Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ถนนที่เดินผ่าน อาคารที่มองเห็น “คนบนถนนและในอาคาร”

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ครอบครัวเรานับเป็นครอบครัวใหญ่ในยุคนี้ แต่น่าจะเป็นครอบครัวธรรมดา ในยุคเบบี้บูมเมอร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พี่สาวคนแรกและพี่ชายคนแรกเกิดระหว่างสงคราม ตอนที่พ่อแม่อพยพหนีระเบิดไปอยู่นอกเมืองที่ “บวกครก” พี่ชายคนรอง พี่สาวคนรอง น้องสาวและผมเกิดตามๆ กันหลังสงครามสงบ

ครอบครัวเรามีกิจการคล้ายห้างสรรพสินค้า ที่ไม่ได้หมายความว่าเป็นห้างใหญ่โตเช่นในปัจจุบัน หากเป็นร้านเล็กๆ แต่ขายสรรพสินค้านานาชนิด

ด้วยเหตุผลทั้งกิจการครอบครัวและค้าทำให้แม่มีภาระมากกว่าปกติ จึงจำเป็นต้องมีผู้ช่วยดูแลอาหาร เสื้อผ้าและบ้าน หรือที่จริงคือร้านค้า

เท่าที่ผมจำได้แม่มีผู้ช่วยมากมายหลายคน บางคนอยู่นานไม่ถึงปี บางคนอยู่นานเป็นปีสองปี บางคนอยู่นานตั้งแต่เด็กสาวจนเป็นนางสาว บางคนอยู่นานพอมีเงินเก็บ มีสร้อยทองคล้องมือหรือคล้องคอ บางคนอยู่นานเพื่อเรียนเสริมสวยหรือตัดเย็บเสื้อผ้า จนมีความสามารถพอออกไปเปิดกิจการได้ บางคนลาออกไปแต่งงานเพราะพบรักกับหนุ่มในตลาด บางคนแต่งงานแล้วก็กลับมาอยู่ใหม่ เพราะชีวิตคู่ไม่เป็นอย่างที่คิด

ถ้าลำดับคนเหล่านั้นเฉพาะที่อยู่นานและที่ผมจำได้คงต้องเริ่มจาก “อุ้ยคำ” ที่จริงแล้ว ผมคุ้นเคยกับคำว่า “อุ้ยคำ” ที่อยู่ในบทเพลงคำเมืองของจรัล มโนเพ็ชรมากกว่า แม่เคยเล่าให้ฟังว่าอุ้ยคำมาช่วยเลี้ยงพี่สาวคนโตและพี่ชายคนโตขณะที่แม่กำลังท้องพี่ชายคนรองและพี่สาวคนรอง แต่ที่ผมจำอุ้ยคำได้เพราะเป็นหนึ่งในบรรดาผู้อาวุโสที่แม่ต้องไปรดน้ำดำหัว แสดงความเคารพนับถือตอนสงกรานต์ทุกปี

ผมติดตามแม่ไปบ้านอุ้ยคำที่ตำบลช้างเผือกอยู่นานหลายปี จนอุ้ยคำจากไป น่าจะไปอย่างมีความสุขท่ามกลางลูกหลานหลายคน ซึ่งต่างไปจากอุ้ยคำในบทเพลง

อีกคนที่แม่ชอบเล่าให้ฟังคือ “ปั๋น” ที่มาจากอำเภอแม่ริม เธอมีวีรกรรมโดดเด่น เมื่อเธออุ้มผมไปเดินเล่นริมแม่น้ำปิง คงจะด้วยความขวยเขินเมื่อมีชายหนุ่มมาป้อล้อ เลยเผลอปล่อยผมตกน้ำ เธอจึงต้องกระโจนลงน้ำเพื่อช่วยชีวิตผม ผมเองจำปั๋นไม่ได้แต่คุ้นกับลูกสาวปั๋น ที่มาช่วยงานเหมือนที่แม่ของเธอเคยทำมาก่อน

คนต่อมาคือ “เบียบ” หรือ “ระเบียบ” จากบ้านมาอยู่กับแม่นานหลายปีตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ ด้วยความยากจน แม่เบียบจึงฝากลูกสาวให้แม่ใช้งาน โดยขอรับเงินค่าจ้างล่วงหน้าไปก่อน จากเด็กสาวระเบียบ กลายเป็นนางสาวระเบียบผู้ที่มีความขยันขันแข็ง จึงเป็นที่ถูกใจแม่ยิ่งนัก ยามที่เธอทำงานบ้านแล้วเสร็จ เธอก็ปลีกเวลาไปเรียนเสริมสวยจนจบหลักสูตร ทุกวันนี้เธอเป็นเจ้าของกิจการร้านเสริมสวยที่อำเภอเชียงดาว  

ผมจำได้ว่า “บัวผัด” มาอยู่กับแม่ต่อจากระเบียบ เธออยู่นานหลายปีเช่นกัน อยู่นานพอเก็บเงินซื้อจักรเย็บผ้าและเรียนตัดเย็บจบหลักสูตร ก่อนจะลาออกไปแต่งงาน และเปิดกิจการรับเย็บเสื้อผ้าที่บ้านเกิด คือ อำเภอฝาง เมื่อหลายปีก่อนเธอกลับมาเยี่ยมแม่พร้อมกับแนะนำลูกสาวชื่อบงกช ที่กำลังจะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ส่วน “แพรว” ผมจำได้แม่น เพราะตอนที่เธออยู่กับเรานั้นเธอพูดคำเมืองไม่ได้ แต่พูดไทยพอได้   เพราะเธอเรียนจบชั้นประถมปีที่สี่จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนด้านที่ติดกับพม่า เธอทำงานช่วยแม่หลายปี จนกลายเป็นเพื่อนดูละครโทรทัศน์หลังข่าวกับแม่ทุกวัน รวมทั้งคอยอ่านเรื่องย่อในหนังสือพิมพ์ให้แม่ฟัง ทุกวันนี้แพรวกับสามีทำไร่พืชผักผลไม้เมืองหนาวส่งขายกรุงเทพฯ ร่ำรวยจนมีรถปิคอัพใช้ถึง 2 คัน แพรวแวะมาเยี่ยมเยียนแม่เป็นประจำ พร้อมกับสตอเบอร์รี่ลูกโต แดงกร่ำและหวานฉ่ำจากไร่ของเธอ

มาถึง “จูหริง” ผู้ช่วยงานบ้านคนปัจจุบัน ตอนที่จูหริงมาใหม่ๆ ดูจะย่ำแย่กว่าแพรว เพราะเธออู้คำเมืองและพูดคำไทยไม่ได้เลย ด้วยเธอเป็นกะเหรี่ยงมาจากพม่า เธอยังต่างไปจากคนอื่นๆ ตรงที่เธออายุมากแล้ว มีครอบครัวแล้ว มีลูกแล้ว จึงไม่แปลกที่จูหริงจะเสียเงินมากมายกับการซื้อบัตรเติมเงินโทรศัพท์ วิธีเดียวที่ทำให้เธอกับครอบครัวใกล้ชิดกันทางเสียง แม่บ่นอยู่เสมอว่าจูหริงเหมือนเด็กไทยวัยรุ่น ที่วันๆ เอาแต่คุยโทรศัพท์   ผมเลยตั้งใจว่าจะซื้อสมอลทอล์ค เพื่อให้เธอทำงานไปและคุยไปได้พร้อมกัน  

เดิมทีผมเข้าใจว่าเธอโทรเพราะคิดถึงลูก แต่มารู้ความภายหลังว่านอกจากคุยกับครอบครัวในพม่าแล้ว   เธอยังคุยกับเพื่อนๆ ในไทยด้วย เพราะเธอมีกิจกรรมช่วยกันรวบรวมอาหารแห้ง เสื้อผ้า ยาและของใช้จำเป็น ให้อาสาสมัคร ซึ่งเป็นเพื่อนๆ ของเธอ เดินทางไปแจกจ่ายให้คนยากจนในพม่าเป็นประจำทุกเดือน

เมื่อเดือนที่ผ่านมาจูหริงขออนุญาตแม่ออกไปศูนย์การค้าตอนเย็นๆ เพื่อนัดเจอสามีที่เดิมเป็นทหารประจำการ ครั้นเมื่อรัฐบาลพม่าเจรจาตกลงหยุดยิงกับกองทัพฉาน สามีเธอเลยเข้ามาทำงานในเชียงใหม่ ผมเดาได้เลยว่าทันทีที่สถานการณ์บ้านเมืองในพม่าสงบ จูหริงกับสามีคงกลับไปดูแลลูกน้อยที่ทิ้งไว้กับตายาย   และอีกไม่นานแม่คงต้องมีผู้ช่วยคนใหม่ 

 

ผู้เขียน  :  ปริญญา  ตรีน้อยใส

นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต  จุลาสัย

เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996

เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร