มีใครรู้จักคำว่า TOD บ้าง? ปัจจุบันกรอบแนวคิดและนโยบายระดับประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาระบบรางระหว่างเมืองและระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองเป็นที่สนใจเพิ่มมากขึ้น และมีการดำเนินการศึกษาขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในหลายเมืองทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเมืองกับระบบราง คือ การวางแผนผังและออกแบบพัฒนากิจกรรมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบสถานีขนส่งมวลชนเพื่อส่งเสริมการเดินทางระหว่างพื้นที่ด้วยระบบขนส่งมวลชนเหล่านั้น หรือเรียกสั้นว่า TOD (Transit Oriented Development)
TOD เป็นกรอบแนวคิดพัฒนากิจกรรมและการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีความหลากหลายภายในรัศมี 500 เมตร โดยมีสถานีขนส่งมวลชนเป็นศูนย์กลาง ภายในรัศมีดังกล่าวจะมีการออกแบบและกำหนดสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ความสูง ความหนาแน่น ตลอดจนรูปแบบของอาคารให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกันอย่างเป็นภาพรวม อาทิ พื้นที่สาธารณะแบบเปิดโล่ง (Public Open Space) ย่านพื้นที่พาณิชย์ (Commercial) สำนักงานหรือแหล่งงาน (Office/Employment) ย่านที่อยู่อาศัย (Residential Area) และบริการพื้นฐานส่วนกลาง (Facility & Utility) เพื่อการพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของการรวมกิจกรรม (Place Destination) การวางแผนผังและออกแบบ TOD ในแต่ละที่ตั้งสถานีภายในเมืองจะมีกรอบแนวคิดการจัดประเภทการพัฒนา (TOD Typology) ที่แตกต่างกันอีกด้วยเช่นกัน
ภาพหลักการแนวคิด TOD
ที่มา: Calthorpe, P. (1993). The Next American Metropolis: Ecology, Community, and the American Dream. New York: Princeton Architectural Press.
ความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาเชิงพื้นที่ TOD กับการกระตุ้นเศรษฐกิจย่านที่ตั้งสถานีขนส่งมวลชน สามารถกล่าวได้ว่า หลักการคิด TOD คือการสร้างแหล่งพื้นที่เป้าหมายของกิจกรรม (Place Making & Destination) และการมีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่หลากหลาย เป็นไปเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน ดังนั้นให้กล่าวเข้าใจง่าย คือ TOD เป็นการสร้างตลาดโดยมีระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงชาวเมืองจากพื้นที่อื่น ๆ เข้ามาในพื้นที่ TOD ถ้าพื้นที่ TOD กลายเป็นแหล่งศูนย์รวมกิจกรรม พื้นที่แห่งนั้นย่อมเป็นพื้นที่สร้างโอกาสทางการค้าเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในย่านพื้นที่แห่งนั้นในหลากหลายมิติอีกด้วย
เมืองโคราชเป็นอีกเมืองหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมการศึกษา วางแผน และดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในเมือง โดยมีการกำหนดแนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนตลอดจนตำแหน่งที่ตั้งสถานีฯ ดังนั้นจึงมีแนวโน้มเกิดการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีฯ ให้กลายเป็น TOD ด้วยเช่นกัน จากประเด็นที่กล่าวมานับเป็นปัจจัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาเมืองโคราชและรูปแบบกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไป อย่างไรก็ดีการพัฒนาเชิงพื้นที่ TOD ที่จะสามารถส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับเมืองจำเป็นต้องมีกระบวนการวางแผนที่สามารถเชื่อมโยงกลุ่มผู้เกี่ยวข้องเข้ามาขับเคลื่อนหรือผลักดันร่วมกันจึงจะสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม
ภาพโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองโคราช (นครราชสีมา) และตำแหน่งที่ตั้งสถานีฯ
ที่มา: โครงการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา
ศึกษาโดยสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
บทความแนะนำ
ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ
ที่ปรึกษาศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง, อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการผังเมือง คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม, อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธาและการขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา
บรรณาธิการวารสารสภาพแวดล้อมสรรค์สร้างวินิจฉัย (Built Environment Inquiry - BEI)
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความวิชาการ,วิทยากรรับเชิญบรรยายด้านการพัฒนา การวางแผนและผังเมืองกับระเบียบวิธีวิจัยเพื่อการพัฒนาในหลายสถาบัน
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ในวิชาชีพด้วยการวิจัยในโครงการต่าง ๆ ร่วมกับสถาบันชั้นนำ อาทิ โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่นและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงสร้างมูลฐานอย่างยั่งยืน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (www.kts2016.com) ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเมือง ทุนโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และโครงการส่งเสริมสมรรถนะให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้โครงการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย และแผนป้องกัน/แก้ไขปัญหาชุมชนแออัด กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก : ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ในตำแหน่งหัวหน้าโครงการ ทุนโดยการเคหะแห่งชาติ (http://urp.kku.ac.th/nha_plge/index.html)
Contact Info
Email: [email protected]
Website: www.sarit.be-searched.net