กกร.จังหวัดเชียงใหม่ สานฝันพัฒนาสนามบินนานาชาติ ภาคเหนือแห่งที่ 2 บนเนื้อที่ 1 หมื่นไร่ เนื่องจากเห็นว่าสนามบินเชียงใหม่เริ่มมีความหนาแน่นของกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ แม้ว่าจะได้รับการพัฒนาขยายอาคารผู้โดยสาร และที่จอดรถ รวมทั้งรันเวย์แล้ว ส่วนแนวทางการพัฒนา ทชม.ยังดำเนินการต่อเนื่อง 3 ระยะ
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องเชียงแสนศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.) จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 6/2559 โดยมีเรื่องที่พิจารณาอาทิ โครงการปรับปรุงขยายสนามบินนานาชาติ จ.เชียงใหม่ การแก้ปัญหาที่จอดรถสนามบินนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ โครงการผลักดันสนามบินนานาชาติภาคเหนือ แห่งที่ 2 ความคืบหน้าระบบขนส่งมวลชน จ.เชียงใหม่ ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและความคืบหน้าการปรับปรุงกฎหมายผังเมืองรวมเชียงใหม่
นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานกกร.จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) จังหวัดเชียงใหม่เมื่อ 25 พ.ย. 2559 ได้เห็นชอบให้พัฒนาสนามบินนานาชาติภาคเหนือแห่งที่ 2 ตามที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท)ได้ศึกษาและกระทรวงคมนาคมเห็นชอบบริเวณบ้านธิ จังหวัดลำพูน คาบเกี่ยวตำบลแม่ออน อ.สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่เนื้อที่รวมประมาณ 1 หมื่นไร่ เนื่องจากสนามบินเชียงใหม่เริ่มวิกฤติ แม้จะได้รับงบสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่ม มีการขยายที่จอดรถอีก 2,000 คัน รวมทั้งรันเวย์ ซึ่งทางภาคเอกชนมองว่าแม้จะมีการปรับปรุงสนามบินเก่าแต่จะรองรับได้เพียง 12 ล้านคนในอีก 5 ปีข้างหน้าเท่านั้น หลังจากนั้นจะไม่มีพื้นที่รองรับได้อีกเนื่องจากขยายจนเต็มพื้นที่แล้ว ภาคเอกชน คณะกรรมการ่วม 3 สถาบันเอกชนจังหวัดเชียงใหม่(กกร.) จังหวัดจะสรุปพื้นที่เสนอกรอ.กลางและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบจึงขอให้ผู้แทนการท่าอากาศยานเชียงใหม่ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับปรุงขยายสนามบินฯ ปัจจุบัน การแก้ปัญหาที่จอดรถและโครงการผลักดันสนามบินนานาชาติภาคเหนือแห่งที่ 2 ด้วย
ทางด้านผู้แทนท่าอากาศยานจังหวัดเชียงใหม่ (ทชม.) ชี้แจงว่า จากแนวทางการพัฒนา ทชม. ของบริษัทที่ปรึกษาที่แบ่งระยะการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งจะมีเป้าหมายการพัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศในปี พ.ศ. 2568 – 2573 และ 2578 ตามลำดับนั้น เมื่อพิจารณากฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอนการขออนุมัติโครงการ และประเด็นที่เกี่ยวกับทางด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าโครงการพัฒนาระยะสั้น ถึง ระยะยาว ต้องรอผลการศึกษา EIA ซึ่งคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบภายในปี พ.ศ.2562 จากนั้น ทอท. จึงจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานในแผนพัฒนาระยะสั้นได้โดยแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2565
ตามแผนพัฒนาระยะสั้นมีแผนที่จะดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2563 โดยมีเป้าหมายที่รองรับปริมาณจราจรทางอากาศถึงปี พ.ศ.2568 ในขณะนั้น ทอท. จะต้องเริ่มดำเนินการแผนพัฒนา ทชม. ระยะกลางในปี พ.ศ. 2564 – 2568 เพื่อที่จะสามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งพบว่าการพัฒนาระยะสั้น และระยะกลางมีการดำเนินการที่ซ้อนทับกันในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2565
