ปู่ผมมาจากเมืองจีน อพยพมาทำมาหากินในเมืองไทยเหมือนตัวละครในนวนิยายหลายเรื่อง ดูเหมือนว่าตอนมาเมืองไทยปู่ทิ้งย่าและพ่อรวมทั้งอาอีกหลายคนไว้ที่เมืองจีน
มาถึงเมืองไทยปู่ก็มีย่าอีกคนตามประสาหนุ่มโสดพลัดถิ่น ย่าคนใหม่เป็นคนเมือง (เชียงใหม่) มีพื้นเพอยู่แถวบ้านฮ่อมที่อยู่ระหว่างวัดลอยเคราะห์กับวัดพันตอง ด้วยเหตุนี้ผมจึงมีอาเพิ่มมากขึ้นอีกหลายคน
พอพ่อโตเป็นหนุ่มจึงอาสาพาน้องๆ ลงเรือมาตามหาปู่ที่เชียงใหม่ เริ่มต้นก็อาศัยอยู่กับปู่และช่วยปู่ทำมาค้าขาย ครั้นแต่งงานกับแม่ก็เลยแยกมาเริ่มกิจการเป็นของตนเอง เช่นเดียวกับอาอีกสองคนที่มาจากเมืองจีนด้วยกัน เริ่มต้นก็ช่วยพ่อดูแลกิจการ ต่อมาเมื่อแต่งงานกับสาวแม่วางก็เลยแยกไปเปิดกิจการค้าที่แม่วาง และตั้งถิ่นฐานที่แม่วางจนถึงทุกวันนี้
เวลากรอกประวัตินักเรียนตรงช่องอาชีพของพ่อผมจะกรอกว่าพ่อค้า ส่วนอาชีพของแม่ก็เป็นแม่บ้าน แต่ที่ไม่ได้กรอกไม่ได้บอกคือแม่ก็เป็นแม่ค้าด้วย ทั้งสองคนช่วยกันดูแลกิจการชื่อ “แต่ฮกเซ้ง” ที่เป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าในปัจจุบัน เพราะจำหน่ายสินค้าทุกประเภทตั้งแต่มุ้ง ยาสีฟัน จอบ ดินประสิว กรรไกร ทองคำเปลว ไปจนถึงสีย้อมผ้า
โดยพ่อจะลงไป (สังเกตคำว่าลง เพราะอยู่เชียงใหม่ ต้องลงใต้ไป) กรุงเทพฯ เป็นประจำเพื่อสั่งซื้อสินค้านานาชนิด แล้วก็ขนขึ้นมาหรือส่งตามมาทางรถไฟ ซึ่งต่างไปจากกิจการค้าร่มและสินค้าพื้นถิ่นของอา ที่จะรวบรวมสินค้าส่งไปขายกรุงเทพฯ แต่การขนส่งก็จะใช้ทางรถไฟเช่นกัน ดังนั้นอาจพูดได้ว่ากิจการค้าของพ่อ อาและพ่อค้าคนอื่นในเชียงใหม่เกิดขึ้นหลังจากการก่อสร้างทางรถไฟกรุงเทพฯ มาถึงเชียงใหม่ในปี 2464
ดังนั้นการคมนาคมทางรถไฟจึงมีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ เพราะการขนส่งทางบกผ่านทางรถไฟไปกรุงเทพฯ ที่เข้ามาแทนที่การขนส่งทางน้ำผ่านแม่น้ำปิงไปยังเมาะละแหม่ง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเชียงใหม่กับสยามประเทศแน่นแฟ้นกันมากขึ้น ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางการค้าและทางการเมืองกับพม่าค่อยๆ ลดลง จนทำให้มหาอำนาจอังกฤษหมดโอกาสผนวกดินแดนล้านนาเป็นเมืองขึ้นต่างจากพม่าและอินเดีย
ผมจึงหมดโอกาสถือพาสปอร์ตอังกฤษเหมือนคนในอาณานิคมอื่นๆ (ฮา) จึงไม่แปลกที่ย่านการค้าดั้งเดิมของเชียงใหม่ คือถนนท่าแพ ที่เชื่อมต่อระหว่างประตูท่าแพกับแม่น้ำปิง โดยกิจการค้าส่วนใหญ่จะเป็นของชาวพม่า เงี้ยว ม่านและไตใหญ่ หรือคนเชื้อสายพม่าที่ค้าขายร่ำรวย สามารถสร้างวัดอุปคุตและวัดบุปผาราม บนถนนท่าแพและวัดอื่นๆ อีกมากมายในเชียงใหม่
เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไป พ่อค้าจีนแทนที่พ่อค้าพม่า มีการขยายถนนช้างม่อยจากประตูช้างม่อยจนถึงแม่น้ำปิงที่คู่ขนานกับถนนท่าแพ รวมทั้งตัดถนนวิชยานนท์และถนนข่วงเมรุ เชื่อมถนนท่าแพกับถนนช้างม่อย ย่านการค้าใหม่จึงเกิดขึ้นตรงตลาดวโรรส ที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีฯ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ท่านย้ายกลับมาพำนักเชียงใหม่ได้อาศัยแบบอย่างการพัฒนาเมืองจากกรุงเทพฯ ลงทุนสร้างตึกแถวล้อมรอบตลาดในบริเวณข่วงเมรุ ริมแม่น้ำปิง ที่เดิมเป็นพื้นที่จัดงานเมรุของบรรดาเจ้าเมือง
ร้านแต่ฮกเซ้งจึงตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนช้างม่อยและถนนวิชยานนท์ เป็นตึกแถวทันสมัยที่สุดในขณะนั้น เพราะสูงถึงสามชั้น สมกับเป็นห้างสรรพสินค้า และเหมาะกับครอบครัวใหญ่ของเราที่อยู่รวมกันเกือบสิบคน
อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแค่สองชั้น ส่วนชั้นบนยังเป็นไม้ ดังนั้นเมื่อคราวเกิดมหาอัคคีภัย ในปี พ.ศ.2509 ไฟจึงลุกลามผ่านชั้นสามของตึกแถวทั้งตลาดได้อย่างรวดเร็ว และค่อยๆ เผาไหม้ส่วนที่เหลือ ร้านแต่ฮกเซ้งของเราจึงสูญสิ้นไปในกองไฟพร้อมกับเรื่องราวในอดีตผม
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20