Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

กทม.เร่งยิก"ทางเลียบเจ้าพระยา"สนองคสช. ช่วง"สะพานพระราม7-ปิ่นเกล้า"8.4พันล้านเคาะประมูลก.พ.60

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

กทม.เร่งยิกโปรเจ็กต์ทางเลียบเจ้าพระยาเฟสแรก 14 กม. จาก "สะพานพระราม 7-สะพานปิ่นเกล้า" เวอร์ชั่นล่าสุด ลดขนาดโครงการและค่าก่อสร้างเหลือ 8.4 พันล้าน แบ่ง 4 สัญญา ดีเดย์ ม.ค.-ก.พ. 60 กดปุ่มประมูล ตั้งเป้าตอกเข็ม มี.ค. เปิดใช้ปลายปี′61

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภายในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2560 กทม.จะเปิดประมูลอีออกชั่นโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะแรก 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ค่าก่อสร้าง 8,362 ล้านบาท แยกเป็น 4 สัญญา เฉลี่ยสัญญาละ 3.5 กม. จากนั้นภายในเดือน มี.ค.จะเริ่มงานก่อสร้าง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน มีกำหนดแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2561 หรืออย่างช้าต้นปี 2562

"ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ กทม.เร่งดำเนินการ เพื่อให้รวดเร็ว จะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ตอน จะเริ่มสร้างฝั่งธนบุรีเป็นลำดับแรก เพราะไม่ติดรื้อย้ายชุมชนเหมือนฝั่งพระนครที่ กทม.กำลังดำเนินการอยู่ ส่วนค่าก่อสร้าง กทม.จะนำมาจากงบประมาณรายปี ซึ่งปี 2560 ได้จัดสรรไว้แล้ว จะผูกพันถึงปี 2561"

รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดโครงการที่ปรับใหม่ จะก่อสร้างเป็นทางเลียบแม่น้ำความกว้างฝั่งละ 7-10 เมตร ลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 12-19 เมตร โดยองค์ประกอบของโครงการจะเป็นทางจักรยาน ถนนคนเดินจะเป็นรูปแบบสวนทางกันได้ พร้อมมีจุดแลนด์มาร์กเพื่อเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่บริเวณสะพานพระราม 7 อาคารรัฐสภาแห่งใหม่และท่าวาสุกรี

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานออกแบบ สำนักการโยธา กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า รายละเอียด 4 สัญญาที่จะเปิดประมูล ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 จากพระราม 7-คลองบางซื่อ วงเงิน 1,770 ล้านบาท ช่วงที่ 2 วงเงิน 2,470 ล้านบาท จากคลองบางซื่อ-สะพานปิ่นเกล้า ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7-คลองบางพลัด วงเงิน 2,061 ล้านบาท และช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด-คลองสามเสน วงเงิน 2,061 ล้านบาท

"ปี 2560 ได้งบประมาณแล้ว 1,098 ล้านบาท แยกเป็นเงินช่วยเหลือ 247 ล้านบาท สำหรับผู้ได้รับผลกระทบ 309 ครัวเรือน จำนวน 12 ชุมชน ส่วนที่เหลือเป็นค่าที่ปรึกษาและค่าก่อสร้าง ในเดือน ม.ค.นี้จะเสนอรายละเอียดโครงการให้กระทรวงมหาดไทยอนุมัติ จากนั้นถึงจะเปิดประมูลได้ ส่วนค่าก่อสร้างล่าสุดอยู่ที่กว่า 8 พันล้านบาท ลดลงหลังปรับรูปแบบก่อสร้างใหม่"

สำหรับผู้ที่ต้องออกจากพื้นที่ จำนวน 309 ครัวเรือน ใน 12 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ ชุมชนวัดสร้อยทอง ชุมชนวัดฉัตรแก้ว ชุมชนเขียวไข่กา ชุมชนองค์กรทอผ้า ชุมชนริมไทร ชุมชนราชผาทับทิม ชุมชนศาลเจ้าแม่ทับทิม ชุมชนมิตตคาม 2 ชุมชนมิตตคาม 1 ชุมชนสีคาม และชุมชนวัดเทวราชกุญชร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บริษัทที่ปรึกษารูปแบบก่อสร้างโครงการออกเป็น 12 แผนงาน ประกอบด้วย 1.พัฒนาพื้นที่ชุมชน จะฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรม รวมถึงสืบสานวิถีชีวิตของชุมชน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว 2.พัฒนาจุดหมายตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร, สวนเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 7, พิพิธภัณฑ์มรดกเจ้าพระยา, ศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์โรงเรือพระราชพิธี นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และเขตพระราชฐาน

3.พัฒนาท่าเรือ ให้เป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรทางน้ำที่ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย และปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรมให้มีความสอดคล้อง เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ 4.พัฒนาเส้นทางให้เข้าถึงพื้นที่ เช่น ปรับปรุงตรอกซอกซอย และเข้าถึงพื้นที่ริมแม่น้ำ

5.พัฒนาทางเดินริมแม่น้ำ เชื่อมต่อพื้นที่มรดกวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้ง 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน มีทางเดินเลียบแม่น้ำและทางเดินบนดิน เช่น จากสะพานพระราม 8 ถึงวัดบวรมงคล และบางอ้อ ถึงวัดวิมุตยาราม จะประกอบด้วย ทางเท้า ทางจักรยาน จุดชมทัศนียภาพ สะพานข้ามคลอง ฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนริมน้ำ

6.ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อนให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม ซ่อมแซมเขื่อนที่ชำรุด ก่อสร้างส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์ 7.พัฒนาศาลาริมน้ำ ให้เป็นจุดพักผ่อน ศาลาคอย 8.การพัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น ศูนย์บริการความช่วยเหลือ ข้อมูลท่องเที่ยว จุดบริการจักรยาน

9.พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน การออกแบบพัฒนาภูมิทัศน์ให้คำนึงถึงคุณค่าและเคารพต่อศาสนา 10.พื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ จะปรับปรุงภูมิทัศน์ริมฝั่งคลอง รวมถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมคลอง ด้านการสัญจรและการท่องเที่ยว 11.พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ โดยใช้พื้นที่ว่างและสาธารณะด้านหลังเขื่อนรองรับกิจกรรมนันทนาการ ลานกีฬา และสวนสาธารณะ รวมถึงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและเน่าเสียหลังเขื่อน

และ 12.สร้างสะพานคนเดิมข้ามใหม่ 2 จุด คือ จากชุมชนสะพานพิบูลฝั่งซ้าย ข้ามไปยังท่าเรือวัดฉัตรแก้วจงกลณี ฝั่งธนบุรี และจากห้างแม็คโคร สามเสน ข้ามไปยังท่าทราย ซอยจรัญสนิทวงศ์ 84 โดยแนวจะสร้างร่วมกับถนนเดิมที่มีอยู่ ให้เป็นรูปแบบสะพานที่คนสามารถเดินข้ามได้

มีพื้นที่พิเศษ 5 แห่ง ที่รัฐสภาใหม่ วังเทวะเวสม์ ท่าวาสุกรี วังศุโขทัย และธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะเป็นพื้นที่อ่อนไหว
 

ที่มา : prachachat

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร