Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

แบงก์แนะธุรกิจอสังหาฯ ใช้ Big Data เจาะพฤติกรรมลูกค้า

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center : EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้วิเคราะห์ตลาดที่อยู่อาศัย และพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค 4.0 โดยระบุว่า   ตลาดที่อยู่อาศัยของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากที่ได้ชะลอตัวในช่วงหลังมาตรการกระตุ้นของภาครัฐได้หมดลง EIC  ประเมินมูลค่ายอดโอนจะฟื้นตัวประมาณ 7% ในปี 2561 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่ ขนาดครอบครัวที่เล็กลง และความต้องการในทำเลที่มีศักยภาพสูงได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องและทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ภาวะตลาดปัจจุบันที่เป็นตลาดของผู้ซื้อกลายเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นในการพัฒนาโครงการต่อๆ ไป ผู้ประกอบการจึงต้องระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่มากขึ้น สร้างความแตกต่าง และเข้าใจผู้บริโภคให้ลึกขึ้น

EIC พบว่า 3 กลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันคือ 1) ออกแบบโดยให้ความสำคัญต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากยิ่งขึ้น 2) จับมือพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อพัฒนาสินค้า ถ่ายทอดความรู้ เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ และสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ 3) พัฒนาแพลตฟอร์มบริการหลังการขายใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายและต่อยอดนำ Big data มาพัฒนาสินค้าและบริการ

EIC พบว่า ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของผู้บริโภคในแต่ละช่วงอายุ รวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีล้วนมีอิทธิพลต่อการพัฒนาและการขายโครงการที่อยู่อาศัยในอนาคต ในส่วนของตลาดคอนโดมิเนียมผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลางรวมทั้งอยากอยู่ใกล้แหล่งชุมชน ใกล้แหล่งร้านอาหาร และเครื่องดื่มเพิ่มเติมจากแค่ใกล้รถไฟฟ้า

นอกจากนี้ บทบาทของเทคโนโลยีอย่าง smart home มีแนวโน้มจะกลายเป็น new normal ในอนาคต โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและการจัดการพลังงาน นอกจากนี้ ผู้บริโภคจะเปรียบเทียบและหาข้อมูลผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งข้อมูลการเข้าใช้บริการเหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะช่วยให้ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เข้าใจผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้นอีก

แม้ว่าผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่อยากได้ที่อยู่อาศัยแนวราบโดยเฉพาะบ้านเดี่ยว แต่คอนโดมิเนียมจะยังคงเป็นตลาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังเข้าสู่วัยทำงานที่คอนโดมิเนียมเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์มากกว่ารูปแบบอื่นด้วยเรื่องทำเลและกำลังซื้อ ขณะที่กลุ่ม Gen X และเบบี้บูมเมอร์ต้องการคอนโดมิเนียมเพื่อตอบโจทย์เฉพาะ เช่น ภาระการดูแลที่อยู่อาศัยที่น้อยกว่า ซื้อเพื่อลงทุน หรือซื้อให้บุตรหลาน

อย่างไรก็ดี มุมมองจากผลสำรวจพบว่า หากไม่มีข้อจำกัดในเรื่องต่างๆ ผู้บริโภคส่วนใหญ่อยากได้ที่อยู่อาศัยแนวราบมากกว่า โดย 87% ของผู้ตอบแบบสำรวจสนใจซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบโดยเฉพาะบ้านเดี่ยว

การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยต้องเน้นตอบโจทย์มากกว่าแค่การอยู่อาศัยเพื่อสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งรวมถึงการให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลาง และทำเลใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญกับความสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิตและยอมรับการแชร์ในสังคมมากขึ้น ส่งผลให้พื้นที่และฟังก์ชั่นการใช้งานพื้นที่ส่วนกลางในโครงการ

มีผลต่อการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้นอย่างเช่นการมี co-working space และ co-recreation ในที่อยู่อาศัย ตลอดจนพื้นที่ที่จะสามารถรองรับการแชร์ในด้านอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เช่น พื้นที่จอดรถยนต์ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนี้ ไม่เพียงแค่ทำเลที่เดินทางสะดวกหรือใกล้ที่ทำงานเท่านั้น แต่ทำเลใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกก็มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ร้านอาหาร ศูนย์บริการสุขภาพซึ่งส่งผลให้โครงการมิกซ์ยูสมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น

เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาททั้งในส่วนของ smart home และ prop tech โดยในส่วนของsmart home แม้ว่ายังไม่แพร่หลายนัก แต่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากขึ้น จากผลสำรวจพบว่า 90% ของกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปีเห็นว่าอุปกรณ์ smart home มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะระบบเตือนภัยและระบบจัดการพลังงาน

นอกจากนี้ ช่องทางดิจิทัลจะมีบทบาทในการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีการเปรียบเทียบข้อมูลมากขึ้น โดยกว่า 50% ของผู้ตอบแบบสำรวจสนใจเข้าชมโครงการ หลังได้รับข้อมูลรีวิวออนไลน์ ผู้ประกอบการจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์ม prop tech ใหม่ๆ อาทิ การนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบโครงการได้ง่ายขึ้น รวมถึงการนำเสนอบริการหลังการขายรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการนำ prop tech มาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการโครงการ

การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเร่งสร้างความแตกต่าง โดย 3 กลยุทธ์สำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ

1) ออกแบบโดยให้ความสำคัญต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากยิ่งขึ้นอย่างเช่น universal design ที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม
2) จับมือพันธกิจทางธุรกิจเพื่อพัฒนาสินค้า ถ่ายทอดความรู้ เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ และสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ อย่างเช่น จับมือกับสตาร์ทอัพเพื่อนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการอยู่อาศัยอย่างเช่น สมาร์ทโฮม
3) พัฒนาแพลตฟอร์มบริการหลังการขายใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายและต่อยอดนำ Big data มาพัฒนาสินค้า และบริการอย่างเช่นการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อรวบรวมบริการหลังการขาย หรือการใช้ประโยชน์จาก Big data ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคหรือปัญหาที่พบจากการให้บริการบริการหลังการขายต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ผู้บริโภคมีความต้องการในอนาคตอีกด้วย

Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร