เมื่อยังเยาว์วัย ผู้เขียนเป็นคนเมืองจึงอู้คำเมือง ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ยกเว้นในชั่วโมงเรียนและในชั้นเรียนที่แม้ครูจะเป็นคนเมือง แต่ก็ต้องพูดเขียนภาษาไทยตามหลักสูตร
เมื่อเติบใหญ่เป็นหนุ่ม เข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ โอกาสอู้คำเมืองก็หายไป ต้องพูดไทยทั้งที่หอพัก ที่มหาวิทยาลัยและที่อื่นๆ
แต่ทุกครั้งที่มีโอกาสเจอะเจอเพื่อนหรือคนรู้จักที่เป็นคนเมือง รวมทั้งช่วงเวลาปิดภาคการศึกษากลับไปบ้าน ผู้เขียนก็จะอู้คำเมืองเป็นที่สนุกสนาน ผู้เขียนจึงมีความสามารถพูดไทยและอู้คำเมืองได้พร้อมกันโดยไม่ต้องแปล ไม่ต้องคิด แบบว่าเป็นคนพูดได้สองภาษา (ฮา)
เมื่อยังเยาว์วัย ผู้เขียนเริ่มเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นประถม โรงเรียนที่เรียนก็เป็นโรงเรียนฝรั่ง แต่ก็ไม่ใช่โรงเรียนอินเตอร์เหมือนสมัยนี้
โรงเรียนผมก่อตั้งโดยหมอสอนศาสนาอเมริกัน และได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นภาษาอังกฤษว่า Prince Royal’s College จึงเป็นโรงเรียนฝาแฝดกับโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
แต่ก็แปลกที่การพูดอังกฤษไม่ก้าวหน้า แม้กระทั่งเติบใหญ่เป็นหนุ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือเมื่อไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา
ในช่วงเวลานั้นแม้จะแวดล้อมด้วยบรรยากาศแบบอเมริกา แต่ถ้าผู้เขียนเจอะเจอคนไทยก็จะพูดไทย หากเจอะเจอคนเมืองก็จะอู้คำเมือง
จนผู้เขียนนึกได้ว่าหากผู้เขียนสามารถอู้คำเมืองสลับพูดไทยได้คล่อง ก็น่าจะสลับ Speak Englishได้เช่นกัน
ผู้เขียนจึงพยายามลืมบทเรียนภาษาอังกฤษที่เคยท่องจำหรือแปลความ หากตั้งใจพูดไทย อู้คำเมือง และ Speak English ไปพร้อมกัน โดยไม่ผ่านขบวนจำหรือแปลเหมือนแต่ก่อน
ปรากฏว่าวิธีดังกล่าวดูจะได้ผล การ Speak English เริ่มคล่องขึ้น แต่แน่นอนโอกาสที่จะเผลอไผล พูดสลับภาษาอยู่เสมอ จากที่เคยพูดไทยแล้วมีคำเมืองโผล่ออกมาในเมืองไทย กลายมาเป็น Speak English แล้วมีคำไทยหรือคำเมืองปนอยู่
ยิ่งต่อมาผู้เขียนมีโอกาสไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศสเลยต้องหัด Parler Francais เพิ่มขึ้น แต่เมื่อใช้วิธีเดียวกันเลยส่งผลให้ Parler Francais ได้เร็วขึ้น แต่คราวนี้จึงกลายเป็นประโยคสหประชาชาติ มีทั้งคำเมือง คำไทย คำอังกฤษ คำฝรั่งเศสปนกัน แล้วแต่ว่าสมองจะนึกหรือจำได้ แบบว่าสร้างความงงงวยให้กับผู้ฟังเป็นประจำ
จากคนบ้านนอกที่พูดไทยไม่ชัดเพราะเป็นคนเมืองก็กลายเป็นคนพูดไทยปนอังกฤษแบบนักเรียนนอกทั่วไป รวมทั้งคนพูดอังกฤษปนฝรั่งเศสที่บังเอิญเขาถือว่าโก้ (ฮา)
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20