รั้วบ้านโดยเฉพาะรั้วด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่รั้วหน้าบ้าน มักจะเป็นจุดที่ท่านเจ้าของบ้านไม่ค่อยให้ความสนใจและมักปล่อยให้ช่างทำงานกันเองโดยที่ไม่ได้ไปตรวจงาน ถ้าเจอช่างมักง่ายก็จะทำงานไม่เรียบร้อย ทำให้เมื่อใช้งานไปหลายๆปี รั้วมักจะเกิดปัญหาเอียงหรือล้ม การแก้ไขปัญหารั้วที่เอียงหนักๆก็เป็นไปได้ยาก อาจจะต้องรื้อรั้วเพื่อทำใหม่กันเลยทีเดียว สำหรับท่านที่กำลังจะทำรั้วใหม่หรือจะซ่อมแซมรั้วเดิม Baania มีแนวทางการตรวจงานรั้วบ้านและการแก้ไขรั้วที่เอียงมาฝากกันนะครับ
ถ้าเป็นรั้วไม้หรือรั้วสังกะสีแบบทั่วๆไป คงไม่จำเป็นต้องเขียนแบบก่อสร้างให้วุ่นวาย แค่ให้ช่างร่างแบบในกระดาษแล้วก็ลงมือทำได้เลย แต่สำหรับรั้วบ้านนั้นไม่เหมือนรั้วทั่วไป เพราะเป็นรั้วที่อยู่ติดกับถนนหรือที่ดินข้างเคียง ถ้ารั้วล้มหรือพังก็อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยและคนสัญจรไปมาได้ ดังนั้นรั้วบ้านจึงต้องมีความแข็งแรง ทนทาน และต้องมีการเสริมฐานรากให้ถูกต้องตามหลักการ ดังนั้นในการออกแบบรั้วจึงต้องมีแบบก่อสร้างที่ออกแบบโดยสถาปนิกหรือวิศวกร เพื่อให้ได้รั้วบ้านที่แข็งแรงและป้องกันการเอียงและล้มได้
1. ตรวจแนวที่ดินในถูกต้อง
ก่อนที่จะวางแนวของรั้ว ให้ท่านเจ้าของบ้านตรวจสอบหมุดหลักเขตที่ดินให้ตรงตามโฉนด หากเป็นด้านที่ติดกับที่ดินข้างเคียง ควรให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงรับทราบและยินยอมด้วย ป้องกันการวางแนวรั้วล้ำเขตที่ดิน การเคลื่อนย้ายรั้วภายหลังจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก
2. ให้วิศวกรช่วยออกแบบฐานรากรั้วบ้าน
ก่อนออกแบบฐานรากรั้วบ้าน ควรให้วิศวกรมาตรวจดูดินในพื้นที่ว่าเป็นดินอ่อนหรือไม่ เนื่องจากจะได้ทราบว่าต้องใช้ฐานรากที่มีเสาเข็มหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มีการมาตรวจดูก่อนและใช้ฐานรากที่ไม่มีเสาเข็ม เมื่อใช้งานไปสักระยะ เมื่อเกิดดินไหลหรือดินยุบตัว รั้วอาจจะเอียงและพังได้ ซึ่งการแก้ไขอาจจะต้องรื้อโครงสร้างรั้วบ้านใหม่ทั้งหมด
สำหรับการออกแบบฐานรากรั้วบ้าน ควรให้วิศวกรเป็นผู้ออกแบบ เพราะต้องมีการเสริมฐานรากและการเลือกประเภทของฐานรากรั้วให้เหมาะสม โดยเฉพาะกรณีที่ดินที่มีระดับดินแตกต่างจากที่ดินข้างเคียง หรือ กรณีที่รั้วบ้านอยู่ใกล้กับคูน้ำต้องใช้ฐานรากกันดิน ซึ่งหากใช้ฐานรากทั่วไป เมื่อใช้งานไปรั้วจะเริ่มล้มเอียงเพราะถูกระดับดินฝั่งที่สูงกว่าดัน ส่วนการออกแบบความสวยงามของรั้วก็ให้เป็นหน้าที่ของผู้รับเหมา สถาปนิก หรือวิศวกรก็ได้ครับ แต่ให้ทำงานร่วมกันกับการเขียนแบบฐานรากของรั้วเพื่อให้สามารถคำนวณการรับน้ำหนักได้
3. ตรวจแนวการวางฐานรากรั้วบ้าน
เมื่อถึงการขุดดินเพื่อทำฐานรากให้เข้าไปตรวจฐานรากของแนวรั้ว กับแนวเขตที่ดินให้เป็นไปตามแบบหรือโฉนด โดยให้ตรวจดูในแบบว่าตีนฐานรากไม่มีส่วนใดที่ยื่นออกไปยังที่ดินข้างเคียงหรือถนน ซึ่งการออกแบบฐานรากรั้วบ้านที่ติดกับที่ดินข้างเคียงต้องใช้ฐานรากแบบตีนเป็ด ที่จะมีลักษณะคล้ายตัว L แต่หากเป็นรั้วของโครงการบ้านจัดสรรหรือมีการตกลงทำรั้วร่วมกับเพื่อนบ้าน รั้วระหว่างบ้านก็ให้วางแนวรั้วรวมทั้งฐานรากให้อยู่กึ่งกลางระหว่างสองเขตที่ดิน เพราะถือว่าเป็นรั้วที่ใช้งานร่วมกันของทั้งสองบ้าน
4. ตรวจตั้งเสาให้ตรง ได้ดิ่ง ไม่เอียง
เมื่อถึงขั้นตอนการขึ้นเสารั้ว ให้ลองใช้เครื่องวัดระดับ (Level) ให้เสาตั้งได้ตรง ได้ระดับ ไม่เอียง และเมื่อถึงขั้นตอนการขึ้นคานทับหลังของรั้วก็ให้ตรวจดูว่าได้ระดับเท่ากันทั้งรั้ว ไม่มีระดับรั้วที่สูงๆต่ำๆ ทั้งนี้อาจจะใช้เครื่องมือวัดระดับหรือใช้การมองได้ตาเปล่าก็ได้ ถ้าหากพบว่ามีเสาหรือคานทับหลังเอียงก็ให้ช่างแก้ไขต่อไป
5. ตรวจการก่อผนังรั้วให้ได้ระดับ เก็บงานสีเรียบร้อย
เมื่อถึงขั้นตอนการก่อผนังรั้ว ก็ให้ดูความเรียบร้อยในการทำงานของช่างในการทำงานตามลักษณะของรั้วประเภทต่างๆ เช่น หากเป็นรั้วอิฐบล็อกหรือรั้วคอนกรีตสำเร็จรูปก็ให้ดูว่าก่อได้ระดับ ไม่เอียง ไม่เอาอิฐบล็อกที่แตกหรือเสียหายมาใช้ มีการฉาบเก็บงานที่เรียบร้อย ถ้าเป็นรั้วที่มีการยึดแผ่นรั้วไม้แนวตั้งเข้ากับโครงเคร่า ให้ตรวจดูว่าระยะยึดของแผ่นรั้วไม้นั้นมีระยะห่างเท่าๆกันและต้องได้ดิ่งและระดับ หากมีการทาสีผนังหรือทาสีแผ่นรั้วไม้ ก็ให้ดูว่ามีการเลือกใช้สีที่ถูกต้อง ซึ่งต้องเป็นสีทาภายนอกชนิดที่กันความชื้น และช่างมีฝีมือในการทาสีและการเก็บงานได้เรียบร้อยดี
6. ตรวจการติดตั้งรั้วเหล็กให้แข็งแรง
หากรั้วที่ออกแบบไว้มีงานเหล็กดัดหรือลูกศรเหล็กที่ติดด้านบนของรั้วเพื่อกันขโมย ที่มักใช้การยึดแผงลูกศรเหล็กนี้โดยการเจาะรูตรงแนวทับหลังหรือคานบนสุดของรั้วเป็นระยะแล้วเสียบเหล็กลงไปเพื่อยึดหรือใช้การฝังพุกลงไป ซึ่งอาจจะทำให้แผงลูกศรเหล็กไม่แข็งแรงนัก ในการแก้ไขอาจจะนัดให้ร้านทำเหล็กนำแผงลูกศรเหล็กมาก่อนเพื่อหล่อทับหลังเข้ากับแผงในขั้นตอนเทหล่อคานเลย หรือ ให้ช่างเผื่อเหล็กหนวดกุ้งโผล่ออกมาเป็นช่วงๆให้ช่างสามารถเชื่อมยึดแผงลูกศรเหล็กได้ง่ายขึ้นโดยที่ไม่ต้องเจาะหรือสกัดด้านบนของรั้วให้ยุ่งยากในภายหลัง
