Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ถนนที่เดินผ่าน อาคารที่มองเห็น "นิมมานเหมินท์"

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เมื่อเร็วๆ นี้มีคนเล่าให้ฟังว่า ราคาซื้อขายล่าสุดที่ดินแปลงเล็กๆ บนถนนนิมมานเหมินท์ อยู่ที่ตารางวาละแสนสองหมื่นบาท หรือไร่ละสี่สิบแปดล้านบาท   ซึ่งนับว่าราคาสูงมากสำหรับเชียงใหม่ และใกล้เคียงกับราคาที่ดินในทำเลทองของกรุงเทพฯ ไม่รู้ว่าผู้ซื้อจะเอาที่ดินไปปลูกสร้างอะไร แต่เชื่อว่าคงผ่านการคิดคำนวณความเป็นไปได้ ถึงได้กล้าจ่ายเงินลงทุนซื้อที่ดินราคาแพงแบบนี้ได้ เลยทำให้ต้องย้อนคิดถึงถนนที่เคยเดินผ่าน

อย่างถนนนิมมานเหมินท์เคยเล่าไปแล้วว่า ในราวปี พ.ศ.2510 คหบดีชื่อดังของเชียงใหม่ ลงทุนตัดถนน แบ่งขายที่ดินตามแบบอย่างโครงการจัดสรรที่ดินในกรุงเทพฯ โดยนำที่ดินทั้งย่านสันติธรรมและห้วยแก้ว ซึ่งในอดีตเป็นป่าเสื่อมโทรมเชิงดอยสุเทพ และเคยจับจองไว้ก่อนหน้านั้นมาแบ่งขาย

สำหรับถนนห้วยแก้วนั้น โครงการแรกคือบริเวณถนนศิริมังคลาจารย์ในปัจจุบัน ดังนั้นบริเวณถนนนิมมานเหมินท์จึงเป็นโครงการต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้ถนนนิมมานเหมินท์กว้างกว่าถนนศิริมังคลาจารย์ และเป็นเหตุผลที่ซอยเล็กซอยน้อยทั้งสองโครงการเชื่อมต่อถึงกันหมด

อย่างไรก็ตามในยุคนั้นบ้านเมืองเชียงใหม่ยังไม่ค่อยเจริญ มีผู้คนและไม่วุ่นวายเช่นทุกวันนี้ การจัดสรรที่ดินก็เป็นเรื่องใหม่มาก ห้วยแก้วก็อยู่ไกลจากตลาดที่อยู่ริมแม่น้ำปิง ไกลจากสถานที่ราชการที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองเก่า การเดินทางในยุคที่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังมีไม่มาก ผู้คนต้องอาศัยรถจักรยานสองล้อและสามล้อเท่านั้น ห้วยแก้วจึงเป็นชานเมืองอันไกลโพ้น

แม้ว่าราคาขายอยู่แค่ตารางวาละสองร้อยบาท แต่นับว่าแพงมากในเวลานั้น ส่งผลให้โครงการที่ดินจัดสรรไม่ได้รับความนิยมมากนัก มีแต่ข้าราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือพ่อค้าคหบดีถึงจะมีกำลังซื้อ  

แม้ว่าแม่ไม่ได้เป็นนักธุรกิจชั้นนำ แต่พอจะมีวิสัยทัศน์จึงขวนขวายซื้อหาที่ดินไว้ถึงสองแปลง   แต่ละแปลงขนาดร้อยห้าสิบตารางวา แม่เคยเล่าว่าเมื่อมีปัญหาไม่สามารถจ่ายเงินได้ทันที ต้องอาศัยโปรโมชั่นพิเศษคือผ่อนนานหกเดือน ดอกเบี้ย 0%

ถ้าตอนนั้นแม่มีวิสัยทัศน์มากกว่านี้ ซื้อหาที่ดินไว้สักสิบยี่สิบแปลง ตอนนี้ผมคงรวยเละ เพราะราคาขึ้นจากตารางวาสองร้อยบาท เป็นแสนสองหมื่นบาท ภายในระยะเวลาห้าสิบปีเท่านั้น คงเป็นชะตาชีวิตของผมที่แม้จะมีชีวิตยาวนานมาถึงปัจจุบัน แต่ก็ไม่มีโอกาสเห็น เงินร้อยล้าน (ฮา) 

แต่ที่ทันเห็นอย่างชัดเจนคือ ถนนนิมมานเหมินท์ที่กลายเป็นย่านคึกคักยามราตรีของเชียงใหม่บรรดาข้าราชการและนายทหาร ศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ คหบดี ที่เข้าสู่วัยทองล้วนฟู่ฟ่า ร่ำรวยจากราคาที่ดินที่เปลี่ยนแปลง ส้มจึงหล่นทับบรรดาทายาทที่เปิดกิจการร้านสลัด ร้านไอศกรีมและอื่นๆ รวมทั้งที่ตกลงซื้อขายเปลี่ยนมือแล้วโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น

จะมีแต่ผู้อาวุโสที่ไร้ทายาทและมีอาการติดที่เท่านั้น ตั้งหน้าตั้งตาก่อสงครามกับบรรดาวัยรุ่น เจ้าของร้านค้าและลูกค้าที่ก่อเหตุส่งเสียงทั้งวันทั้งคืน หรือปัญหาจอดรถขวางทางเข้าออก ช่วยให้มีเรื่องมีราวแก้เหงาได้ทุกวัน (ฮา)

จะว่าไปแล้วบ้านเมืองคงเหมือนกับคนเรา มีการเปลี่ยนแปลงจากเด็กน้อยเติบใหญ่แก่ชรา มีทั้งช่วงเวลาคึกคักบ้าง เงียบเหงาบ้าง มีทั้งสนุกและเศร้าหมองคละเคล้ากันไป มีทั้งคนรักใคร่และคนเกลียดชัง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับวัน เวลาและคนๆ นั้น

 

ผู้เขียน  :  ปริญญา  ตรีน้อยใส

นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต  จุลาสัย

เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996

เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร