Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ถนนที่เดินผ่าน อาคารที่มองเห็น "สะพานนครพิงค์"

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ทุกครั้งที่เห็นเด็กวัยรุ่นเล่นสเก็ตบอร์ด ฟังเพลงฮิปฮอปหรือเพลงแร็ปจะนึกย้อนไปสมัยที่ยังเป็นเด็กวัยรุ่นที่เล่นสเก็ตล้อยาง ฟังเพลงร็อคหรือเพลงดิสโก้ และรู้ว่าความเร็วกับท่วงท่าที่ท้าทายในการเล่นสเก็ต นอกจากเป็นความสนุกสนานแล้ว ยังเป็นโอกาสแสดงความเข้มแข็งและอวดปมเด่นว่าเก่งกล้ากว่าใครๆ

รูปแบบการเล่นสเก็ตล้อยางในอดีตก็คล้ายกับการเล่นสเก็ตน้ำแข็งในปัจจุบัน เพียงแต่ว่าอุปกรณ์ที่เป็น รองเท้านั้นต่างออกไป ส่วนเรื่องสถานที่นั้นไม่จำกัดแค่ลานน้ำแข็งในศูนย์การค้าเท่านั้น หากเป็นลานแข็งๆ และราบเรียบที่ไหนก็เล่นได้ ยิ่งมีพื้นที่กว้างหรือมีระดับลาดชันก็จะยิ่งเพิ่มความสนุกสนาน เพราะเปิดโอกาสให้แสดงท่วงท่าพิสดารได้มากขึ้น

จำได้ว่า “ขัวใหม่” ที่เป็นสะพานคอนกรีตโค้งสูงนั้น เป็นหนึ่งในสถานที่ยอดนิยมสำหรับเล่นสเก็ต ในเวลาเช้าตรู่หรือย่ำค่ำ ช่วงเวลาที่การจราจรเบาบาง พวกเราจะพากันเดินขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดของสะพาน แล้วปล่อยตัวเคลื่อนตัวลงตามความลาดเอียง หากมีผู้ร่วมเล่นหลายคนก็จะเปลี่ยนเป็นเกมการแข่งขันความเร็วที่สนุกสุดขีด

พวกเราเรียกขาน “สะพานนครพิงค์” ว่าขัวใหม่ เพราะสร้างขึ้นภายหลังขัวหรือสะพานอื่น ไม่ว่าจะเป็นขัวเหล็ก และขัวแตะ (ไม้ไผ่) อีกทั้งมีสภาพต่างออกไปตามวัสดุก่อสร้าง คือคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่ทำให้ช่วงกลางสะพานโค้งสูงตามระยะตอม่อคอนกรีตในน้ำ  

สภาพดังกล่าวแม้จะเหมาะกับการเล่นสเก็ต แต่ขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาสำหรับรถจักรยาน และรถจักรยานสามล้อ ด้วยผู้ขับขี่ต้องใช้พลังมหาศาลในตอนขึ้น และต้องระมัดระวังควบคุมความเร็วในตอนลง   เช่นเดียวกับผู้ที่เพิ่งหัดขับขี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์ที่มักจะมีปัญหาเครื่องดับและรถไถลลง ด้วยเหตุนี้ปริมาณพาหนะที่สัญจรผ่านสะพานจึงไม่มาก ยกเว้นช่วงเวลาเช้าและเย็น ก่อนหรือหลังเวลาเรียนของนักเรียนโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย และโรงเรียนดาราวิทยาลัย

จุดสูงสุดกลางสะพานยังกลายเป็นสถานทดสอบความกล้าของชายหนุ่ม ในการกระโดดจากสะพานลงกลางแม่น้ำ แต่สำหรับผมกับเพื่อนๆ ที่ยังเป็นเด็กชาย จึงกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ด้วยมีชายหนุ่มหลายคนถูกกระแสน้ำหลังตอม่อพัดวนหายไป

ทั้งๆ ที่สะพานนครพิงค์อยู่ไม่ห่างจากกาดหลวง (ตลาดวโรรส) และกาดเก๊าลำไย (ตลาดต้นลำไย) แต่ความลาดชันของสะพานทำให้ถนนตรงเชิงสะพานทั้งสองฝั่งต้องลาดเอียงตาม ซึ่งไม่เหมาะกับการดำเนินธุรกิจ ทั้งการจอดรถและการเข้าร้าน ส่งผลให้อาคารสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน  

นอกจากนี้เมื่อมีการสร้างขัวใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายสะพาน คนรุ่นปัจจุบันจึงไม่รู้ว่าสะพานนครพิงค์นั้น ครั้งหนึ่งเคยเรียกขานว่าขัวใหม่ ขณะเดียวกันสะพานคอนกรีตอื่นที่สร้างใหม่ก็ไม่โค้งสูงชัน เลยทำให้สะพานนครพิงค์ที่มีรูปแบบต่างออกไปกลายเป็นเอกลักษณ์จนทุกวันนี้

คงเหมือนกับสภาพบ้านเมืองเชียงใหม่ที่มีผู้กล่าวขานว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะ แม้สภาพที่เป็นอยู่และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาจากการวางแผนบางส่วน ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการวางแผน หากเป็นไปตามวิถีทางด้วยจงใจหรือบังเอิญ แต่ก็ส่งผลให้เชียงใหม่เป็นอดีตนครที่มีชีวิตชีวา ไม่ใช่อนุสรณ์สถานหรืออุทยานประวัติศาสตร์ที่ผ่านขบวนการอนุรักษ์อย่างจริงจัง แต่ก็เป็นสิ่งก่อสร้างที่อนุรักษ์ไว้ ไม่มีชีวิตและไม่เติบโตตามธรรมชาติ

 

ผู้เขียน  :  ปริญญา  ตรีน้อยใส

นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต  จุลาสัย

เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996

เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร