แรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ยังผลให้หลายประเทศต้องมีนโยบายควบคุมการเกิดของประชากรกัน ทำให้อัตราการเกิดของประชากรมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ขณะที่พัฒนาการในด้านการแพทย์ที่ก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว ทำให้นับวันคนจะมีอายุยืนขึ้นเรื่อยๆ
สองปัจจัยนี้เอง คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ย่างก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างชัดเจน เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยในส่วนของผู้สูงอายุ นับวันจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นตลอด อย่างน่าจับตามอง
อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุจะมีรูปแบบและลักษณะเฉพาะตัว ไม่เหมือนที่อยู่อาศัยทั่วไป กล่าวคือมักชอบอยู่ในทำเลที่มีอากาศดี เป็นบ้านไม่ใหญ่นัก และเงื่อนไขสำคัญ คือจำเป็นต้องมีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุอย่างพร้อมสรรพด้วย
ดังนั้นในช่วงที่บ้านเรากำลังเข้าสู่ยุค AEC ขณะที่ยังไม่ค่อยมีใครคิดที่จะพัฒนาจัดทำที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยกัน จึงเป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนในการที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบนี้ขึ้นมา เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้สูงอายุทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่วางแผนจะมาปักหลักใช้ชีวิตช่วงหลังเกษียณในเมืองไทยเรา
ทั้งนี้เชียงใหม่ รวมถึงตามหัวเมืองแถบภาคเหนือ ถือเป็นทำเลที่เหมาะสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับลูกค้าผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีจุดเด่นเฉพาะตัวตรงที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับ อากาศดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ พร้อม
สำหรับ “ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Housing Options for Seniors)” ที่นิยมทำกันในต่างประเทศ โดยทั่วไปแล้ว จะมีลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์พร้อมบริการ ซึ่งจะมีทั้งแบบขาย หรือให้เช่าระยะยาวซึ่งในบ้านเราแล้ว เชื่อว่าแนวโน้ม คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเป็นไปในลักษณะนี้เช่นกัน
ทีนี้มาลองดูกันว่าที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จะสามารถพัฒนาออกมาในลักษณะใดได้บ้าง ทั้งนี้ที่ทำกันในต่างประเทศ และประสบความสำเร็จได้ค่อนข้างดี จะมีอยู่ด้วยกัน 6 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
1.ชุมชนที่พักสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยตามลำพัง (Active Adult Community Independent Living Facility (ILF) Housing) เป็นชุมชนอยู่อาศัยสำหรับผู้เกษียณอายุที่ยังแข็งแรง และทำอะไรต่อมิอะไรด้วยตัวเองได้
ปกติที่อยู่อาศัยแบบนี้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ให้ คือมีราวบันได มีที่จับประตูที่สะดวกเป็นพิเศษกับผู้สูงอายุมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการซักรีด สัญญาณเรียกยามฉุกเฉิน ห้องดูหนัง ร้องเพลง สนามเทนนิส สนามออกกำลังกาย รวมถึงพื้นที่ในการปิกนิก
โดยทั่วไปที่อยู่อาศัยแบบนี้ ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายก็คือผู้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ที่นิยมทำกันในต่างประเทศ อาจมีบริการจัดเตรียมอาหารให้ด้วย สำหรับลูกค้าที่ไม่ชอบที่จะทำครัวด้วยตัวเอง มีบริการรถรับส่งภายในเพื่อเดินทางไปช้อบปิ้ง เดินทางไปหาหมอ หรือเดินทางไปไหนมาไหนไม่ไกล ลักษณะสำคัญของบ้านแบบนี้ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กกว่าอพาร์ตเมนต์ทั่วไป แต่จะมีการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า
2.ชุมชนที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ที่ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นในการอยู่อาศัย (Congregate Housing with Assistanceหรือ ALF: Assisted Living Facility) ปกติสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่มีให้จะคล้ายกับแบบแรก แต่จะมีการให้บริการพิเศษบางอย่างเพิ่มเติม เช่นบริการอาหาร ซักรีด ทำความสะอาด บริการเรียกพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมบริการช่วยเหลือในการแต่งตัว อาบน้ำ หรือมีคนดูแลเป็นการเฉพาะในการเดินทางไปไหนมาไหน หรือทำกิจกรรมต่างๆ
3.ชุมชนที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือและดูแลพยาบาลเป็นพิเศษ (Congregate Housing with Assistance and Nursing) สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่มีให้จะคล้ายๆ กับแบบที่สอง แต่จะมีการจัดตั้งศูนย์การรักษาพยาบาลอยู่ภายใน โดยในศูนย์จะมีพยาบาลประจำคอยดูแลอยู่ในชุมชน เพื่อดูแลให้ในกรณีฉุกเฉินโดยทั่วไปห้องพักอาศัยหรือห้องชุดพักอาศัยแบบนี้จะมีขนาดเล็กกว่าสองแบบแรก
4.บ้านดูแลพักฟื้นเป็นการเฉพาะ (Skill Nursing Homes) มีลักษณะเป็นที่พักอาศัยขนาดเล็ก ที่มีบริการช่วยเหลือทางการแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งบริการทางการแพทย์เหล่านี้ ได้แก่ การจัดเตรียมอาหารให้ การตรวจรักษา โดยหมอที่อยู่ประจำในศูนย์ นอกจากนั้นจะมีพยาบาลให้บริการอาบน้ำ แต่งตัว หรือให้บริการในการดำเนินชีวิตต่างๆ บ้านพักแบบนี้บริการทางการแพทย์จะมีสัดส่วนต้นทุนสูงสุด
5.ศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นการเฉพาะ (Alzheimer’s Specialized Care Centers) เป็นที่พักที่ใช้ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เป็นการเฉพาะเจาะจง
6.ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospice Centers) มีลักษณะเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องเสียชีวิตในที่สุด เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและตายอย่างมีศักดิ์ศรี
โดยทั่วไปแล้วบ้านพักผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่นิยมทำกันจะมีลักษณะเป็นอพาร์ตเมนต์ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและให้บริการคล้ายๆ กับโรงแรม ยิ่งมีการให้บริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ ขนาดของห้องพักก็จะยิ่งคล้ายกับห้องพักในโรงพยาบาลมากขึ้น คือจะค่อยๆ เล็กลง
ผู้เขียน : อนุชา กุลวิสุทธิ์
กูรูด้านการเงินและการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
ที่ปรึกษาอิสระ วิทยากรและอาจารย์พิเศษ
มีพ็อกเก็ตบุ๊คด้านการเงิน การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์