เช่นเดียวกันหากประตูรั้ว ต้องมีการติดตั้งเสาที่อาจจะต้องมีการฝากโครงสร้างกับเสารั้ว ก็ควรนัดให้ช่างทำประตูกับผู้รับเหมามาคุยกันก่อนที่จะทำการหล่อเสารั้ว จะได้มีการเตรียมทำโครงสร้างไว้รอ ไม่ต้องสกัดเสาภายหลัง
7. ตรวจความเรียบร้อยและการเก็บงาน
ถ้าตัวโครงสร้างรั้วบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีการเก็บงานสีเรียบร้อยแล้ว ให้ช่างปรับพื้นที่รอบๆรั้วให้สะอาด ถมดินเก็บงานให้เรียบร้อย ก็ให้ตรวจความถูกต้องว่าเป็นไปตามแบบก่อสร้างและรายการประกอบแบบที่วิศวกรได้ออกแบบไว้แต่แรก ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยครับ
8. การป้องกันและแก้ไขรั้วที่ล้มเอียง
ส่วนการแก้ไขรั้วที่เพิ่งเอียงให้ลองเริ่มจากการถมดินให้สองฝั่งเท่ากัน โดยตรวจระดับดินที่ดินเรากับที่ดินข้างเคียงว่ามีความสูงต่ำต่างกันเยอะหรือไม่ ถ้าระดับดินต่างกันมาก ดินฝั่งที่สูงกว่าจะดันให้รั้วเอียงไปในทิศทางตรงกันข้าม ถ้าระดับดินฝั่งเราต่ำกว่าให้ถมดินเพิ่มให้ระดับเท่ากัน แต่ถ้าระดับดินฝั่งเราสูงกว่าให้ปรับระดับดินบริเวณใกล้รั้วให้ลาดเอียงลงไปเท่ากับระดับดินของที่ดินข้างเคียง
แต่ถ้ารั้วนั้นเอียงมากและเริ่มที่จะล้ม กรณีที่ไม่ร้ายแรงมาก อาจจะใช้เครื่องมือไฮดรอลิกหรือเครื่องมืออื่นๆให้การดึงรั้วให้กลับมาตรงเหมือนเดิม แล้วจึงทำการเสริมโครงการรั้วเพิ่มเข้าไป แต่หากรั้วล้มมากเกินไป อาจจำเป็นต้องรื้อรั้วเดิมตั้งแต่ผนังรั้วไปจนถึงตัวฐานราก เพื่อทำฐานรากใหม่ตั้งแต่ต้น โดยเสริมเสาเข็มหรือทำฐานรากสเตย์ (ฐานรากอีกชุดที่เอาไว้ดึงรั้วไม่ให้ล้ม) อย่างไรก็ตามการแก้ไขรั้วเอียงนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรึกษาวิศวกรเพื่อแก้ไขปัญหานะครับ
รั้วบ้านที่ได้รับการออกแบบโดยวิศวกรและมีการเลือกฐานรากที่เหมาะสมกับสภาพของดินและระดับดินก็น่าจะช่วยให้รั้วไม่ล้มเอียงง่าย อย่างไรก็ตามการเสริมฐานรากและการเพิ่มเสาเข็ม ย่อมทำให้ราคาค่าทำรั้วแพงขึ้นไปด้วย ตรงนี้ก็อยู่ที่ท่านเจ้าของบ้านจะเลือกใช้รั้วแบบใดและใช้ฐานรากแบบใดให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีนะครับ แต่เชื่อเถอะ อย่างน้อยๆให้รั้วบ้านมันมั่นคงแข็งแรงไว้ดีกว่า ถ้าไปซ่อมทีหลัง อาจจะเสียเงินทำรั้วใหม่อีกรอบก็เป็นไปได้นะครับ
ส่วนใครที่อยากรู้แนวทางการตรวจบ้านก่อนรับโอนแบบสรุปมาให้ทุกส่วน เรามีเช็คลิสต์ตรวจบ้านก่อนรับโอนมาแนะนำด้วยเช่นกัน คุณสามารถติดตามได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้เลยครับ