การตรวจสอบไม้ก่อนนำมาใช้งานในงานโครงสร้างนั้น เป็นเรื่องที่ท่านเจ้าของบ้านควรเข้าไปตรวจตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างเลยนะครับ เนื่องจากโครงสร้างบางส่วนเมื่อมีการก่อสร้างแล้วเสร็จจะมองไม่เห็น ทำให้ตรวจสอบได้ยากมาก ซึ่งไม้ที่นำมาใช้ต้องมีการเลือกที่ละเอียดกว่าไม้ที่ใช้สำหรับตกแต่ง เพราะต้องใช้ในการรับน้ำหนัก Bannia.com จึงขอแนะนำแนวทางการตรวจสอบ"ไม้สำหรับโครงสร้าง"ให้แก่ทุกท่าน โดยสามารถทำตามขั้นตอนได้ง่ายๆ ดังต่อไปนี้
ไม้ที่นำมาใช้ในงานโครงสร้างต้องเป็น ไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้เต็ง, ไม้รัง, ไม้แดง, ไม้มะค่าโมง, หรือไม้มะเกลือ ซึ่งมีความทนทานสูง สามารถรับน้ำหนักได้มาก และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่สำหรับไม้ที่ใช้ตกแต่งหรือทำเครื่องเรือน สามารถใช้ไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้อแข็งปานกลางแทนได้ ได้แก่ ไม้ยูง, ไม้มะค่าแต้, ไม้ตะแบก, ไม้พลวง, ไม้ตะเคียนทอง, หรือไม้นนทรี
ตรวจดูสภาพภายนอกโดยรวมของไม้ด้วยการสังเกตดังนี้ ไม้ต้องมีขนาดเต็มตลอดแผ่น ไม่มีตาไม้หรือรูของตาไม้ ไม้ที่ผ่านการอบต้องแห้งสนิท หรือเหลือความชื้นประมาณ 12-15% โดยน้ำหนัก เพื่อไม่ให้ไม้บิดตัว หดตัว และแตกปริ ถ้าต้องการความแข็งแรงมาก ควรเลือกไม้จากร้านหรือโรงงานที่มีการรับรองคุณภาพ ซึ่งจะได้ไม้ที่คุณภาพดี ถ้าไม้มีการคดหรืองออาจเลือกใช้ในส่วนที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก เช่น ใช้ทำตรงพื้นไม้
ควรเลือกไม้ให้มีขนาดตรงตามแบบ เพราะมีผลต่อการคำนวณของผู้ออกแบบในเรื่องการรับน้ำหนัก หากไม่สามารถหาไม้ที่ตรงตามขนาดที่ต้องการได้ ควรแจ้งผู้ออกแบบเพื่อเปลี่ยนแปลงแบบก่อนการก่อสร้าง ถ้ามีการไสไม้ ต้องเป็นไปตามรายการประกอบแบบ อย่างไรก็ตาม ต้องทราบว่าหากจะเลือกซื้อไม้ ต้องเผื่อขนาดไว้ด้วย เช่น ไม้ขนาดหน้าตัด 2"x4" แต่ที่มีขายกันอาจจะมีขนาดใกล้เคียง เช่น 1 1/2 "x 3 1/2" ขึ้นอยู่กับความแห้งของไม้ การหดตัวของไม้ และวิธีการตัดไม้
ตรวจดูสภาพเนื้อไม้เพื่อคัดส่วนที่ใช้งานได้ ไม้ต้องไม่มีแมลงหรือเชื้อโรคในเนื้อไม้ ไม่มีกระพี้หรือเนื้อไม้ยุ่ย ไม่แตกตามเสี้ยนจนไม่สามารถตัดส่วนที่แตกทิ้งและนำมาใช้งานได้ นอกจากนี้ควรคัดคุณภาพของลายไม้ และสีสันต่างๆ ด้วย สำหรับไม้ที่มีสภาพไม่สวยแต่ยังมีความแข็งแรงก็สามารถใช้ในงานส่วนโครงสร้างที่ไม่ได้มองเห็นได้ ส่วนไม้ที่มีคุณภาพสวยงามอาจจะเลือกเก็บไว้ใช้ในส่วนโครงสร้างที่มองเห็น หรือใช้ทำเครื่องเรือนจะดีกว่า
นอกจากตรวจไม้ก่อนการก่อสร้างแล้ว หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จก็ต้องตรวจสอบอีกครั้ง โดยตรวจดูไม้บริเวณที่มีการเชื่อมหรือต่อไม้ เพื่อดูว่าไม้หลังจากตอกตะปูหรือขันน็อตมีความแข็งแรงดีหรือไม่ มีการวางโครงสร้างถูกตำแหน่งตามแบบ รวมไปถึงการตรวจสอบการเก็บงานของไม้ ได้แก่ การขัดเสี้ยน การไส การทาสี และการเคลือบไม้ เป็นต้น โดยไม้ที่มีโอกาสที่จะสัมผัสกับร่างกายต้องมีการไสแต่งไม้หรือขัดผิวไม่ให้มีเสี้ยนด้วย
เป็นยังไงกันบ้างครับ สำหรับแนวทางการตรวจสอบไม้สำหรับโครงสร้าง อย่างไรก็ตามอาจจะพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆในการเลือกใช้ไม้ประกอบด้วย เนื่องจากไม้จริงในปัจจุบันมีราคาแพง ไม้ในส่วนโครงสร้างจึงต้องมีการตรวจสอบและการคัดเลือกให้ดี เพื่อไม่ให้เสียไม้ไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่สำหรับงานตกแต่งอื่นๆ เราอยากเสนอทางเลือกให้ใช้ไม้เทียมหรือไม้ทดแทนมากกว่าครับ เพราะนอกจากจะไม่ได้ใช้รับน้ำหนักแล้ว ในแง่ของความสวยงาม ความคงทน และราคา ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจนะครับ ส่วนใครที่อยากรู้แนวทางการตรวจบ้านก่อนรับโอนแบบสรุปมาให้ทุกส่วน เรามีเช็คลิสต์ตรวจบ้านก่อนรับโอนมาแนะนำด้วยเช่นกัน คุณสามารถติดตามได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้เลยครับ