Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ถนนที่เดินผ่าน อาคารที่มองเห็น "จุลาสัย"

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เมื่อพ่อเปิดกิจการเป็นของตนเองจึงใช้แซ่เป็นชื่อร้านว่า แต่ฮกเซ้ง ซึ่งดูเหมือนว่าผมจะพบเห็นชื่อทำนองนี้ อย่างเช่น แต่ฮะเซ้ง, แต่ฮกล้ง, แต่เซี้ยงล้ง, แต่ฮกเลี้ยง และแต่อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่าคนจีนแต้จิ๋ว “แซ่แต่” อพยพมาอยู่เมือไทยมากจริงๆ ดังจะเห็นได้จากจำนวนคนไทยเชื้อสายจีนที่มีนามสกุลขึ้นด้วย เต, เตช, เตชะ, ตี หรือตรี

ทั้งๆ ที่จีนแต้จิ๋วนั้นเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนที่มีภูมิลำเนาติดทะเลจีนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณเหนือมณฑลกวางตุ้งใกล้เกาะฮ่องกงในปัจจุบัน ใต้มณฑลฟูเจี้ยน ที่บ้านเราเรียกขานว่า ฮกเกี้ยน จึงลงเรือมาเมืองไทยกันง่าย

พ่อผมเป็นเจ๊กแท้ เพราะเกิดที่เมืองจีน แล้วตามปู่มาค้าขายที่เชียงใหม่ แม่ผมก็เป็นเจ๊ก แต่เป็นลูกเจ๊กเกิดในเมืองไทย ก่อนแต่งงานใช้นามสกุลแซ่โต๋ว (เหมือนชื่อนักร้องหนุ่มที่เล่นเปียโนเก่ง) พอแต่งงานก็เปลี่ยนมาใช้แซ่แต่ตามพ่อ

เคยเล่าไปแล้วว่าร้านแต่ฮกเซ้งของพ่ออยู่ริมถนนช้างม่อย หน้าตลาดวโรรสที่พ่อเช่าที่เปิดกิจการค้า ดังนั้นเมื่อค้าขายพอสั่งสมเงินทองได้บ้างแล้ว พ่อก็วางแผนสร้างร้านค้าในที่ดินของตนเอง  

เมื่อพ่อซื้อที่ดินผืนเล็กๆ บนถนนข่วงเมรุได้ในราคาค่อนข้างแพงในเวลานั้น (พ.ศ.2499)   สำหรับที่ดินไม่ถึงสี่สิบตารางวา แต่พ่อพอใจเพราะอยู่ใกล้ทางแยกถนนช้างม่อยและอยู่ไม่ไกลจากร้านเดิม แต่เมื่อพ่อเป็นเจ๊กแท้หรือภาษาราชการคือคนต่างด้าว จึงไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดิน แม่จึงอาสารับทำหน้าที่นี้ด้วยความเต็มใจ แต่ก็ยังมีปัญหานามสกุลแม่ที่ยังเป็นแซ่ตามพ่อ พ่อเลยไปขอความช่วยเหลือจากปู่น่อยและย่าใส ญาติผู้ใหญ่ของพ่อ ซึ่งในเวลานั้นเป็นเจ้าของสกุลจุลาสัย (น้อย+ใส)

ด้วยเหตุนี้แม่ก็เลยเป็นผู้ครองทรัพย์สมบัติของพ่อ โดยไม่ต้องแย่งชิงกับใครเหมือนในนวนิยาย   ส่วนบรรดาลูกๆ ก็กลายเป็นคนไทยมากขึ้น เมื่อเปลี่ยนนามสกุลตามแม่ จากแซ่แต่ เป็น จุลาสัย กันถ้วนหน้า รวมทั้งเป็นที่มาของนามแฝงของผมที่นำชื่อเจ้าของมาใช้ที่ควรจะเป็น ตรีน่อยใส ที่จะทำให้งุนงงมากขึ้น (ฮา)

ทุกวันนี้ใครดูหน้าก็จะนึกสงสัย เพราะนามสกุลผมดูจะเป็นไทยมาก ไม่ยาวเยิ่นเย้อหกเจ็ดพยางค์เหมือนคนไทยเชื้อสายจีนคนอื่น อยากอธิบายเสริมตรงนี้ว่า นามสกุลนี้คงตั้งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่กำหนดจำนวนพยัญชนะ จึงใช้ ล แทนที่ ร หรือ ฬ และ ส แทน ษ หรือ ศ  

ทุกวันนี้ผมยังคิดอยู่เสมอว่า นายกฯ ท่านนี้ช่างมีวิสัยทัศน์เหลือเกิน ถ้าเรายังคงจำนวนพยัญชนะไว้เท่าเดิม แป้นคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์คงไม่วุ่นวายเหมือนทุกวันนี้ ภาษาไทยก็คงไม่เพี้ยนเป็น จุงเบย, ขั้นเมพ ฯลฯ

ดังนั้นถ้าจะเขียนนามสกุลผมเป็นภาษาไทยปัจจุบัน คงจะเป็น จุฬาศัย ที่จะทำให้ดูเป็นเชื้อสายผู้ดีเก่า ขัดกับใบหน้าไพร่ลูกเจ๊กอย่างผมมากขึ้น (ฮา)

 

ผู้เขียน  :  ปริญญา  ตรีน้อยใส

นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต  จุลาสัย

เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996

เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร