การประกาศใช้พระราชบัญญัติผังเมืองเชียงใหม่ (พ.ร.บ.ผังเมือง) ทั้งสองฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.ผังเมืองรวมจังหวัดเชียงใหม่และ พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่หลังประกาศบังคับใช้มีผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่ต่างเรียกร้องให้มีการปรับปรุง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป
สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่หน่วยงานที่รับข้อร้องเรียนดังกล่าว และยังเป็นหน่วยงานหลักในการวางกรอบนโยบายการจัดการผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทีมงาน HBG มีโอกาสได้พูดคุยกับ “คุณสมหวัง บุญระยอง” โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้มาเผยถึงความคืบหน้าของแผนการดำเนินงานการปรับปรุงกฎกระทรวง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ถึงทิศทางในอนาคตดังนี้
การปรับปรุง พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่มีความเป็นมาอย่างไร
ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2555 ประกาศบังคับในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ถึงวันที่ 20พฤษภาคม 2561 รวมระยะเวลา5 ปี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 429 ตารางกิโลเมตรประกอบด้วย 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอยสะเก็ด, อำเภอสารภี, อำเภอสันทราย, อำเภอแม่ริม, อำเภอเมืองเชียงใหม่, อำเภอสันกาแพงและอำเภอหางดง รวม 49 ตำบล
หลังจากที่ประกาศใช้ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่มีผู้ที่ได้รับผลกระทบหลายส่วน เช่น โรงพยาบาลบางแห่งที่จะไม่สามารถต่อเติมความสูงตัวอาคารได้ เนื่องจากข้อกำหนดจำกัดความสูงให้เท่าอาคารพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อความเท่าเทียมกัน นักลงทุนบางกลุ่มมีที่ดินหลายแห่งแต่อยู่ในพื้นที่สำหรับพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรมก็ไม่สามารถพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยได้ หรือประชาชนที่มีที่ดินอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งมีข้อกำหนดให้ต้องมีพื้นที่สีเขียวร้อยละ 50 ของที่ดิน ดังนั้นหากเขามีที่ดินขนาด 30 ตารางวา จะมีพื้นที่เหลือสำหรับทำอาคารที่พักอาศัยเพียง 15 ตารางวา ซึ่งไม่สามารถทำได้
อีกทั้ง พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ปัจจุบันไม่สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากข้อกำหนดใน พ.ร.บ.เป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 2537 หรือกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าปัจจุบันเชียงใหม่พัฒนาไปทั้งจำนวนประชากรและถนนที่เปลี่ยนไปจากเดิม
สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจึงได้รวบรวมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการแก้ไขและปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.2555 มีประเด็นการขอแก้ไขทั้งหมด 126 ประเด็น โดยคณะกรรมการพิจารณาด้านผังเมืองเห็นว่าหากพิจารณาแก้ไขตามที่ร้องขอ จะทำให้โครงสร้างของผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่เดิมเปลี่ยนไป ทั้งเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินและโครงสร้างคมนาคมขนส่ง จึงเห็นควรให้กรมโยธาธิการและผังเมืองทบทวนปรับปรุงผังใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นไป
แนวคิดการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่เป็นอย่างไร
สำหรับการปรับปรุง พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ต้องมาจากพื้นฐานความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก และนำหลักวิชาการมาประกอบกัน เพื่อให้ความต้องการอยู่ในกรอบวิชาการที่ทำให้เมืองพัฒนาไปได้ โดยแนวคิดการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้จะพิจารณากำหนดพื้นที่ศูนย์กลางเมืองซึ่งเป็นคูเมืองด้านในเป็นพื้นที่อนุรักษ์อย่างเข้มงวด แวดล้อมด้วยพื้นที่อยู่อาศัยชั้นดีบริเวณคูเมืองชั้นนอก ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเน้นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมในเขตเมืองเก่า ให้เกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเมือง
อีกทั้งส่งเสริมการเชื่อมต่อโดยระบบขนส่งมวลชนเป็นหลัก เช่น ขนส่งมวลชนระบบราง การพัฒนาการสัญจรทางน้ำ กำหนดพื้นที่ส่งเสริมทางเศรษฐกิจออกไปยังพื้นที่ระหว่างวงแหวนรอบที่ 2 และ 3 และกำหนดพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง-มากไว้ในบริเวณหลังวงแหวนรอบที่ 3 โดยจะเชื่อมโยงการติดต่อด้วยใช้เส้นทางการจราจร และกำหนดจุดเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคม (Transition) เพื่อให้เมืองชั้นในไม่เกิดความพลุกพล่าน โดยพื้นที่พาณิชยกรรมระหว่างบริเวณวงแหวนรอบ 2 และ 3 กำหนดให้มีวงรอบการสัญจร 3 โซน คือด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศใต้ และเพิ่มโครงข่ายการเชื่อมโยงระหว่างวงแหวนในการแบ่งเบาการจราจร อีกทั้งเมืองบริวารซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางย่อยนั้น กำหนดการเชื่อมโยงโดยการเพิ่มถนนวงแหวนรอบที่ 4 เชื่อมโยงเมือง โดยมิต้องใช้ศูนย์กลางเมืองเป็นทางผ่าน
