แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างทางหลวงยังคงกระจุกตัวอยู่กับโครงการในท้องถิ่น แต่สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเมืองบริวารที่ติดกับกรุงเทพมหานคร ยังคงมีโครงการที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง
เริ่มจาก กรมทางหลวง ที่มีโครงการก่อสร้าง ทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี–ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ซึ่งได้ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2556
โครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอน 1 ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-ทางแยกต่างระดับเอกชัย ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร, ตอน 2 ทางแยกต่างระดับเอกชัย-ทางเข้าเมืองสมุทรสงคราม ระยะทาง 41 กิโลเมตร
ตอน 3 ทางเข้าเมืองสมุทรสงคราม-แยกวังมะนาว ระยะทาง 21.2 กิโลเมตร ยังอยู่ในระหว่างศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ขณะนี้ โครงการดังกล่าวถูกบรรจุไว้เป็นโครงการความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (PPP) เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมทุน ใช้เงินลงทุน 89,000 ล้านบาท
เช่นเดียวกับ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 8 นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กิโลเมตร ที่จะผ่านถนนสายบ้านแพ้ว-พระประโทน บริเวณมหาวิทยาลัยคริสเตียน ถูกบรรจุเป็นโครงการ PPP อีกด้วย วงเงิน 80,600 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการมอเตอร์เวย์ที่กำลังก่อสร้างในขณะนี้ ได้แก่ มอเตอร์เวย์ หมายเลข 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร ได้ทยอยเซ็นสัญญาผู้รับเหมาซึ่งมีทั้งหมด 25 ตอน
โดยเส้นทางบางช่วงได้ลงมือถมดินเพื่อก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการ และเปิดให้บริการในปี 2563 ซึ่งจะเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
ขณะที่โครงการก่อสร้าง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 375 กำลังขยายเป็น 4 ช่องจราจรตั้งแต่นครปฐม ถึง อ.ดอนตูม และในปีงบประมาณ 2560 จะก่อสร้างไปบรรจบกับถนนปทุมธานี-กำแพงแสน
ด้าน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กำลังผลักดันโครงการก่อสร้าง ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 17 กิโลเมตร คาดว่าจะประมูลหาผู้รับเหมา และก่อสร้างในปีนี้ เปิดให้บริการในปี 2563
ลักษณะเป็นทางด่วน 2 ชั้น ทับซ้อนกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร และสร้างสะพานขนานกับสะพานพระราม 9 ส่วนช่วงดาวคะนองลงมาจะเป็นทางยกระดับขนานไปกับถนนพระราม 2 ถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน
[2970-2]
ขณะที่ กรมทางหลวงชนบท โครงการขนาดใหญ่อย่าง ถนนสายสมุทรสาคร-สมุทรปราการ ระยะทาง 57 กิโลเมตร ต้องขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และเวนคืนที่ดิน
หากดำเนินการตามแผนจะลงมือก่อสร้างได้ในปี 2565 แล้วเสร็จปี 2569 โดยคาดว่าจะไม่ทันในรัฐบาลยุคนี้ จึงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่จะอนุมัติหรือไม่ เนื่องจากเงินลงทุนสูงถึง 7-8 หมื่นล้านบาท
ส่วนโครงการ ถนนกัลปพฤกษ์แนวใหม่ ช่วงทางแยกต่างระดับบางโคลัด-ทางแยกต่างระดับกระทุ่มแบน ระยะทาง 13 กิโลเมตร อยู่ในระหว่างสำรวจออกแบบถนนและเวนคืนที่ดิน ใช้เวลา 3 ปี และก่อสร้างอีก 3 ปี
อีกโครงการหนึ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ถนนสาย สค.2032 แยกทางหลวงหมายเลข 35 – บ้านโคกขาม เชื่อมระหว่างถนนพระราม 2 กับถนนเจษฎาวิถี บริเวณหน้าโรงเรียนอัสสัมชัญ แคมปัส พระราม 2
ขณะนี้อยู่ในระหว่างจ้างเอกชนสำรวจออกแบบถนน โดยก่อนหน้านี้ได้ว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟบริเวณที่หยุดรถคอกควาย งบประมาณ 405 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จ เมษายน 2561
ถึงกระนั้น ยังต้องลุ้นกับโครงการก่อสร้าง ถนนสาย ส.ค.5031 แยก ทช.สค.2004 – บ้านเจษฎาวิถี ที่บริษัท ศิริไพบูลย์พัฒนาการ จำกัด เป็นผู้รับเหมา เพราะที่ผ่านมาโครงการมีความคืบหน้าล่าช้า ประชาชนเดือดร้อนไปทั่ว
ผู้รับเหมาชี้แจงว่า เนื่องจากติดขัดเรื่องการรื้อย้ายท่อประปาและเสาไฟฟ้าไม่สามารถทำได้ เพราะแนวเขตทางหลวงไม่ชัดเจน ต้องคอยดูว่าภายในปี 2560 ถนนจะก่อสร้างไปได้มากน้อยเพียงใด
[2970-3]
สำหรับโครงการ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค – พุทธมณฑล สาย 4 ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เงินลงทุน 21,197 ล้านบาท อยู่ในระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคม และ ครม. อนุมัติ
โดยเป็น 1 ใน 36 โครงการที่ถูกบรรจุในแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2560 หาก ครม. อนุมัติ จะร่างทีโออาร์และประกวดราคา 1 ปี ก่อนจะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และบางซื่อ – ท่าพระ ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2559 คืบหน้า 86.72% คาดว่าจะกำหนดเปิดให้บริการในปี 2562
ส่วน โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง – มหาชัย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังรอคอย แผนแม่บทโครงข่ายรถไฟฟ้าเพื่อพัฒนาขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-Map) ระยะที่ 2
เนื่องจากแนวเส้นทางเดิม มีประชาชนในพื้นที่เส้นทางคัดค้าน จึงต้องพับโครงการ และทำการศึกษาขึ้นมาใหม่ คาดว่าในปี 2561 จะเสนอผลการศึกษาให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และ ครม. พิจารณา
ต้องดูว่า จะยังคงใช้แนวเส้นทางเดิม คือ ทางรถไฟสายมหาชัย – วงเวียนใหญ่หรือไม่ และจุดสิ้นสุดสถานีที่มหาชัยจะอยู่ที่ใด
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ถูกบรรจุในแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2560 ได้แก่ สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต กับ สายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และ ตลิ่งชัน-ศาลายา
ทั้งหมดนี้คือโครงการคมนาคมทั้งทางรถยนต์และทางราง ที่จะเกิดขึ้นนับจากปีนี้เป็นต้นไป แม้จะเป็นเรื่องลำบากในช่วงการก่อสร้าง แต่หากแล้วเสร็จก็จะส่งผลดีต่อการคมนาคมขนส่งโดยทั่วกัน
ที่มา : sakhononline