโยบายลดดอกเบี้ยที่ ธปท.เสนอจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น กระตุ้นให้เกิดการลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น
เศรษฐกิจภาคเหนือและจังหวัดเชียงใหม่เป็นดัชนีสะท้อนให้นักลงทุนและประชาชนเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะนอกจากการปฏิรูปทางการเมืองที่เข้มข้นแล้ว ยังมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น จีน ที่เริ่มชะลอตัวลง อาจกระทบต่อการท่องเที่ยว หรือโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด ดังนั้นจึงต้องประเมินสถานการณ์และวางแผนเตรียมความพร้อมให้มากยิ่งขึ้น