ในปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเฉลี่ย 8ล้านคนต่อปี ในขณะที่มีผู้โดยสารที่ใช้บริการในปัจจุบันถึง 10 ล้านคนต่อปี ซึ่งเกินขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบิน ทำให้เกิดปัญหาความแออัด จึงกลายเป็นเหตุผลหลักในการสร้างสนามบินแห่งใหม่ เพื่อลดปัญหาดังกล่าว และเป็นการรองรับจำนวนผู้โดยสารตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น โดยคาดว่าสนามบินแห่งใหม่นี้จะมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้ได้ประมาณ 20 - 30 ล้านคนต่อปี
ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร หัวหน้าหน่วยวิจัยกลยุทธ์และตลาด ศูนย์วิจัยฯด้านการขนส่งทางอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เสนอรูปแบบการใช้ระบบท่าอากาศยานเขตเชียงใหม่ โดยให้ย้ายเที่ยวบินพาณิชย์ที่ให้บริการทั้งแบบประจำและไม่ประจำไปยังท่าอากาศยานแห่งใหม่ทั้งหมด และคงไว้เฉพาะเที่ยวบินด้านการทหารและเที่ยวบินทั่วไปที่ยังคงใช้ท่าอากาศยานแห่งเดิม เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อชุมชนเมือง และลดความซับซ้อนในการจัดการจราจรทางอากาศ พร้อมกับเสนอปรับรูปแบบการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานเดิมเป็นศูนย์การแสดงสินค้า ศูนย์ประชุมและโรงแรม เป็นต้น
สำหรับพื้นที่ก่อสร้างที่เหมาะสม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เห็นควรใช้พื้นที่รอยต่อ 2 จังหวัด คือระหว่าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน เนื่องจากอยู่ติดกับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และปัจจุบันยังมีถนนของกรมทางหลวงเชื่อมต่อการเดินทางอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องมีการขยายช่องจราจรเพิ่มขึ้นในอนาคต
ขณะนี้ ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) อยู่ระหว่างเร่งขยายสนามบินเชียงใหม่ ตามแผนพัฒนา ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2559-2568 เพื่อก่อสร้างปรับปรุงทางขับ, ขยายลานจอดอากาศยาน, สร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่, และขยายอาคารรองรับและหลุมจอด เป็นต้น เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 18 ล้านคนต่อปี จนถึงปี 2573 แต่ทั้งนี้การขยายสนามบินจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรรอบตัวเมืองเชียงใหม่ ดังนั้นตามแผนแม่บทของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้เสนอให้สร้างสนามบินรองใหม่ขึ้นมาแทน
ทั้งนี้อย่างไรก็ตาม หากบอร์ด ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) พิจารณาแล้วว่ามีศักยภาพในการลงทุนก่อสร้างสนามบินใหม่ ก็จำเป็นต้องปรับแผนการลงทุนและทำแผนใหม่เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา หลังจากนั้นจะเริ่มต้นทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการต่อไป
ที่มาและภาพประกอบ : http://oknation.nationtv.tv/blog/akom