คนเชียงใหม่วันนี้คงไม่ค่อยตื่นเต้นกับงานฤดูหนาวที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ไม่เหมือนวันวานของผู้เขียน ที่เฝ้ารองานฤดูหนาวอย่างตั้งอกตั้งใจ เพราะเป็นโอกาสร่วมกิจกรรมที่แสนจะคึกคักและสนุกสนาน
ก่อนที่งานฤดูหนาวจะมีชื่อใหม่ว่า “งานฤดูหนาวและงานกาชาดจังหวัดเชียงใหม่” ที่จัดในบริเวณลานโล่งระหว่างศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่และสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปีนั้น งานฤดูหนาวเดิมจัดในบริเวณสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่อยู่ทางทิศเหนือของเมืองเก่าเยื้องกับประตูช้างเผือก โดยมีทางเข้าผ่านถนนสนามกีฬาจากถนนรอบคูเมืองทางด้านทิศเหนือ
ที่จริงพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่สำคัญของประวัติศาสตร์ ด้วยเคยเป็นแหล่งน้ำสำหรับคนเมืองมาแต่ครั้งก่อตั้งเมืองใหม่หรือเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในเจ็ดชัยภูมิที่พ่อขุนเม็งรายพิจารณาประกอบการเลือกที่ตั้งราชธานีใหม่ ครั้นต่อมาบ้านเมืองเจริญพื้นที่ชุมชนขยายออกมานอกเขตคูและกำแพงเมือง ประกอบกับเส้นทางน้ำแปรเปลี่ยนไป จึงเปลี่ยนสภาพเป็นเพียงที่ลุ่มต่ำมีน้ำขังในบางฤดูกาลเท่านั้น ด้วยความไร้เดียงสาของเทศบาลนครเชียงใหม่ในเวลานั้นจึงเลือกเป็นที่ทิ้งขยะ จนเมื่อปริมาณขยะทับถมกันจนได้ระดับ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นสนามกีฬาเทศบาลและลานจัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งงานฤดูหนาว
ด้วยความกว้างใหญ่ของพื้นที่และกิจกรรมมากมายในงาน งานฤดูหนาวจึงกลายเป็นดินแดนมหัศจรรย์สำหรับเด็กเล็กอย่างผม ที่ละลานตาไปกับแสงสีเสียงยามค่ำคืน โดยเฉพาะอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีให้เลือกหาอย่างจุใจ
ทุกวันนี้ผู้เขียนยังจำภาพของร้านขายไก่ย่างที่เปิดเรียงรายตลอดเส้นทางเข้างาน ยังจำกลิ่นหอมของเครื่องเทศจากไก่ที่ย่างกันสดๆ และยังจำรสชาติไก่และน้ำจิ้มรสหวานที่ถูกปากได้ จนฝังใจเชื่อว่าไก่ย่างงานฤดูหนาวเป็นไก่ย่างที่อร่อยที่สุดมาจนทุกวันนี้
ภายในบริเวณงานหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนจะสร้างอาคารชั่วคราวขนาดต่างๆ เพื่อแสดงผลงานหรือจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า ซึ่งเป็นอีกเหตุผลที่จะได้ติดตามผู้ใหญ่ไปช่วยถือข้าวของราคาถูก และมีโอกาสร่วมชิงโชครางวัลต่างๆ และยังมีพื้นที่สำหรับเยาวชนจัดกิจกรรมประกวดงานฝีมือและงานศิลปะระดับนักเรียน โดยแต่ละโรงเรียนจะคัดเลือกผลงานเข้าประกวดในประเภทและกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดลายเส้น ภาพวาดสีน้ำ สีน้ำมัน ภาพลายไทย งานแกะสลักไม้แบบตื้นและงานแกะสลักลอยตัว รวมทั้งงานฝีมืออีกมากมายหลายประเภท ส่งผลให้มีจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมมาก เช่นเดียวกับจำนวนรางวัลที่ทำให้นักเรียนหลายคนมีชื่อเสียงและผู้ปกครองภาคภูมิใจ
นอกจากนี้ทางด้านการเกษตรที่มุ่งหวังให้ความรู้วิชาการแก่เกษตรกรทั่วไป พร้อมกับประกวดผลผลิตประเภทกระเทียม หอม กล้วยไม้ ดอกกุหลาบ ฯลฯ สำหรับนักเรียนจะเป็นโอกาสพบปะระหว่างยุวกสิกรจากโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขันจัดสวน ประกวดต้นโกสน ไม้บอนไซ ฯลฯ
กิจกรรมงานศิลปกรรมและงานเกษตรกรรมจึงเป็นข้ออ้างสำหรับเด็กโตที่จะได้มีโอกาสไปร่วมงาน เพราะมีงานแสดงฟ้อนรำ ร้องเพลงบนเวที การแสดงต่างๆ ของนักเรียนหญิงชายจากหลายโรงเรียน แต่ไม่นับเวทีประกวดนางสาวเชียงใหม่และนางสาวถิ่นไทยงามซึ่งเป็นเรื่องของผู้ใหญ่โดยเฉพาะ
ความทรงจำและความประทับใจในงานฤดูหนาวแต่ละช่วงเวลาของผู้เขียนจึงแปรผันไปตามอายุและวัย เริ่มจากไก่ย่าง โรตีสายไหมในวัยเด็ก การแข่งขันศิลปกรรมและการเกษตรในวัยมัธยมต้น และนักเรียนสาวที่เป็นช่างฟ้อนในวัยมัธยมปลาย
เสียดายว่าความสัมพันธ์กับงานฤดูหนาวของผู้เขียนสิ้นสุดลงเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ งานฤดูหนาวจึงหายไปในความนึกคิด และเป็นเช่นเดียวกับคนเชียงใหม่ในปัจจุบันที่ไม่เคยคิดจะเที่ยวงานฤดูหนาว...
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20