ฉบับที่แล้วเล่าขานที่มาของชื่อถนนช้างม่อยไปแล้ว คงรู้แล้วว่าชื่อถนนที่นอกจากเป็นคำพื้นถิ่นแล้ว ยังมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวพันกับบ้านเมือง เหมือนอย่างข่วงเมรุที่เล่าขานไปแล้วเช่นกัน ยังมีข่วงหลวง (อยู่บริเวณเรือนจำเชียงใหม่) ที่เป็นลานกว้างกลางเมืองเก่า เคยเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญของบ้านเมืองเหมือนกับข่วงสิงห์ที่อยู่นอกเมืองเก่าทางตอนเหนือ
นอกจากถนนช้างม่อยยังมีถนนช้างคลาน (บริเวณไนท์บาซาร์ในปัจจุบัน) แม้ว่าชื่อจะสื่อถึงอาการต่อเนื่องกัน แต่ตามสภาพถนนช้างคลานไม่ได้ต่อตรงกับถนนช้างม่อย เพราะมีถนนวิชยานนท์แทรกอยู่ ถนนวิชยานนท์เป็นชื่อยศเจ้านายฝ่ายเหนือเหมือนกับถนนแก้วนวรัฐ, ถนนราชภาคินัย, ถนนอินทวโรรส, ถนนสิทธิวงศ์ เป็นต้น
สำหรับประตูเมืองเริ่มจากประตูท่าแพ (ไปยังท่าเรือริมแม่น้ำปิง) ยังมีประตูที่อยู่ใกล้เคียงกัน ด้านเดียวกัน คือ ประตูช้างม่อย (ประตูเฉพาะขนศพเจ้านายออกไปประกอบพิธี ณ ข่วงเมรุ ริมแม่น้ำปิง) ส่วนประตูเชียงใหม่เป็นประตูเมืองทางด้านทิศใต้ ในขณะที่ประตูช้างเผือกเป็นประตูเมืองทางทิศเหนือ และประตูสวนดอกอยู่ทางทิศตะวันตก ถ้าเป็นศพชาวบ้านก็ต้องออกที่ประตูหายยาไปประกอบพิธีที่สุสานหายยาที่อยู่นอกเมืองทางทิศใต้
ในอดีตเมืองเก่าเชียงใหม่มีคูน้ำกว้างสำหรับป้องกันข้าศึก ทุกวันนี้คูเมืองยังอยู่ครบทั้งสี่ด้าน ส่วนกำแพงเมืองนั้นหายไป กลายเป็นทางสำหรับรถยนต์วิ่งไปมา ถนนที่คู่ขนานไปกับคูเมืองจะมีชื่อเรียกขานแยกเป็นตอนๆ ได้แก่ ถนนชัยภูมิ, ถนนอารักษ์, ถนนบำรุงบุรี, ถนนมูลเมือง และถนนมณีนพรัตน์
ทางเดินไปวัดของชาวบ้านในอดีต พอถึงปัจจุบันกลายเป็นถนนสายสำคัญ อย่างเช่น ถนน (วัด)ศรีดอนไชย, ถนน (วัด) ลอยเคราะห์, ถนน (วัด) สันป่าข่อย, ถนน (วัด) เชตุพน, ถนน (หน้า) วัดเกตุ เป็นต้น
เมื่อทางรถไฟจากกรุงเทพฯ มาถึงเชียงใหม่ ตัวสถานีนอกจากอยู่คนละฝั่งแม่น้ำแล้ว ยังอยู่ห่างออกไปไกล จึงมีการตัดถนนเจริญเมืองผ่านสะพานนวรัฐมาเชื่อมต่อกับถนนท่าแพ ทางรถไฟทำให้เชียงใหม่ก็เจริญก้าวหน้า จึงมีการปรับทางสายเดิมให้กว้างขวางรองรับการขยายตัวของเมือง ได้แก่ ถนนเจริญประเทศ ถนนเจริญราษฎร์ และถนนบำรุงราษฎร์ มีการนำชื่อถนนในกรุงเทพฯ มาเรียกขาน (จะได้ดูทันสมัย) ได้แก่ ถนนราชวิถี, ถนนราชดำเนิน, ถนนราชมรรคา, ถนนราชวงศ์ เป็นต้น
ยังมีชื่อถนนที่สื่อถึงที่ตั้ง อย่างเช่น ถนน (ข้าง) ทุ่ง (ริม) โฮเต็ล, ถนนนายพล (อยู่ในเขตทหาร)
ถนน (ทางขึ้นดอย) สุเทพ, ถนน (ข้างอนุสรณ์สถาน) ช้างเผือก, ถนน (หน้า) วังสิงห์คำ, ถนน (ข้าง) กำแพงดิน, ถนน (ข้าง) สนามกีฬา, ถนน (ข้าง) เรือนจำ เป็นต้น
หรืออาศัยชื่อชาวบ้านผู้มีอันจะกิน (มากมาย) ที่เป็นผู้สร้างหรือยกที่ทางให้สาธารณะ อย่างเช่น ถนนอนุสารสุนทร (ต้นสกุลนิมมานเหมินทร์), ถนนโอสถาพันธ์ (เจ๊กโอ๊ว), ถนน (ร้าน) ธานินทร์ (บริษัทมีชื่อเสียงในด้านวิทยุ โทรทัศน์ ผลิตโดยคนไทย), ถนนศิริมังคลาจารย์และถนนนิมมานเหมินทร์ (ที่กำลังคึกคักในปัจจุบัน)
นอกจากนี้ก็มีชื่อถนนที่มาจากการเรียกขานกันเอง ได้แก่ ถนนเชียงใหม่-ลำพูน (ทางหลวงเดิม) ถนนซูเปอร์ไฮเวย์, ถนนวงแหวนรอบนอก, ถนน (ริมคัน) คลองชลประทาน
หรือถนนที่สร้างขึ้นในวโรกาสและโอกาสพิเศษ ได้แก่ ถนนพระปกเกล้า (เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเชียงใหม่), ถนนสมโภชเชียงใหม่ (ที่มีอายุครบ700 ปี) และถนน (เฉลิมฉลองกรุง) รัตนโกสินทร์ (ครบ 200 ปี)
คงเป็นเพราะชีวิตในแต่ละวันดูจะวุ่นวาย เลยทำให้ไม่ทันสังเกตหรือไม่สนใจถนนที่เดินผ่าน อันส่งผลให้ความผูกพันกับบ้านเมืองลดน้อยถอยลง กลายเป็นเพียงสถานที่อยู่อาศัย ไม่ได้เป็นบ้านเกิดเมืองนอนที่บรรพบุรุษของเรารักและหวงแหนยิ่งนัก
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20