อนาคตที่ว่าเราจะทำงานเก็บเงินเยอะๆ เพื่อสักวันจะซื้อบ้านหลังใหญ่เป็นของตัวเองบ้านที่มีสนามหญ้าสระว่ายน้ำหรือเพื่อนบ้านรสนิยมดียังคงเป็นความฝันที่ขับเคลื่อนให้คนเมืองรุ่นใหม่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานอยู่วันยังค่ำโดยเฉพาะเทรนด์การมีบ้านชานเมืองที่เริ่มกลับมาได้รับความนิยมด้วยภาพลักษณ์ของการมีสภาพแวดล้อมที่ดีบวกกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสำหรับการอยู่อาศัยและการทำงานโครงการก่อสร้างบ้านจัดสรรชานเมืองใหม่ๆ จึงผุดขึ้นมาให้เห็นอยู่ทุกปี
ท่ามกลางกระบวนกลายเป็นเมือง (Urbanization) ที่ประชากรส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯและปริมณฑลอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองประเด็นเกี่ยวกับเมืองการใช้ชีวิตภายในเมืองและปัญหาของเมืองกลายเป็นเรื่องที่หลายคนในสังคมกำลังให้ความสนใจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนโยบายและแนวคิดเกี่ยวกับการฟื้นฟูเมืองถูกนำกลับมาพูดคุยกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นเช่นแนวคิดเมืองกระชับ (Compact City) แนวคิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และแนวคิดการสร้างความสมดุลระหว่างแหล่งงานและที่อยู่อาศัย (Job and Housing Balance) เป็นต้น
ด้วยกระแสการเติบโตของพื้นที่เมืองที่ดูเหมือนจะยังไม่สิ้นสุดในเร็ววันนั้นส่งผลให้การพัฒนาพื้นที่ชานเมืองดูเหมือนจะกลายเป็นจำเลยของคนในสังคมในฐานะตัวการที่ทำให้เกิดต้นทุนทางสังคมและความไม่เท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นการรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีจากการขยายพื้นเมืองอย่างไร้ขอบเขตการลงทุนโครงสร้างพื้นที่ฐานที่ไม่คุ้มค่าเพราะเพียงเพื่อเชื่อมโยงการเคลื่อนที่ระหว่างพื้นที่เมืองการก่อปัญหามลพิษทางอากาศและเสียงจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวฯลฯ
แม้ว่ากระแสของการฟื้นฟูเมืองทั่วโลกจะทำให้หลายๆเมืองหันกลับมาสนใจพื้นที่เมืองมากยิ่งขึ้นแต่เมืองเหล่านั้นกลับยังคงขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเมืองในอเมริกาที่พื้นที่กลางเมืองมีราคาสูงจนคนส่วนใหญ่ต้องย้ายออกไปหรือเลือกที่จะเริ่มต้นสร้างครอบครัวใหม่ในพื้นที่ชานเมือง
โจเอล คอทกิน นักเขียนและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์กล่าวว่า
“คนย้ายออกไปอยู่ชานเมืองเพราะต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้นโรงเรียนที่มีคุณภาพสวนสาธารณะที่ดีและมีเพื่อนบ้านที่แบ่งปันความสุขกันได้คนไม่ได้อยู่ชานเมืองเพราะชอบขับรถแต่คนรักที่จะอยู่อาศัยและมีคุณภาพชีวิตในแบบที่หาไม่ได้ในพื้นที่เมือง”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนยุคใหม่หรือ Gen Y ที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นและจะกลายเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคมโลกในปี 2025
จากรายงานเรื่อง The Suburb of the Future, Almost Here ของนิตยสารไทม์และ เดฟ ฮาร์ดี้ จาก Institute For New Suburbanism ชี้ให้เห็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มประชากรยุคใหม่ที่เริ่มเข้ามาเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ชานเมืองนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงความต้องการการอยู่อาศัยรูปแบบใหม่โดยในรายงานระบุว่าแม้คนกลุ่มใหม่นี้จะชอบพื้นที่กลางเมืองหลายคนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์กลางเมืองแต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็รักพื้นที่ชานเมืองด้วยเช่นกันโดยเฉพาะเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้แต่งงานและไม่ต้องการให้ลูกเติบโตเมืองที่มีแต่คอนโดมิเนียมหรืออาคารสูงแต่ต้องการพื้นที่ชานเมืองที่มีคุณภาพในแบบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในเมืองที่ไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่ในพื้นที่กลางเมืองอีกต่อไป
จากสถานการณ์ของพื้นที่ชานเมืองในข้างต้นแนวคิดใหม่ที่ชื่อว่า ‘The New Suburbanism’ ได้ปรากฏขึ้นในระบบสถาปัตยกรรมผังเมือง The Institute for New Suburbanism (NIS) ระบุว่าแนวคิด The New Suburbanism ไม่ใช่แนวคิดที่สนับสนุนให้เมืองขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง (Urban Sprawl) ไม่ได้ปฏิเสธแนวคิด The New Urbanism และไม่ใช่แนวคิดที่พยายามเปลี่ยนแปลงชุมชนเดิมหรือสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ในระบบการวางผัง
แต่ The New Suburbanism คือแนวคิดที่สนับสนุนให้เกิดการวางแผนและออกแบบเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและการอยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองบนหลักการที่ว่าคนรักที่จะอยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองและในยุคปัจจุบันพื้นที่ชานเมืองคือพื้นที่ที่สามารถวางแผนและออกแบบให้มีคุณภาพได้เช่นเดียวกับพื้นที่กลางเมืองนั่นเอง
นอกจากนี้การปฏิวัติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตไม่เพียงจะส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองเปลี่ยนแปลงแล้วยังส่งผลให้คนในพื้นที่ชานเมืองมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยอาทิการทำงานที่บ้านผ่านระบบอินเตอร์เน็ตทำให้ไม่ต้องเดินทางเพื่อเข้ามาทำงานในเมืองทุกวันในขณะที่ระบบขนส่งมวลชนครอบคลุมพื้นที่ปริมณฑลของกรุงเทพฯมากขึ้นรถยนต์ไฟฟ้าหรือพลังงานทางเลือกรวมถึงระบบรถยนต์ไร้ขับเข้ามามีบทบาทในการขนส่งมากขึ้นทำให้การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับการลดลงของมลพิษที่เกิดจากการเดินทางสิ่งสำคัญคือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเมืองถูกพัฒนาบนแนวคิดของการกระจายการจัดการ (Decentralization) มากขึ้น
พูดง่ายๆคือชุมชนชานเมืองยุคใหม่สามารถจัดการตัวเองได้มากขึ้นและพึ่งการบริการต่างๆ จากส่วนกลางลดลงทั้งในแง่ของการระบบสาธารณูปโภคและการเชื่อมโยงกับพื้นที่กลางเมือง
เช่นเดียวกับกรุงเทพฯและปริมณฑลที่แม้กระแสเรื่องเมืองจะกำลังเป็นที่สนใจของสังคมแต่การขยายตัวไปยังพื้นที่ชานเมืองยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอันจะเห็นได้จากการรายงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (ศขอ.) และศูนย์วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยพบว่าแม้ปี 2559จะมีโครงการที่อยู่อาศัยชานเมืองที่เปิดขายลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2558 แต่กลับมีจำนวนขายภาพรวมที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับการพัฒนาย่านธุรกิจย่านพาณิชยกรรมที่สร้างแหล่งงานและตอบสนองการใช้ชีวิตใหม่ในพื้นที่ชานเมืองก็ทยอยเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้สถานการณ์ของการเติบโตของกลุ่มคนยุคใหม่ก็ดำเนินไปตามแนวโน้มโลกคือกลุ่ม Gen Y กลายเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่และเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาดไทยผลการศึกษาของโครงการกรุงเทพฯ 250 ยังชี้ให้เห็นอีกว่าการใช้ชีวิตของคนในปี 2575 จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการบริโภคของ The Millennials กรุงเทพฯและปริมณฑลยังกำลังก้าวเข้าสู่การปฏิวัติการขนส่งใหม่ที่มีแนวโน้มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นด้วยโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐกว่า 10 สายและนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดจ์ที่จะทำคนลดการเดินทางระยะไกลในขณะที่สามารถเดินทางได้สะดวกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
จะว่าไปการออกแบบชุมชนชานเมืองก็เปรียบเสมือนการทำให้คนชานเมืองกลายเป็นคนเมืองนั่นแหละอนาคตเมื่อคนชานเมืองสามารถดำรงชีวิตในพื้นที่ตัวเองได้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางหลายชั่วโมงเพื่อเข้ามาใจกลางเมืองอีกต่อไปดังนั้นด้วยข้อได้เปรียบของชานเมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าและมีราคาที่ย่อมเยาว์กว่าทำให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังจะสร้างครอบครัวหรือกำลังจะลงทุนซื้อบ้านหลังแรกเริ่มหนีจากความวุ่นวายในกรุงเทพฯและหันมาสนใจการอยู่อาศัยในชานเมืองเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลจาก
ชุดบทความ: เมืองและการฟื้นฟูเมือง
โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง
เรื่อง แทนศร ภรปัญญาภัทร