แม้ว่าตลาดรับสร้างบ้านเริ่มฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง แต่ก็ยังเป็นการฟื้นตัวที่ต้องคอยติดตามกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการปรับขึ้นของต้นทุนทั้งค่าแรงงาน และค่าวัสดุก่อสร้างจะเป็นตัวป่วนตลาดอีกระลอก
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ตลาดรับสร้างบ้านในช่วง 3 เดือนแรกเติบโตใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยคาดว่ามีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 3,800-3,900 ล้านบาท จากทั้งปีที่คาดว่าธุรกิจรับสร้างบ้าน (ที่ไม่ใช่ผู้รับเหมาทั่วไป)จะมีส่วนแบ่งตลาด 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวม(รวมผู้รับเหมาทั่วไปด้วย) ทั่วประเทศในปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 1.3-1.5 แสนล้านบาท
ในขณะที่ภาพรวมการแข่งขันพบว่ายังคงมีการแข่งขันกันรุนแรง ทั้งในแง่การสร้างความน่าเชื่อถือ และการทำลายความน่าเชื่อถือของคู่แข่งขันด้วยกันเอง รวมทั้งการแข่งขันตัดราคาของผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหม่ๆ ซึ่งสวนทางกับต้นทุนวัสดุและค่าแรงที่ทยอยปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ แม้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะยังไม่แสดงให้เห็นผลกระทบชัดเจนมากนักในช่วงครึ่งปีแรก แต่จะปรากฏผลในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อผู้ประกอบการเริ่มก่อสร้างและใกล้ส่งมอบงาน ซึ่งคงจะต้องเฝ้าจับตาและประเมินสถานการณ์ที่เป็นจริงอีกครั้งในครึ่งปีหลัง
ระวังต้นทุนบานปลายระเบิดเวลาลูกใหม่
ทั้งนี้ แม้ทิศทางตลาดรับสร้างบ้านจะปรับตัวดีขึ้นในระยะ 3-6 เดือนที่ผ่านมา แต่ผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้านก็ไม่ควรประมาท ต่อแนวโน้มต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา บรรดาผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง หลายรายต่างทยอยขอปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มผู้ผลิตวัสดุโครงสร้างและซีเมนต์ปรับราคาขึ้นเฉลี่ย 3-5% และกลุ่มวัสดุตกแต่งราคาปรับขึ้น 10-20% ฯลฯ ดังนั้นหากผู้ประกอบการรายใดมียอดขายหรือออเดอร์สะสมค้างอยู่จำนวนมาก อาจมีความเสี่ยงสูงหรือกลายเป็น “ทุกขลาภ” เมื่อต้องขายบ้านราคาเดิมแต่กลับเผชิญกับต้นทุนใหม่ ที่ราคาปรับตัวขึ้นนำหน้าไปก่อนแล้ว
จากการสุ่มสำรวจตัวอย่าง พบว่าผู้ประกอบการรับสร้างบ้านส่วนใหญ่ ยังคงยืนราคาขายเดิมหรือไม่มีการปรับราคาในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งบ่งบอกให้เห็นถึงปัญหาและความเสี่ยงการบริหารต้นทุนในอนาคต หากว่าผู้ประกอบการรายใดไม่มีอำนาจต่อรอง กับผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่แห่ปรับขึ้นราคากันทั่วหน้า นอกจากนี้ค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น อันมีผลมาจากปัญหาขาดแคลนแรงงานก็ยังเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังต้องเผชิญและแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย สถานการณ์ดังกล่าวจึงบีบให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาบ้านตามกัน
สมาคม ประเมินว่า ผู้ประกอบการคงไม่อาจหลีกเลี่ยงต้นทุนค่าก่อสร้างใหม่ได้ และจำเป็นต้องเร่งปรับตัวหรือหาทางออก เพื่อมิให้ได้รับผลกระทบมากนัก โดยเฉพาะการหาทางลดต้นทุนค่าบริหารจัดการและค่าการตลาดลง อาจนำเทคโนโลยีก่อสร้างและเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่มาใช้งานมากขึ้น ใช้การตลาดออนไลน์เพื่อจะสื่อสารและเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ฯลฯ ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ ช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดการแบบเดิมๆ ตลอดจนการขยายพื้นที่ตลาดหรือรับสร้างบ้านต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพและผู้บริโภคมีความต้องการใช้บริการผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน ก็ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยง ลดการแข่งขันในพื้นที่ตลาดที่มีการแข่งขันสูง
นายสิทธิพร กล่าวว่า ตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 2 มีทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยเฉพาะปัญหาต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าความต้องการสร้างบ้านและกำลังซื้อยังดีต่อเนื่อง หากแต่ผู้ประกอบการต้องเร่งพัฒนาและปรับตัวเอง เพื่อยกระดับและหนีมุมมองธุรกิจรับสร้างบ้านของผู้บริโภคที่มองว่า 1.การให้บริการมีขั้นตอนยุ่งยาก 2.การก่อสร้างบ้านใช้ระยะเวลานาน และ 3.บ้านที่สร้างไม่มีคุณภาพที่แน่นอน ประเด็นที่กล่าวมาผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่อยู่ในธุรกิจนี้ ควรหาทางและร่วมมือกันปฏิวัติวงการรับสร้างบ้าน ก่อนที่ผู้บริโภคจะหนีไปใช้ตัวเลือกอื่นแทน เช่น บ้านจัดสรร คอนโดฯ และผู้รับเหมา ฯลฯ
ขณะที่ทางสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านก็ได้ประเมินตลาดรับสร้างบ้านในไตรมาสแรกและทิศทางในไตรมาส 2 ไว้เช่นกัน โดยนางศิริพร สิงหรัญ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า จากแนวโน้มความต้องการปลูกสร้างบ้านของผู้บริโภคที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 1 ปี2561 มีการเติบโตในทุกด้าน ทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่าตลาด ที่ขยายตัวสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560
คาดสร้างบ้านจ่อปรับราคาอีก 3-5%
ขณะที่ ตลาดรับสร้างไตรมาส 2 จะยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัย จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีความเป็นรูปบธรรมชัดเจน และหากรัฐบาลมีการขับเคลื่อนการใช้งบประมาณกลางปี โครงการไทยนิยมที่มีการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มขึ้น ส่งให้ผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 2 ขยายตัวเกิน 4.2% ทำให้จีดีพีทั้งปีเติบโต 4.2-4.6% อีกทั้งกำลังซื้อผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ข่วงชาขึ้น ทำให้เชื่อว่า ผู้บริโภคจะมีความสนใจและความต้องการปลูกสร้างบ้านใหม่อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นราคารับสร้างบ้าน เนื่องมาจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างปรับขึ้น และมีผลต่อค่าเฉลี่ยราคาก่อสร้างปรับสูงขึ้นตาม ซึ่งจะช่วยเร่งให้ผู้บริโภคตัดสินปลูกสร้างบ้านเร็วขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน มีแนวโน้มพิจารณาปรับราคาก่อสร้างขึ้น คาดว่าจะเป็นช่วงกลางปีไปแล้ว เพราะผู้ประกอบการเองก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ จากองค์ประกอบหลายด้าน ทั้ง ต้นทุนราคาวัสดุ ค่าแรงของกลุ่มแรงงาน และกลุ่มแรงงานฝีมือ เพราะส่วนที่มีผลกระทบต่อการปรับราคามากสุด คือ กลุ่มแรงงาน ตามมาด้วยแรงงานฝีมือซึ่งต้องปรับตาม แม้ว่าปัจจุบันอัตราค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้วก็ตาม แต่แนวโน้มคาดว่าราคาจะปรับขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-5 %
อย่างไรก็ตาม สมาคมได้มีการประสานกับกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เพื่อให้คงราคาพิเศษสำหรับสมาชิก เพื่อให้สามารถตรึงต้นทุนค่าก่อสร้างไว้ได้ รวมถึงสถาบันการเงินพันธมิตรที่พิจารณาให้สินเชื่อ เป็นกรณีพิเศษด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประคองราคาไว้นานที่สุดเพื่อช่วยผู้บริโภค
Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania