Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ถนนที่เดินผ่าน อาคารที่มองเห็น "บ้านล้านนา"

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เคยเล่าถึงที่ดินจัดสรรโครงการนิมมานเหมินท์ที่แม่ซื้อในราคาตารางวาละร้อยบาทเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว

เคยเล่าถึงย่านนิมมานฯ ทองหล่อเชียงใหม่ ที่ราคาซื้อขายสูงถึงตารางวาละแสนบาทในปัจจุบัน

ทุกครั้งที่ผมบ่นว่าทำไมแม่ซื้อไว้แค่สองแปลง รวมเนื้อที่แล้วยังไม่ถึงไร่ หากซื้อไว้มากกว่านี้ผมคงร่ำรวยมีเงินมีทองระดับเศรษฐีขี่เบนซ์โชว์ไปแล้ว แม่จะโต้กลับว่าเนื้อที่แค่นี้ก็ย่ำแย่แล้ว เพราะตอนนั้นพวกเราล้วนแต่ยังเรียนหนังสือและใช้เงิน มีแต่พี่สาวคนโตเท่านั้นที่ช่วยแม่หาเงิน 

แม่ยังเล่าอีกว่านอกจากต้องจ่ายเงินแบบผ่อนส่งเป็นรายเดือนแล้ว เดือนแรกๆ แม่จะไปจ่ายที่สำนักงาน   แต่เดือนหลังๆ พนักงานต้องตามมาเก็บถึงที่ร้าน (ฮา)

หลังจากซื้อแล้วแม่ก็ทำอะไรไม่ได้ ปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ เพราะนิมมานฯ ตอนนั้นไม่เหมือนตอนนี้ ไร้นักท่องเที่ยวจีน ไม่มีคนกรุงเทพฯ และนักศึกษา มีแค่ที่ว่าง เงียบเหงา ไร้ผู้คน 

เวลาผ่านไปจนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดรับนักศึกษา ย่านห้วยแก้วจึงเริ่มคึกคัก ผู้คนโยกย้ายเข้าอยู่มากขึ้น ผู้คนปลูกบ้านอยู่กันหนาตา ที่ดินย่านนิมมานฯ กลายเป็นชุมชนพักอาศัยชั้นดี คล้ายย่านสุขุมวิทที่กรุงเทพฯ เจ้าของบ้านเป็นข้าราชการผู้ใหญ่บ้าง อาจารย์มหาวิทยาลัยบ้าง พ่อค้าใหญ่จากตลาดบ้าง บ้านที่สร้างล้วนใหญ่โตทันสมัย ที่สำคัญเจ้าของบ้านต้องมีรถยนต์ เพราะนิมมานฯ ในเวลานั้นอยู่ไกลจากตลาดมา

พอพี่ชายผมที่เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์อยากออกเรือนแยกไปอยู่ลำพัง แม่จึงยกที่ดินที่ซื้อไว้ให้ปลูกบ้าน  

พอดีผมเริ่มเป็นอาจารย์คณะสถาปัตย์ อยากแสดงฝีมือ พี่ชายจึงให้ออกแบบบ้านด้วยงบประมาณที่จำกัด ความต้องการที่มากมาย ความอยากให้มีเอกลักษณ์ล้านนา ทำให้การออกแบบและก่อสร้างเหมือนโจทย์ในชั้นเรียน ทำให้แบบบ้านกลายเป็นแบบเรียนในเวลาต่อมา

แม้จะเป็นบ้านธรรมดา สองชั้น สองห้องนอน สามห้องน้ำ ห้องทำงาน รวมทั้งที่รับแขก ที่รับประทานอาหาร ครัว ที่พักแม่บ้าน และโรงรถ แต่บ้านมีรูปแบบแปลกต่างไปจากบ้านทั่วไป โดยเฉพาะบ้านจัดสรรที่กำลังเป็นที่นิยมในกรุงเทพฯ

เมื่อผมพยายามให้มีลักษณะคล้ายบ้านรุ่นเก่าในเชียงใหม่ เมื่อผมยังติดตาติดใจบ้านของสถาปนิกดาราในยุคนั้น คือแฟรงค์ ลอยด์ ไลท์ ผมจึงผสมผสานสองแบบเข้าไปในบ้านหลังเดียว (ฮา)

ในช่วงเวลาเดียวกันผมไปช่วยงานเทศบาลนครเชียงใหม่รณรงค์เรื่องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและชุมชนที่ผมก็ริเริ่มสอนวิชานี้ เอกลักษณ์ท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องใหม่ ไม่มีใครรู้และอธิบายได้ว่าเป็นแบบใด

เพื่อความสะดวกรวดเร็ว เวลายื่นแบบขออนุญาตปลูกสร้างผมจึงนำเสนอว่าเป็นแบบบ้านล้านนา   เวลาสอนหนังสือผมจึงนำเสนอว่าบ้านมีความเป็นท้องถิ่น ยิ่งผมนำไปเป็นกรณีศึกษาในตำราเรียนก็เลยเป็นบ้านล้านนาที่นิสิตนักศึกษารู้จัก (ฮา)

ครั้นเวลาผ่านไป (อีกแล้ว) นิมมานฯ กลายเป็นย่านคึกคัก นักท่องเที่ยวจีนเดินไปมา ฮิปสเตอร์กรุงเทพฯ นั่งเล่นนอนเล่น นักศึกษาแวะเวียนมาทั้งวันทั้งคืน จนบรรยากาศไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยด้วยประการทั้งปวง

เจ้าของบ้านมีปัญหารถจอดขวางทางเข้าออกบ้าง ขยันร้องเรียนเรื่องเสียงรบกวนยามดึกบ้าง ก่อศึกกับนักท่องเที่ยวจีนที่บุกรุกเข้าไปชมสวนในบ้านบ้าง ประกาศสงครามกับวัยรุ่นขี้เมาที่ชอบทำสกปรกริมรั้วบ้าง

แต่เจ้าของบ้านล้านนากลับเลือกวิธีตรงข้าม นอกจากไม่ต่อต้านแฃ้วหากยังโอนอ่อนโดยการรื้อรั้ว สร้างตึกแถวชั้นเดียวหลายคูหาให้เช่าเปิดเป็นร้านค้าและร้านอาหาร รวมโรงรถและห้องทำงานให้เช่าเปิดร้านกาแฟให้คนอื่นนั่งทำงานแทน (ฮา) มีคนสนใจเปลี่ยนสนามหญ้าเป็นสวนเบียร์ เปลี่ยนครัวและสวนหลังบ้านเป็นร้านอาหาร ปรับบ้านให้เป็นโชว์รูมขายสินค้าดีไซน์

ทุกวันนี้บ้านล้านนาจึงกลายร่างเป็นศูนย์การค้าเล็กๆ La Malletta บทเรียนเรื่องการออกแบบบ้านพักอาศัยจึงกลายเป็นบทเรียนเรื่องการออกแบบย่านการค้าด้วยประการฉะนี้แล

 

ผู้เขียน  :  ปริญญา  ตรีน้อยใส

นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต  จุลาสัย

เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996

เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร