ทุกวันนี้ สังคมญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ทำให้สาวญี่ปุ่นปัจจุบันซึ่งถึงแม้ว่าจะแต่งงานและกลายเป็นคุณแม่แล้ว แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ยังคงทำงานต่อไป แต่การทำงานไปพร้อมกับดูแลลูกๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะต้องแบกรับภาระงานที่ออฟฟิศแล้ว เมื่อกลับบ้านยังต้องปรับตัวกับบทบาทคุณแม่ ทั้งยังมีเรื่องให้ขบคิดอีกตั้งไม่รู้เท่าไหร่ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ “บ้าน” ซึ่งเปรียบเสมือนโรงเรียนแห่งแรกที่ลูกๆ จะได้ใช้ชีวิตและเติบโตไปพร้อมๆ กับครอบครัว Bannia จึงนำเสนอตัวอย่างคุณแม่คนเก่งชาวญี่ปุ่น ผู้ที่จะมาแชร์ไอเดียและประสบการณ์การเลือกบ้านสำหรับสมดุลระหว่างการทำงานและดูแลลูกรัก
จากงานอดิเรกแสนรักสู่งานประจำ คุณแม่ผู้เนรมิตบ้านให้เป็นห้องเรียนอันอบอุ่น
เริ่มกันที่คุณอากิยะ ไมโกะ คุณแม่ลูกสองวัย 34 ปี เจ้าของบริษัท Atelier Keym (อาเทเลียร์ คิม) ทำธุรกิจจำหน่ายและเปิดสอนงานฝีมือประดิษฐ์กล่องผ้า (Cartonnage) ซึ่งเป็นการประกอบสิ่งของขึ้นมาจากกระดาษแข็งและการแปะกระดาษและผ้า เช่น สมุดโน้ตและกล่อง นอกจากจะจำหน่ายสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตแล้วคุณไมโกะยังเปิดสอนหลักสูตรส่วนตัวสำหรับกลุ่มลูกค้าที่สนใจเรียนรู้งานฝีมือชนิดนี้อีกด้วย
เนรมิตบ้านให้เป็นห้องเรียนที่มีบรรยากาศอบอุ่นและเป็นกันเอง
คุณไมโกะได้รู้จักกับ Cartonnage จากรุ่นพี่ และเกิดความหลงใหลในเสน่ห์ของงานฝีมือชนิดนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งเธอลาออกจากงานประจำ และผันตัวมาเปิดกิจการอย่างเต็มตัวเมื่อ 6 ปีก่อน โดยจุดมุ่งหมายของธุรกิจนี้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การจำหน่ายชิ้นงานเท่านั้น แต่ยังมีบริการรับสอนในห้องเรียนเล็กๆ ที่จำกัดครั้งละ 4 คนสำหรับผู้สนใจเรียนงานประดิษฐ์ Cartonnage ด้วย
เนื่องจากคุณไมโกะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่บ้าน ดังนั้นช่วงที่คุณแม่คนเก่งคนนี้กำลังมองหาบ้านใหม่อยู่นั้นเอง เธอจึงต้องมองหา บ้านที่เหมาะสำหรับเปิดเป็นห้องเรียน โดยเฉพาะปัจจัยด้านพื้นที่ใช้สอยและทำเลที่ตั้ง ท้ายที่สุดก็มาลงเอยที่แมนชั่นขนาด 95 ตารางเมตร โดยมี 3 ห้องนอนพร้อมห้องนั่งเล่น ห้องครัวและห้องรับประทานอาหาร
“ที่ต้องคิดอย่างแรกเลยคือการเลือกบ้านสำหรับเปิดเป็นห้องเรียน ให้ผู้เรียนสามารถเดินทางมาเรียนได้สะดวก ตอนนั้นตั้งเงื่อนไขไว้เลยค่ะว่าต้องเดินจากสถานีไม่เกิน 5 นาที และที่ต้องเน้นเป็นพิเศษคือสถานที่สำหรับเป็นห้องเรียนนั้นต้องเป็นห้องรับแขกที่กว้างและมีแสงสว่างเพียงพอ...” คุณไมโกะกล่าว
สร้าง ‘ช่วงเวลาที่ได้อยู่กับหม่าม๊า’ เพื่อลูกรักจากพื้นที่ภายในบ้าน
แม้จะทุ่มเทให้กับงานมากแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่คุณไมโกะไม่เคยลืมเลยคือลูกๆ ทั้งสองคน เธอตั้งอกตั้งใจเลือกแมนชันที่มีห้องรับแขกมีขนาดกว้างเพื่อสร้าง ‘ช่วงเวลาที่ได้อยู่กับหม่าม๊า’ ขึ้นมา เพราะบางครั้งหลังกลับจากโรงเรียนอนุบาลแล้วแต่คุณแม่ยังทำงานไม่เสร็จ แทนที่จะต้องเดินเหงาๆ กลับเข้าห้องคนเดียว คุณไมโกะก็ได้จัดให้ลูกๆ มาเล่นสนุกกันที่ห้องรับแขก ได้พูดคุยและใช้เวลาร่วมกันด้วยการอาศัยประโยชน์จากพื้นที่ภายในบ้าน
“การเล่นทำงานไปด้วยเล่นไปด้วยนั้น สุดท้ายแล้วอาจเป็นอะไรที่เป็นครึ่งๆ กลางๆ แต่การจัดเวลาให้ได้มาใช้เวลาร่วมกัน ความรู้สึกของลูกก็จะได้รับการเติมเต็ม จนตอนนี้ก็สามารถรักษาสมดุลของการทำงานกับการเลี้ยงลูกได้แล้ว”
คุณแม่สายบริหารยุคใหม่ เธอมาพร้อมจุดยืน ‘ให้พนักงานพาลูกมาทำงานได้’!
หลังจากเราได้ทำความรู้จักกับคุณแม่สายหวานผู้รักงานฝีมือไปแล้ว มาพบกับคุณแม่คนเก่งอีกคนกันดีกว่า เธอคือ ซาคุมะ เอริ ผู้บริหารสาววัย 33 ปี ผู้ก่อตั้งตั้งบริษัท Plus Color ซึ่งทำงานด้านประชาสัมพันธ์ มีจุดเด่นของที่นี่อยู่ที่นโยบาย ให้พนักงานพาลูกมาที่ทำงานได้ โดยมุ่งเน้นให้ผู้หญิงญี่ปุ่นได้แสดงศักยภาพผ่านการทำงาน โดยเฉพาะคนที่แต่งงานและกลายเป็นคุณแม่แล้ว
ปัจจุบัน ที่พักของคุณเอริที่เขตเมกุโระ กรุงโตเกียวนั้นเป็นแมนชันขนาด 75 ตารางเมตร ประกอบด้วย 3 ห้องนอน พร้อมด้วยห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหารและห้องครัวครบครัน โดยสิ่งที่โฟกัสเป็นพิเศษนั้นมีอยู่ 2 ด้าน อย่างแรกคือด้านทำเลที่ตั้ง เพราะต้องเข้าเมืองไปทำงานทุกวันจึงต้องเลือกบริเวณที่เดินทางได้สะดวก นอกเหนือจากนี้ปัจจัยด้านดังกล่าวยังมีผลกับมูลค่าสินทรัพย์อีกด้วย อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านเพื่อลูกน้อย คุณแม่คนเก่งของเราต้องเลือกบ้านที่ห้องนั่งเล่นและห้องทานอาหารมีจุดเชื่อมต่อเข้าหากัน บริเวณบ้านต้องมีพื้นที่ว่าง Space มากพอที่จะให้เรากับลูกได้ใช้ชีวิตและเติบโตไปด้วยกัน
“แนวคิดของฉันคือ สถานที่ทำงานที่สามารถพาลูกไปด้วยได้ เพราะว่าที่ญี่ปุ่นไม่มีที่แบบนั้น เลยคิดไว้ว่าอยากจะให้ตนเองลองเป็น Model case ดูค่ะ” ผู้บริหารสาวกล่าว โดยเมื่อปีที่แล้วหลังจากที่ได้ให้กำเนิดลูกชาย ก็ได้พาลูกไปทำงานที่บริษัทจริงๆ ด้วย
เพราะบ้านคือแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายของลูกๆ...
มาถึงคุณแม่คนเก่งคนสุดท้าย คุณยามากุจิ โฮดะกะ คุณแม่ลูกสองวัย 41 ปี พ่วงดีกรีตำแหน่ง Promotion Director บริษัท Cybozu ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกลยุทธ์โฆษณา วางแผนเว็บไซต์หรือแม้กระทั่งบทความบนหน้านิตยสารล้วนอยู่ภายใต้ความดูแลของเธอ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงเริ่มรู้สึกว่าในเมื่อคุณแม่ของเรามีงานล้นมือไม่เว้นแต่ละวันขนาดนี้ จะหาเวลาที่ไหนไปดูแลลูกๆ แต่จริงๆ แล้วคุณโฮดะกะมีวิธีรับมือกับเรื่องนี้เป็นอย่างดีเพราะเธออาศัย บ้าน เป็นเครื่องช่วยผ่อนแรงเพื่อให้สามารถสมดุลการทำงานกับการเลี้ยงลูกได้
เฝ้ามองการเติบโตของลูกๆ ผ่าน ‘บ้าน’
ในความคิดของคุณโฮดะกะนั้น ความปลอดภัย คือเรื่องที่ต้องได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรกเพราะเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวแต่มีลูกๆ ที่ยังเป็นเด็กมาอาศัยอยู่ด้วย ดังนั้นคุณโฮดะกะจึงตัดสินใจเลือกแมนชัน 3 ห้องนอนพร้อมด้วยห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหารและห้องครัวอย่างครบครัน พื้นที่ใช้สอยรวม 79 ตารางเมตร ในเขตเซทากายะ โตเกียว
หัวใจสำคัญของการเลือกซื้อแมนชันหลังนี้ หลักๆ แล้วคือเรื่องของทำเล สภาพแวดล้อมของที่นี่สอดรับและเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของลูกๆ เธอได้ดี เช่น เมื่อลูกสาวคนโตที่ต้องเข้าคลาสเรียนวาดภาพกับเพื่อนๆ หลังเลิกเรียน เธอก็สามารถให้ลูกไปคนเดียวได้เพราะคลาสอยู่ในบริเวณที่พัก
นอกจากนี้บริเวณโดยรอบของที่พักจะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลและประถมแล้ว ทางแมนชันยังมีบริการ Kids Room และสวนระหว่างอาคารด้วย ด้วยองค์ประกอบทางพื้นที่นี้เองที่ทำให้คุณโฮดะกะรู้สึกอุ่นใจได้อยู่ใกล้ๆ ลูกๆ ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเพียงพอ
มากกว่าทำเลที่ตั้งที่สะดวกสบายเอื้ออำนวยต่อการเดินทางแล้ว การอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทั้งคุณโฮดะกะได้เรียนรู้จากที่พักอาศัยแห่งนี้ ไม่ว่าจะผ่านทางการเข้าคลาสสอนวาดภาพกับเพื่อนๆ ตอนเย็นของลูกสาวหรือการขอความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น การฝากกันรับลูก
“มีหลายครอบครัวที่ลูกๆ เข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมอนุบาล ดังนั้นถึงแม้วันไหนที่คุณแม่ต้องทำงานลากยาว การจะขอร้องให้ผู้ปกครองของเพื่อนลูกไปรับก็ไม่ยุ่งยาก และฉันก็ดีใจที่มีโอกาสได้เปิดคลาสเรียนรวมร่วมกันในแมนชันค่ะ” คุณโฮดะกะทิ้งท้าย
แม้ว่าชีวิตในแต่ละวันจะเต็มไปด้วยงานที่รัดตัว แต่คุณแม่ก็ไม่เคยลืมว่าการดูแลเอาใจใส่ลูกๆ นั้น ต้องมาเป็นอันดับแรกเสมอรองลงมาจากการเลือกบ้าน และ ‘บ้าน’ คืออีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างคนในครอบครัวผ่านการเป็นพื้นที่สำหรับใช้เวลาร่วมกัน
แปลและเรียบเรียงจาก SUUMO
ขอบคุณภาพจาก: SUUMO, ameblo.jp
บทความที่เกี่ยวข้อง: