สังคมมนุษย์ในขั้นเริ่มต้น เป็นการเอาบ้านหลายหลังมาอยู่รวมกันเป็นชุมชน โดยบ้านแต่ละหลังจะมีอาณาบริเวณขนาดใหญ่ คนในบ้านสามารถดำรงชีวิตด้วยทรัพยากรที่อยู่ในขอบเขตที่ดินของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนา ไร่ สวน เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร เรียกได้ว่าแต่ละครัวเรือนจบในตัวเอง และเมื่อบ้านเรือนในสมัยก่อนมีขนาดใหญ่ พื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมจึงมีน้อย และมีเท่าที่จำเป็นเพียงไม่กี่ประเภทเท่านั้น เช่น ตลาด ศาสนสถาน สถาบันการปกครอง เป็นต้น
จากเหตุผลที่กล่าวมาทำให้ชุมชนมนุษย์ในยุคเริ่มต้นมีพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าพื้นที่ส่วนรวม เพราะกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตอยู่ที่บ้านตัวเอง นานทีถึงจะได้ออกมาปะทะสังสรรค์กับคนอื่นๆ ในชุมชน เช่น ช่วงเทศกาลหรือความจำเป็นบางอย่าง เมื่อชุมชนมนุษย์ขับเคลื่อนด้วยพื้นที่ส่วนตัวมาเป็นเวลายาวนาน การผลิตและการทำงานเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นที่บ้านตัวเอง แล้วค่อยเอาออกมาแลกเปลี่ยนกันในพื้นที่สาธารณะ
แม้แต่ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 วังของเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า รวมถึงบ้านข้าราชการระดับสูงและคหบดี ก็ยังมีลักษณะเป็นบ้านและที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ในแต่ละวันก็ทำงานอยู่ที่บ้าน เมื่อต้องการติดต่อธุระระหว่างกันก็จะให้ทนายเดินหนังสือไปถึงกันโดยเจ้าตัวไม่ต้องออกจากบ้านแต่อย่างใด
พื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น สวนทางกับพื้นที่ส่วนตัว
แม้ว่าชุมชนมนุษย์จะเริ่มต้นด้วยการมีพื้นที่ส่วนตัวในรั้วบ้านตัวเองมากกว่าส่วนรวม แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่มีพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น สวนทางกับพื้นที่ส่วนตัวที่ลดลงเรื่อยๆ ตลาดเล็กๆ เริ่มขยายเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมขนาดใหญ่ขึ้น สถานที่ทำงานแยกตัวออกมาจากที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังมีพื้นที่แบบใหม่เกิดขึ้นอีกมาก เช่น โรงมหรสพ สวนสาธารณะ สถานศึกษา และสถานรักษาพยาบาล ซึ่งล้วนแต่มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพต่อส่วนรวมมากกว่าอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง ขนาดของบ้านจึงเล็กลงอย่างต่อเนื่อง จากที่อยู่อาศัยแบบ Complex มีทั้งพื้นที่เกษตรกรรม การผลิตและที่อยู่อาศัยทั้งเจ้าของและลูกน้องอยู่ด้วยกันเป็นครัวเรือนขนาดใหญ่ ก็เริ่มตัดพื้นที่เกษตรกรรมออกไปเป็นลำดับแรก เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่แบบชุมชนเมือง จากนั้นพื้นที่การผลิตก็แยกตัวตามออกไป ส่วนที่อยู่อาศัยของแรงงานสนับสนุนต่างๆ ก็ลดลง จนกระทั่งเหลือแต่ที่อยู่อาศัยของเจ้าของเพียงอย่างเดียวในลักษณะบ้านเดี่ยว แล้วพัฒนาต่อเป็นการอยู่อาศัยแบบรวม เช่น แฟลต อพาร์ทเม้นต์ และคอนโดมิเนียม ที่เหลือเพียงห้องเพื่อการพักอาศัยรองรับกิจกรรมส่วนตัว แล้วผลักพื้นที่สำหรับกิจกรรมส่วนรวมที่เกี่ยวข้องกับการพักอาศัยมายังส่วนกลางของอาคาร และส่วนรวมที่เป็นสาธารณะไปอยู่กับการดูแลของรัฐบาล
ชุมชนมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โลกของเรากำลังปรับเปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าในเทคโนโลยีด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการก่อสร้าง การสื่อสารโทรคมนาคม การคมนาคมขนส่ง การแพทย์และการรักษาสุขภาพ ฯลฯ ผลกระทบที่มีต่อชุมชนมนุษย์ คือการขยายตัวของประชากรเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วควบคู่กับความไม่มั่นคงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้แนวทางการขยายตัวของชุมชนเมืองแบบเดิมที่เน้นการขยายตัวทางราบ เปลี่ยนพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมชานเมืองมาเป็นพื้นที่เมืองไม่ใช่คำตอบของชุมชนมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคตอีกต่อไป
เมื่อชุมชนมนุษย์ต้องรองรับประชากรมากขึ้นในพื้นที่เท่าเดิม จึงเน้นการปรับพื้นที่เมืองเดิมให้รองรับประชากรได้มากขึ้น และเน้นที่การเพิ่มพื้นที่ทางตั้งเป็นหลัก ซึ่งก็ทำให้พื้นที่หน่วยพักอาศัยที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวต้องลดขนาดลงไปอีก
ปัญหาขาดแคลนที่ดิน ทำให้ขนาดคอนโดเล็กลง
การขาดแคลนทรัพยากรที่ดินในชุมชนมนุษย์กลายเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองในยุคปัจจุบัน ขนาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครจึงลดลงเข้าใกล้ขั้นต่ำสุดตามกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ข้อ 19 ที่ระบุไว้ว่า “อาคารที่อยู่อาศัยรวมต้องมีพื้นที่ภายในแต่ละหน่วยที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 20 ตารางเมตร” แนวทางในการแก้ปัญหาจึงเน้นที่การตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวออกมาอยู่ในพื้นที่ส่วนรวมให้มากที่สุดที่จะเป็นไปได้ เราจึงได้พบเห็นพื้นที่เช่าเพื่อเก็บของที่ย้ายออกจากบ้านหรือคอนโดมิเนียมมาอยู่ข้างนอก ร้านซักและอบผ้าแบบอัตโนมัติ ที่นั่งกินข้าวขนาดเล็กในคอนโดมิเนียมย้ายออกมาอยู่กับร้านสะดวกซื้อซึ่งได้รับการออกแบบให้รองรับลูกค้าที่นั่งกินอาหารจานด่วนคนเดียวได้ ที่จอดรถในอาคารกลายเป็นระบบจอดรถอัตโนมัติที่ประหยัดพื้นที่ลงและใช้ร่วมกับอาคารข้างเคียงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน ร้านกาแฟที่เคยเป็นพื้นที่พบปะของคนในชุมชนพัฒนาเป็นที่ทำงานและที่ประชุม บางแห่งมีห้องประชุมให้เช่าเลยด้วยซ้ำ
แนวโน้มที่พื้นที่กิจกรรมส่วนตัวบางอย่างจำเป็นต้องออกมาอยู่นอกหน่วยพักอาศัย ส่งผลให้ศูนย์กลางชุมชนกลับมามีความสำคัญต่อวิถีชีวิตมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง เพราะกิจกรรมที่ถูกผลักออกมาในปัจจุบันเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นห้องเก็บของที่จะต้องไปหยิบและเก็บของได้ยามต้องการใช้งาน การซักและตากผ้าที่เคยอยู่หลังบ้าน พื้นที่ซื้อและทานอาหารที่เคยอยู่ในบ้าน ที่จอดรถที่จอดแล้วเข้าบ้านได้เลย เมื่อจำเป็นต้องระเห็จออกมาอยู่นอกบ้านก็ต้องอยู่ไม่ไกลนัก ให้คนยังสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก เอาง่ายๆ ว่าอยู่ในระยะเดินเท้าที่สามารถเข้าถึงได้ในระยะใกล้โดยไม่ต้องตากแดดตากฝน
ชุมชนมนุษย์จึงต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการจัดหาพื้นที่เพื่อรองรับกิจกรรมเหล่านี้ในพื้นที่ส่วนรวมให้มากขึ้น โครงการที่อยู่อาศัยแบบรวมจึงให้ความสำคัญกับพื้นที่เหล่านี้มากขึ้นและถือเป็นจุดขายของโครงการเลยก็ว่าได้ ถ้าท่านสนใจหาที่อยู่อาศัยที่สามารถเข้าถึงกิจกรรมเหล่านี้ได้อย่างสะดวก สามารถค้นหาได้ที่ www.baania.com
เขียนโดย : รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา
หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมล : [email protected]