” การดำเนินการตามแผนพัฒนาระยะสั้น และ ระยะกลางนั้นมีช่วงเวลาคาบเกี่ยวทับซ้อนกัน อีกทั้งการดำเนินการตามแผนพัฒนาระยะสั้นนั้น การเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรทางอากาศตามเป้าหมายของแผนการพัฒนาระยะสั้นจะมีระยะเวลาการใช้งานเพียง 2 ปี ดังนั้น ทอท. จึงได้นำแผนแม่บท ทชม. ทั้ง 3 ระยะเดิมมาปรับปรุงให้เป็นการดำเนินการ 2 ช่วงโดยช่วงที่ 1 เป็นการรวมแผนพัฒนาระยะสั้นกับระยะกลาง (ปี พ.ศ. 2559-2568) และช่วงที่ 2 แผนพัฒนาระยะยาว (ปี พ.ศ. 2569-2573) ในการจัดทำเป็นแผนแม่บท ทชม. โดยแผนพัฒนาระยะสั้นกับระยะกลางมีเป้าหมายที่จะรองรับปริมาณจราจรทางอากาศในปี พ.ศ. 2573 เพื่อรองรับผู้โดยสารประมาณ 18 ล้านคน และแผนพัฒนาช่วงที่ 2 คือระยะยาวมีเป้าหมายที่จะรองรับปริมาณจราจรทางอากาศในปี พ.ศ.2578 เพื่อรองรับผู้โดยสารประมาณ 20 ล้านคน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ช่วงที่ 1 แผนพัฒนาระยะสั้นและระยะกลาง (ปี พ.ศ. 2559-2568) เป้าหมายรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี พ.ศ. 2573 ระบบทางวิ่ง และทางขับรองรับเที่ยวบินได้ 34 เที่ยวบิน ต่อชั่วโมง ลานจอดอากาศยาน 31 หลุมจอดรองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี ที่จอดรถยนต์ 6,300 คัน
ช่วงที่ 2 แผนพัฒนาระยะยาว (ปี พ.ศ. 2569-2573) เป้าหมายรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี พ.ศ. 2578 ระบบทางวิ่งและทางขับรองรับเที่ยวบินได้ 34 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ลานจอดอากาศยาน 38 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปีประกอบด้วย งานก่อสร้างหลุมจอดอากาศยาน 7 หลุมจอด ด้านทิศใต้ งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ รองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคนต่อปี งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสาร 12 ล้านคนต่อปี
ผู้แทน ทชม.ชี้แจงอีกว่า ในส่วนของการแก้ปัญหาเรื่องที่จอดรถนั้น จะมีการรื้อเสาที่อยู่ด้านหน้าเพื่อเพิ่มพื้นที่จอดรถในช่วงนี้ และหากผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านและสามารถดำเนินการได้ตามแผนพัฒนาระยะสั้น-กลางและระยะยาวแล้วจะมีการสร้างอาคารที่จอดรถซึ่งสามารถรองรับได้ถึง 6,000 คัน
ในส่วนของโครงการผลักดันการสร้างสนามบินภาคเหนือ แห่งที่ 2 นั้น ทางฝ่ายแผนและพัฒนา ทอท.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาความต้องการและศักยภาพในการรองรับ โครงการงานศึกษาและจัดทาแผนแม่บท ท่าอากาศยานภูมิภาคของ ทชม. จัดทำโดย บริษัทที่ปรึกษา D103 Consortium (ข้อมล ณ พ.ค.57) ในส่วนของการคาดการณ์ปริมาณจราจรทางอากาศนั้น สรุปให้เห็นถึงกระบวนการ สมมตฐาน และผลการคาดการ์ณ โดย ทอท.จะวิเคราะห์ และพิจารณาปรับผลการคาดการณ์ให้สอดคล้องใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สด
” จากการวิเคราะห์และสรุป ทอท.เห็นว่าพื้นที่ที่บ้านธิ จังหวัดลำพูน คาบเกี่ยวตำบลแม่ออน อ.สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่เนื้อที่รวมประมาณ 1 หมื่นไร่มีความเหมาะสมที่สุด แต่เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดิน ทางบอร์ดทอท.จึงได้อนุมัติให้ดำเนินการตามแผนพัฒนา ทชม.ใน 3 ระยะดังกล่าวไปก่อน ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 20 ปีข้างหน้า ” ผู้แทนทชม.กล่าวชี้แจง
ที่มา : chiangmainews