ทั้งนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองเห็นว่าควรปรับระยะเวลาของกฎกระทรวงที่ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ รวมถึงผังประเทศ ผังภาค และผังจังหวัดให้สามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาเว้นช่วงการบังคับใช้ พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ ทำให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง แต่การบังคับใช้นี้จะมีการประเมินและปรับปรุงผังทุกๆ 5 ปี โดยการประเมินจะมาจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าหากข้อเสนอดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี น่าจะประกาศใช้หลังจาก พ.ร.บ.ผังเมืองฉบับปัจจุบันหมดอายุในปี 2561
แผนการดำเนินงานการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่เป็นอย่างไร
ปัจจุบันสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองกำลังรวบรวมข้อมูลพื้นฐานจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้ประกอบการ, องค์กรพัฒนาเอกชน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), นักวิชาการและประชาชน เกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่และข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชากรและกายภาพ ซึ่งด้านกายภาพที่ว่านั้นคือการจัดเก็บฐานข้อมูลอาคารและสิ่งปลูกสร้างใหม่ว่ามีจำนวนเท่าไร การใช้ประโยชน์อาคาร โครงสร้างและพื้นที่ของอาคาร เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลจะนำมาประเมินว่าสมควรมีการปรับปรุงหรือต่ออายุ พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ไปอีก 2 ปีหรือไม่
หากผลการประเมินสรุปได้ว่าต้องมีการปรับปรุง สำนักงานโยธาฯ จะเริ่มดำเนินงานตามแผนการปรับปรุงกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ โดยเริ่มจากแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างอนาคตร่วมกันในการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ จากนั้นจะจัดประชุมคณะกรรมการเพื่อระบุผู้มีส่วนได้เสียของผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ และการเตรียมงานประชุมสัมมนาในภาพรวม ให้ผู้มีส่วนได้เสียได้เห็นภาพอดีตเชื่อมโยงปัจจุบันและความมุ่งหวังในอนาคตของเมืองเชียงใหม่ และจัดประชุมสัมมนามองภาพรวมของการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ แนวโน้มการเติบโต ปัญหาที่สำคัญของเมือง บรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการ โดยผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมรับรู้รับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นอกจากนี้ยังต้องจัดประชุมเชิงปฏิบัติการตามการจัดจำแนกกลุ่มของคณะกรรมการ เพื่อให้แต่ละกลุ่มเสนออนาคตผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ด้วยมุมมอง ประสบการณ์ และทัศนคติของแต่ละกลุ่ม และนำมาผลที่ได้มาจัดประชุมรวมอีกครั้งเพื่อให้แต่ละกลุ่มของผู้มีส่วนได้เสียได้มารับรู้ร่วมกัน ช่วยกันอภิปรายเหตุผล ซักถามได้ในเบื้องต้น แต่ไม่ปล่อยให้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้ง โดยคณะกรรมการทำการสังเกตและพิจารณาจัดคู่ประเด็นเห็นต่างในเวทีการสนทนากลุ่ม
ก่อนสรุปรายงานนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ คณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง จะมีการจัดเวทีการสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group Discussion) เพื่อหาข้อยุติในประเด็นต่างด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง ทำการแลกเปลี่ยนเหตุผล ความคิดเห็น จุดยืน และท้ายสุดจัดประชุมประมวลผลหาข้อสรุปถึงแนวคิดและทิศทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ที่มีความหวังและพันธสัญญาร่วมกัน
ผังเมืองรวมเชียงใหม่
ความคาดหวังกับการปรับ พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้
สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองอยากให้การปรับ พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ออกมาตามหลักวิชาการของผังเมือง แต่อยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่อย่างแท้จริง และมีความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับพัฒนาเมืองให้เจริญ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์และโครงข่ายการคมนาคมภายในจังหวัด รวมถึงการเชื่อมโยงสู่ภายนอกจะเป็นไปอย่างมีทิศทางและเป็นระบบระเบียบ
ปัจจุบันยอมรับว่ามีประชาชนและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ทราบและเข้าถึงกฎหมายผังเมืองมากนักสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองมีแนวคิดที่จะประสานความร่วมมือไปยังกรมประชาสัมพันธ์และชุมชนต่างๆ ในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้การปรับปรุง พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้สามารถขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากที่สุด
การปรับปรุง พ.ร.บ.ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้เชื่อว่าหลายๆ ฝ่ายคงกำลังจับตามองว่าจะเป็นในรูปไหน เป็นไปตามคาดหรือไม่ สิ่งสำคัญยิ่งคือความคิดเห็นและความต้องการของคนเชียงใหม่ที่จะสะท้อนออกมา และหาทางเชื่อมความต้องการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากต่างฝ่ายต่างคิดต่างทำคงไม่เกิดผลดี เพราะเชียงใหม่ต้องเจริญเติบโตขึ้นแต่ความเจริญนั้นจะต้องมีทิศทาง และไม่ทำให้อัตลักษณ์อันงดงามของเมืองล้านนานั้นสูญสิ้นไป