หลังกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินการก่อสร้างโครงการขยายถนนราชพฤกษ์ ระยะที่ 2 (ตอนที่ 2) จากซอยจรัญสนิทวงศ์ 13-คลองมหาสวัสดิ์ ระยะทางประมาณ 7.500 กิโลเมตร เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรและลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานของถนนราชพฤกษ์ ยกระดับมาตรฐานทางรองรับความเจริญเติบโตและเพิ่มศักยภาพของถนนโครงข่ายในพื้นที่
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ถนนราชพฤกษ์ หรือทางหลวงชนบท สาย นบ.3021 เริ่มต้นจากแยกตากสิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ ผ่านถนนเพชรเกษม ถนนบรมราชชนนี ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เข้าสู่จังหวัดนนทบุรี ผ่านถนนนครอินทร์ ถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนชัยพฤกษ์ และสิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 345 รวมความยาวประมาณ 31 กิโลเมตร
ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2546 นั้น เดิมมีขนาด 6 ช่องจราจร ปัจจุบันมีปริมาณจราจรประมาณ 80,000 คันต่อวัน ส่งผลให้ถนนราชพฤกษ์เกิดปัญหาจราจรติดขัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั่วโมงเร่งด่วน ทช.จึงได้มีโครงการก่อสร้างขยายผิวจราจรเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของถนนราชพฤกษ์ ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางและอำนวยความสะดวกปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้เส้นทางเพิ่มมากขึ้น
โดยก่อสร้างทางคู่ขนานเพิ่มเติมฝั่งละ 2 ช่องจราจร รวมจากเดิมเป็น 10 ช่องจราจร พร้อมทางเท้าและระบบระบายน้ำ โดยได้ดำเนินการก่อสร้างช่วงคลองมหาสวัสดิ์-ถนนรัตนาธิเบศร์ (ระยะที่ 2 (ตอนที่ 1)) ระยะทางประมาณ 8.800 กิโลเมตร (กม.14+100-กม.22+900) แล้วเสร็จ และเปิดใช้งานแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558
ปัจจุบัน ทช.อยู่ระหว่างการก่อสร้างขยายถนนราชพฤกษ์ ระยะที่ 2 (ตอนที่ 2) ช่วงซอยจรัญสนิทวงศ์ 13-คลองมหาสวัสดิ์ ระยะทางประมาณ 7.500 กิโลเมตร (กม.6+600-กม.14.100) งบประมาณรวม 463 ล้านบาท ขณะนี้งานก่อสร้างมีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 82 เร็วกว่าแผนงานร้อยละ 6 โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2560
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2560 ทช.มีแผนจะดำเนินการขยายถนนราชพฤกษ์ระยะที่ 2 (ตอนที่ 3) ระยะทางประมาณ 8.350 กิโลเมตร (กม.22+900-กม.31.250) ช่วงถนนรัตนาธิเบศร์–ทางหลวงหมายเลข 345 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของถนนราชพฤกษ์ที่จะต้องขยายเพิ่มช่องจราจร โดยมีราคากลางค่าก่อสร้างประมาณ 1,098 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการประกวดราคา คาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2560 และมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2562 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน
ที่มา : prachachat